สนก. ร่วมมือองค์กรแห่งการเรียนรู้เครือข่ายจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ประจำปี 2567 ทั้ง 4 ภูมิภาค

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ดำเนินงานโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล (LORD OBEC) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ ที่มุ่งเน้น

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ซึ่งช่วยให้เกิดการต่อยอดด้านการศึกษา และการสร้างเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม สำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ และมีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของสังคมโลก

ในการนี้ กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ได้จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระดับภูมิภาค ภายใต้แผนงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระหว่างวันที่ 17 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 กำหนดการ ดังนี้

​จุดที่ 1 ภาคกลาง ในวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมเอวาน่า แกรนด์คอนเวนชันกรุงเทพมหานคร

​จุดที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมสยามแกรนด์ จังหวัดอุดรธานี

​จุดที่ 3 ภาคใต้ ในวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมบีพีแกรนด์ทาวเวอร์อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

​จุดที่ 4 ภาคเหนือ ในวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

ผู้เข้ารับการอบรมฯ ได้แก่ นักเรียนที่มีความสนใจภาษาจีน ภูมิภาคละ 100 คน และภาษาอังกฤษ ภูมิภาคละ 100 คน จำนวน 4 ภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 800 คน โดยกิจกรรม ภายในงานประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับ ความสำคัญของการพัฒนาทักษะภาษาจีน การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เทคนิคการสอบ HSK เทคนิคการสอบ IELTS เทคนิคการเขียนเรียงความเพื่อขอรับทุนการศึกษา เป็นต้น

โดยผลการตอบรับจากนักเรียนทั้ง 4 ภูมิภาคเป็นไปอย่างดียิ่ง และมีความต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนเช่นนี้อีกในอนาคต

 

สพฐ. เดินหน้าจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ประจำปี 2567 จุดที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน มอบหมายให้ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดพิธีการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมสยามแกรนด์ จังหวัดอุดรธานี การอบรมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาภาษาจีนและภาษาอังกฤษให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสำหรับใช้ในการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานานาชาติและนำเสนอทุนการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานานาชาติ จำนวนภูมิภาคละ 200 คน

โดยบรรยากาศการอบรมฯ นักเรียนในจุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีนักเรียนสมัครเข้าร่วมการอบรมฯ อย่างคับคั่ง โดยนักเรียนทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนรู้เทคนิคการสอบ IELTS และ HSK และร่วมกิจกรรมทีทีมวิทยากรจัดให้อย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งได้รับการแนะนำทุนการศึกษาต่อต่างประเทศจากองค์กรแห่งการเรียนรู้เครือข่ายที่เข้าร่วมจัดนิทรรศการในการอบรมฯ ครั้งนี้

การอบรมออนไลน์หลักสูตรผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ICT Talent) ภาครัฐ ประจำปี ๒๕๖๗

16-17 กุมภาพันธ์ 2567 –  คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมกับ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี  จัดอบรมออนไลน์ ผู้นําด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ICT Talent ภาครัฐ ประจําปี 2567 ให้แก่ ICT Talent ภาครัฐ รุ่นที่ 1-3 และ ว่าที่ ICT Talent ภาครัฐ รุ่นที่ 4 โดยมี นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ดร. รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการตัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษากระบวนการเรียนรู้ ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ร่วมกล่าวเปิดการอบรมและชี้แจงความสำคัญของบททบาทหน้าที่ของ ICT Talent ภาครัฐ เพื่อแนะนำแนวทางการปฏิหน้าที่ในตลอดทั้งปี พร้อมด้วย คุณกรกช นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ร่วมกล่าวแนะนำการดำเนินงานมูลนิธิฯ แนะนำประโยชน์ของการเก็บข้อมูลบนระบบฐานข้อมูลโรงเรียน (School Management System)  รวมถึงมี ICT Talent ภาครัฐ รุ่นที่ 3 มาแชร์ประสบการณ์การทำงานและการได้รับการอบรมให้แก่ ICT Talent รุ่นที่ 4 ได้เข้าใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น

 

และยังได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมบรรยายให้ความรู้ แก่ ICT Talent ภาครัฐ ตลอดทั้ง 2 วัน เพื่อเพิ่มศักยภาพและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู และนักเรียน ในโรงเรียนภายใต้ความดูแล ในหัวข้อ อาทิ

