ข่าวสารเผยแพร่

อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการการเรียนรู้ด้านการบินของมนุษย์ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่มนุษย์คนแรกสังเกตเห็นและตั้งคำถามเกี่ยวกับการบินของสิ่งมีชีวิตอื่นเช่น นก หรือแมลงตัวเล็กๆ ที่สามารถบินได้ เมื่อมนุษย์เงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าแล้วตั้งคำถามว่ามีอะไรอยู่บนนั้นบ้าง จินตนาการของมนุษย์ได้เริ่มต้นสร้างสรรค์ถึงสิ่งที่สามารถล่องลอยหรือสิงสถิตย์อยู่บนท้องฟ้า เทพเจ้าหรือแม้แต่สัตว์ในเทพนิยายผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย ต่างมีความสามารถในการไปได้ในอากาศ มนุษย์เริ่มสร้างสมความเชื่อที่ว่า มนุษย์เองก็สามารถล่องลอยบนฟ้าหรือทำการบินได้เช่นเดียวกัน จินตนาการและความเชื่อนั่นเองเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแสวงหาวิธีการในการบินของมนุษย์ ในตำนานของกรีกโบราณได้เล่าขานถึง แดดาลัสและอิคารัส (Daedalus and Icarus) สองพ่อลูกผู้สร้างปีกจากขนนกและขี้ผึ้ง ทั้งสองได้รับการบันทึกในเรื่องเล่าปรัมปราว่าเป็นมนุษย์คู่แรกที่ทำการบินด้วยปีกของตัวเอง แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นเพียงตำนานแต่ก็ได้พิสูจน์ถึงความเชื่อและสามารถกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับชนรุ่นหลัง ในเวลาต่อมา อาริสโตเติล (Aristotle, 384 B.C.) นักปรัชญาชาวกรีกได้ตั้งคำถามว่า อากาศคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง มนุษย์เราสามารถบินหรือเดินทางไปในสิ่งที่เราเรียกกันว่าอากาศได้หรือไม่ เขาพยายามคิดค้นหาคำตอบด้วยตนเองจนได้ข้อสรุปว่า อากาศนั้นมีมวล มีน้ำหนักและถือว่าเป็นของไหล  แนวคิดของอาริสโตเติลส่งผลให้นักปรัชญา นักฟิสิกส์ ในยุคต่อมา เช่น กาลิเลโอ  ปาสคาล และโรเจอร์ เบคอน ได้ทำการค้นคว้าทดสอบและให้คำจำกัดความของอากาศว่า เป็นก๊าซ สามารถอัดตัวได้ และความกดดันของอากาศจะลดลงเมื่อระยะสูงเพิ่มขึ้น และด้วยกฎของ อาร์คีเมดีส ในเรื่องมวล น้ำหนัก และการแทนที่ เลโอนาร์โด ดา วินซี่ (Leonardo da Vinci, 1452-1519) อัจฉริยะบุคคลหลายสาขาชาวอิตาลี่ ได้ทำการศึกษาศาสตร์ด้านการบินอย่างจริงจัง เขาสังเกตการณ์ทำงานของปีกนกตลอดจนประมวลความรู้ด้านอากาศพลศาสตร์จากนักคิดในอดีต จนในที่สุดเขาได้ออกแบบปีก ข้อต่อ แขนกลต่างๆ เลียนแบบกระดูกและกล้ามเนื้อของนก  ให้ชื่อว่า “ออร์นิฮอปเตอร์” (Ornihopters) ซึ่งถือเป็นอากาศยานต้นแบบที่หนักกว่าอากาศแบบแรกที่ใช้กำลังของกล้ามเนื้อจากแขนของมนุษย์ไปขยับปีกให้กระพือเพื่อทำให้เกิดแรงพยุงหรือแรงลอยตัว