สพฐ. จัดประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ระดับประเทศ ต่อยอดสู่เวทีระดับนานาชาติ ในงาน Internation Exhibition for Young Inventors World Contest (IEYI – 2023)

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ระดับประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กลุ่มโครงการพิเศษ ได้จัดการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่เป็นกิจกรรมเพื่อบ่มเพาะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ และมีนวัตกรรมทางความคิดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ มีเวทีและโอกาสในการจัดแสดงและนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ในระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยมีผลงานที่ส่งมาพิจารณาคัดเลือก รวมทั้งสิ้น 273 ผลงาน คณะกรรมการได้พิจารณากลั่นกรองผลงานผ่านเข้าสู่รอบการประกวดผลงานระดับประเทศ จำนวน 41 ผลงาน เพื่อคัดเลือกและตัดสินผลงานสิ่งประดิษฐ์ไปร่วมประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ในงาน Internation Exhibitional for Young Inventors World Contest (IEYI – 2023) ทางระบบออนไลน์ (Virtual Contest)  ณ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในต้นเดือนกันยายน 2566 การจัดงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ จำนวน 170 คน ประกอบด้วยนักเรียน 82 คน ครูที่ปรึกษา 41 คน และคณะกรรมการ คณะทำงาน 42 คน โดยมีผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ที่เข้าร่วมประกวดรวม 41 ผลงาน ใน 8 ประเภท ดังนี้

  1. เทคโนโลยีที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน  7  ผลงาน
  2. อาหารและเกษตรกรรม จำนวน  10  ผลงาน
  3. ความปลอดภัยและสุขภาพ จำนวน  8  ผลงาน
  4. เทคโนโลยีสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ   จำนวน  4  ผลงาน
  5. การจัดการกับภัยพิบัติ จำนวน  4  ผลงาน
  6. การศึกษาและนันทนาการ จำนวน  5  ผลงาน
  7. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ จำนวน  1  ผลงาน
  8. ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ จำนวน   2  ผลงาน

ในการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ระดับประเทศในครั้งนี้ สพฐ. ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลายสถาบัน เป็นคณะกรรมการในการตัดสิน วิทยากร ครูที่เป็นแบบอย่างในการพัฒนานักเรียนจนได้สร้างผลงานสิ่งประดิษฐ์คว้ารางวัลจากหลายเวทีในระดับนานาชาติ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการนำนวัตกรรมไปใช้พัฒนาธุรกิจ มาเสวนาในหัวข้อ “เทคนิควิธีการก้าวสู่ความสำเร็จ” ให้กับครูและนักเรียน และวิทยากรจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาร่วมจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “STEAM4INNOVATOR” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนไทยสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ต่อไป

นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าว “การนำความคิด ริเริ่ม สร้างสรรค์ จัดทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นนั้น อาจเป็นนวัตกรรมใหม่ หรือเป็นการดัดแปลง หรือพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มีใช้งานอยู่แล้ว ให้เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ นับว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนให้เป็น “นักประดิษฐ์” ซึ่งจะเป็นทรัพยากรสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน จึงขอชื่นชมในความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่ให้มีเวที ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงถึงศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าคิด กล้าแสดงออกถึงความสามารถในการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการประดิษฐ์ เกิดการเรียนรู้ที่จะก้าวไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต”

Message us