กฟผ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มอบรางวัล EGAT Green Learning Awards 2020 ให้กับโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมโรงเรียนสีเขียว อาคารเบอร์ 5 ในสถานศึกษา โรงเรียนคาร์บอนต่ำ และโรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชน เพื่อประกาศเกียรติคุณและสร้างกำลังใจให้แก่โรงเรียนที่เป็นแบบอย่างที่ดีและมีผลงานโดดเด่นในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวปี 2563

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นายสุทธิพงษ์  เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน(ชยย.) และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล EGAT Green Learning Awards 2020 เพื่อประกาศเกียรติคุณและสร้างกำลังใจให้แก่โรงเรียนในการเป็นแบบอย่างที่ดีและมีผลงานโดดเด่นในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวในปี 2563 ภายใต้แนวคิด EGAT for ALL กฟผ. เป็นของทุกคน และเพื่อทุกคน ในมิติของการดูแลสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านระบบ Zoom Meeting และถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ก “ห้องเรียนสีเขียว กฟผ. Page”

นายสุทธิพงษ์  เฉลิมเกียรติ ชยย. กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินโครงการห้องเรียนสีเขียวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นปลูกฝังให้เยาวชนมีองค์ความรู้ ทัศนคติที่ดี และมีพฤติกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงสนับสนุนให้เยาวชนเป็นผู้นำในการสร้างเครือข่ายพลังงาน เกิดเป็นพลังเยาวชนที่เข้มแข็ง สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมหรือนวัตกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และขยายผลจากโรงเรียนสู่ครัวเรือนตลอดจนชุมชนในบริเวณพื้นที่รอบโรงเรียน นำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียวที่มีการแบ่งปันองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดการใช้พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่ประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลกในเรื่อง Carbon Neutrality

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า ขอขอบคุณ กฟผ. ที่สร้างสรรค์โครงการห้องเรียนสีเขียวซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดย สพฐ. มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นภาพความสำเร็จของทุกโรงเรียนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจและร่วมมือกันอย่างแท้จริงที่จะพัฒนาให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน และสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว” หรือ Green Learning Society โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศไทยต่อไป

สำหรับในปี 2563 มีโรงเรียนที่ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมและประสบความสำเร็จใน 4 กิจกรรม ดังนี้

1)โรงเรียนสีเขียว ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม จำนวน 13

โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ โรงเรียนอนุบาลนนทบุรี โรงเรียนบ้านทำนบ (เลิศสินอนุสรณ์) โรงเรียนแม่แตง โรงเรียนตราษตระการคุณ โรงเรียนอนุบาลวัดสระแก้ว โรงเรียนบ้านโจดหนองแกหนองสิม โรงเรียนบ้านหนองแวง โรงเรียนบ้านหนองถ่ม (คุรุราษฎร์อนุสรณ์) และโรงเรียนบ้านหนองหัวช้าง

2) อาคารเบอร์ 5 ในสถานศึกษา เป็นอาคารที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนที่มีการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จำนวน 11 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (อาคาร 1919) โรงเรียนราชวินิตประถมบางแค (อาคารเทพรัตน์สิริปภา) โรงเรียนวัดดอนทอง (สุวัณณะศรี ตัณฑิกุล ราษฏร์ศึกษาลัย) (อาคาร 8) โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ (อาคาร 8) โรงเรียนอนุบาลสิงห์บุรี (อาคาร MEP) โรงเรียนวัดเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) (อาคาร 7) โรงเรียนประชารัฐธรรมคุณ (อาคารวิทิตธรรมคุณ) โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย (อาคารธรรมลังกา) โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม (อาคารเกษตรศิลป์) โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม (อาคารปัญญาวิวัตร) และโรงเรียนสุขานารี (อาคาร 8)

3) โรงเรียนคาร์บอนต่ำ ลดการใช้ไฟฟ้าที่โรงเรียน มีรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 12 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านลำทับ โรงเรียนบ้านโจดหนองแกหนองสิม โรงเรียนวัดเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) โรงเรียนอนุบาลวัดสระแก้ว โรงเรียนวัดควนวิเศษ โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) โรงเรียนบางละมุง โรงเรียนตราษตระการคุณ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา โรงเรียนนครสวรรค์ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

4) โรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชน ลดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านของนักเรียน โดยในปี 2563 โรงเรียนและบ้านของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 5 ล้านหน่วย ลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 25 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 3 พันตัน โดยมีรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 12 โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนวัดเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) โรงเรียนวัดน้ำคบ โรงเรียนอนุบาลสมุทรสงคราม โรงเรียนอนุบาลชัยนาท โรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียนอนุบาลพะเยา โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ โรงเรียนบางละมุง โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์โรงเรียนพิริยาลัย โรงเรียนนครสวรรค์ และโรงเรียนกันทรลักษณ์วิทยา