นอกจากนั้น ดาวินซี่ ยังได้แผนแบบเฮลิคอปเตอร์และร่มกระโดดรุ่นบุกเบิกเอาไว้โดยมีการเขียนรูปไว้เป็นหลักฐาน  ซึ่งแม้จะดูรูปร่างประหลาด แต่หากพิจารณาว่าในสมัยนั้นยังไม่มีวิทยาการใดๆ เข้ามาช่วยในการแผนแบบก็ต้องนับว่าน่าทึ่งในความคิด และความอุตสาหพยายาม ตลอดจนความกล้าหาญไม่น้อยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ดาวินซี่ได้สรุปไว้ว่ามนุษย์สามารถขึ้นทำการบินได้ ด้วยการอาศัยกลไกซึ่งสามารถทดแทนกล้ามเนื้อและแรงพยุงตัวในอากาศ แม้เทคโนโลยีและวัสดุศาสตร์ในยุคของเขาไม่สามารถรองรับความต้องการของศาสตร์ดังกล่าวได้  แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์มีวิทยาการด้านกลไกและวัสดุศาสตร์เพียงพอแล้ว การขึ้นบินของมนุษย์เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ซึ่งเราก็ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสมมติฐานของดาวินซี่นั้นเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ค.ศ.1783 พี่น้องตระกูล มองโกฟิแยร์ ประสบความสำเร็จในการสร้างบอลลูนอากาศร้อนขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกคน 2 คนให้ลอยไปในอากาศได้ ต่อมาได้นำเครื่องยนต์ขนาดเล็กติดตั้งบนบอลลูนเพื่อให้สามารถบังคับทิศทางได้บ้างถึงกระนั้นการพัฒนาอากาศยานที่หนักกว่าอากาศยังคงต้องรอกันอีกเป็นปีๆ ในระหว่างปี ค.ศ.1773 ถึง 1857 เซอร์ จอร์จ เคย์เลย์ แห่งอังกฤษ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของอากาศพลศาสตร์สมัยใหม่ในยุคนั้นได้พยายามเผยแพร่ทฤษฎีเบื้องต้นเกี่ยวกับแรงของอากาศที่มากระทำต่อปีกโดยที่ปีกไม่ต้องเคลื่อนไหวหรือขยับขึ้นลงเหมือนอย่างนก เขาเล็งเห็นถึงความสำคัญของมุมที่ปีกกระทำกับทิศทางของกระแสลมหรือทิศทางการเคลื่อนที่ ซึ่งเรียกว่า มุมปะทะ ตลอดจนการทำให้มีส่วนโค้งมนที่ผิวปีกด้านบน ซึ่งมีผลในการเพิ่มแรงลอยตัวให้กับปีกดีกว่าปีกแบบแผ่นเรียบๆ คล้ายแผ่นกระดาษมาก เขาได้สร้างเครื่องร่อนต้นแบบที่มีปีก ลำตัวและหาง ซึ่งก็ได้ผลอยู่ในระดับหนึ่ง โดยที่เสถียรภาพและการบังคับควบคุมยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก  คงเป็นเพียงแค่การยกปีกทั้งสองข้างให้สูงขึ้นคล้ายการทรงตัวขณะลอยตัวของนก และสรุปว่ามีผลทำให้เสถียรภาพในการบินดีขึ้นเท่านั้น ในปี ค.ศ.1853 มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือว่าเขาได้สร้างอากาศยานประเภทหนักกว่าอากาศปราศจากเครื่องยนต์ หรืออีกนัยหนึ่งเครื่องร่อน และได้ทำการบินทดสอบโดยปล่อยลงมาจากที่สูงได้เป็นผลสำเร็จ    

                            การทำความเข้าใจถึงส่วนประกอบ และการทำงานของอากาศยานแต่ละประเภทนั้น จำเป็นต้องทำความรู้จักชนิดและคุณลักษณะของการแผนแบบอากาศยานเบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจถึงคุณลักษณะการตอบสนองต่อความต้องการใช้งานของอากาศยานแต่ละประเภทด้วย ในเบื้องต้นนี้การทำความเข้าใจส่วนประกอบของอากาศยานประเภทเครื่องบินจะสามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงส่วนประกอบพื้นฐานของอากาศยานซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยและง่ายต่อความเข้าใจเสียก่อน หลังจากนั้นจึงค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเองเพื่อให้ทราบถึงส่วนประกอบอากาศยานอื่นๆ ที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไป  

                         คำถามสำคัญคำถามแรกก่อนการตั้งคำถามว่า “การบินคืออะไร” คือการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีความอ่อนด้อยด้านกายภาพแทบทุกด้าน มนุษย์มีกล้ามเนื้อที่ด้อยประสิทธิภาพกว่าสัตว์นักล่าเกือบทุกชนิด ไม่มีอาวุธเขี้ยวเล็บตามธรรมชาติ   มีประสาทสัมผัสที่เทียบอะไรไม่ได้เลยกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  แต่ด้วยความอ่อนด้อยนั้นกลับทรงพลังด้านปัญญาและความคิด และที่สำคัญที่สุดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวในโลกที่มี “จินตนาการ” พลังขับเคลื่อนที่ผลักดันให้มนุษย์คิดค้นและสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ  ไม่ใช่เป็นเพียงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชดเชยจุดด้อยทางกายภาพให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในธรรมชาติเท่านั้น แต่เป็นกลไกทางปัญญาซึ่งผลักดันให้มนุษย์ต่อสู้อุปสรรคที่ขัดขวางเจตจำนงบางประการของตน เพื่อให้ได้รับคำตอบในทุกๆ คำถามที่มนุษย์สงสัย                          เป็นอีกตัวอย่างที่พิสูจน์พลังในเชิงปัญญา และจินตนาการของมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่า โดยไม่ต้องทำการบิน โดยไม่ต้องมีมิติของการไปได้ในอากาศ มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติตามธรรมชาติของสัตว์บกทั่วๆ ไป แต่คำถามท้าท้ายว่าการบินคืออะไร ทำไมมนุษย์ต้องทำการบิน ทำไมมนุษย์ต้องดิ้นรนฝืนธรรมชาติด้านกายภาพของตน เพื่อทำในสิ่งที่ธรรมชาติไม่ได้สรรสร้างออกแบบไว้ให้ ฝ่าฝันอันตรายในสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยสัมผัส เสี่ยงชีวิตและสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากเพื่อการล่องลอยในอากาศเพียงชั่วครู่เท่านั้นหรือ     คำตอบของคำถามเดียวกัน ของคนแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป เหตุผลที่ทำไมคนแต่ละคนปรารถนาจะขึ้นทำการบินนั้น อาจแตกต่างกันออกไป แต่ภายใต้ข้อจำกัดของแรงโน้มถ่วง และแรงอากาศพลศาสตร์ของโลกใบนี้ ทำให้การศึกษาด้านการบินในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่กระทำได้ การอธิบายถึงปรากฏการณ์การลอยตัวของวัตถุใดๆ     ภายใต้สภาวะของบรรยากาศโลกได้รับการเฝ้าสังเกต ศึกษา พิสูจน์ ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์จนสามารถสรุปเป็นทฤษฎีที่แน่นอน สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ด้านการบินของมนุษย์นั้นได้รับการสั่งสมมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เป็นการส่งต่อภูมิปัญญารุ่นต่อรุ่น เป็นองค์ความรู้ที่ต้องแลกด้วยเวลา ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งชีวิต   มนุษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าได้ร่วมกันแสวงหาหนทาง ที่จะได้ล่องลอยในอากาศ ผ่านการเรียนรู้ด้วยเครื่องมืออันจำกัดที่มีในยุคของตน ซึ่งบางครั้งมีเพียงจินตนาการและหัวใจอันกล้าหาญ    เพื่อการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ในการทะลวงผ่านกำแพงที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ชาติคือ “การเอาชนะความกลัวของตัวเอง”      

Dowload paper สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทุกเขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทุกเขต เอกสารประกาศ

ดาวน์โหลด หนังสือราชการ เรียน ผอ.สพท. แจ้งคณะผู้ส่งผลงาน (โรงเรียน) กำหนดการ รายชื่อ

เรียน คุณครูที่ปรึกษาทีม แจ้งผลการคัดเลือกเค้าโครง (Proposal) สิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ จำนวน 58 เค้าโครงตามไฟล์แนบ ในการนี้จะไม่มีการส่งรายงานความก้าวหน้ามาในรอบที่ 2 จึงขอให้เจ้าของผลงานสิ่งประดิษฐ์ ได้พัฒนาจัดทำผลงานสิ่งประดิษฐ์ ให้เสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะนำมาเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือก ในระหว่างวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อคัดเลือกไปประกวด ในเวทีนานาชาติ จึงขอแจ้งให้พวกเราได้เตรียมความพร้อม หนังสือราชการจะแจ้งไปอีกครั้ง แจ้งให้ทราบทั่วกัน ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2558 นางพนิดา วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ดาวน์โหลดรายชื่อผลงาน 58 ผลงาน    

แจ้งเลื่อนการประกาศผลการคัดเลือกเค้าโครงสิ่งประดิษฐ์ แนวคิดใหม่   ตามที่คณะกรรมการได้กำหนดการประกาศผลการคัดเลือกรอบที่ 1 ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2558 นั้น ขอแจ้งเลื่อนกำหนดการประกาศผลการคัดเลือกเค้าโครงสิ่งประดิษฐ์ แนวคิดใหม่ เป็นช่วงปลายเดือนธันวาคม 2558 จึงแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน 30 ตุลาคม 2558    

40/41
Skip to content