– แนวทางการสอนวิทยาการคำนวณ โดย รศ.ธีรวัฒน์ ประกอบผล
– Digital Literacy โดย True Digital Academy
– การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ โดย กลุ่มบริษัท ธนเทเลคอม
– สื่อการเรียนการสอนจากพันธมิตรภาคเอกชนของมูลนิธิฯ อาทิ ทรูปลูกปัญญา, สื่อการสอนครูดิจิทัล โดย ธนาคารไทยพาณิชย์, โครงการสะเต็มศึกษา โดย กลุ่ม ปตท.​, แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ โดยสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสื่อการสอนภาษาอังกฤษ โดย Edsy Thailand

 

นอกจากนี้ในการอบรมวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ยังมีโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ทั่วประเทศ เข้าร่วมในการอบรมครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้จะมีการประกาศแต่งตั้ง ICT Talent ภาครัฐ รุ่นที่ 4 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเดือนเมษายน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ดูแลโรงเรียนภายใต้ความดูแลในทันที

สพฐ. เดินหน้าจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ประจำปี 2567 จุดที่ 1 ภาคกลาง

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
ได้เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ระดับภูมิภาค ณ โรงแรมเอวาน่า แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร การอบรมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นใน 4 ภูมิภาคโดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาภาษาจีนและภาษาอังกฤษให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสำหรับใช้ในการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานานาชาติและนำเสนอทุนการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานานาชาติ จำนวนภูมิภาคละ 200 คน

โดย ท่านผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ให้เกียรติบรรยายพิเศษเกี่ยวกับนโยบายของ สพฐ. ในด้านการจัดการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้คนมีความรู้ อ่านออก เขียนได้ เพียงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาประเทศอย่างครอบคลุมในทุกมิติอีกด้วย

นอกจากนี้ คุณนันทมาศ ฉัตราภรณ์ ท่านผู้จัดการด้านการค้า ด้านการศึกษาและสุขภาพ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “ความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย”
คุณช่อทิพย์ ประมวลผล ท่านผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “ความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และประเทศไทย และ Dr.Maruf Mollah Director of the Belt & Road Chinese Center (BRCC) ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “ความร่วมมือทางการศึกษาระหว่าง สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย” โดยมีองค์กรแห่งการเรียนรู้เครือข่ายต่าง ๆ  เข้าร่วมจัดงานและรับฟังการบรรยายพิเศษในครั้งนี้อย่างคับคั่ง

  

นิทรรศการโครงการ “คนดีรักษ์โลก”

เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้มีการจัดงานประกาศผลการประกวดคลิปและพิธีมอบรางวัล โครงการ “คนดีรักษ์โลก” จัดโดยคณะอนุกรรมาธิการด้านคุณธรรมและจริยธรรม คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย ณ ชั้น B๑ อาคารรัฐสภา (สผ.) โดยมี นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้ารับโล่เกียรติยศ “Saint Francis of Assisi Award” โดย อาร์ชบิชอป ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกัน ประจำประเทศไทย เป็นผู้มอบรางวัล

โครงการ “คนดีรักษ์โลก” มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการปลูกฝัง คุณธรรมให้เด็ก เยาวชนและประชากร กลุ่มคนรุ่นใหม่มีความตระหนักและเห็นคุณค่าความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากประสบการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้นำหลักคุณธรรม จริยธรรมมาใช้ในการดำรงชีวิต ด้วยการไม่เบียดเบียน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีความเสียสละอุทิศตนเพื่อปกป้อง สิ่งแวดล้อม เมื่อคนกลุ่มมากปฏิบัติสืบเนื่องมายาวนานจนกลายเป็น “วัฒนธรรมรักษ์โลก” สร้างปรากฏการณ์ “คืนดีกับโลกอันจะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมโดยส่วนรวม”

ทั้งนี้มีตัวแทนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความโดดเด่นและดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นที่ประจักษ์ นำนิทรรศการเข้าร่วม จำนวน ๔ โรงเรียนได้แก่

โรงเรียนที่ ๑ โรงเรียนวัดสังฆจายเถร สังกัด สพป.สุพรรณบุรี เขต ๑ โดยมีโครงการที่นำเสนอ ๓ โครงการได้แก่
๑. นำเสนอโครงการโรงเรียนอีโคสคูล
๒. การปลูกพืชผักผลไม้ และลดการใช้สารเคมีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
๓. การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น กล้วยฉาบ และน้ำยาบ้วนปาก

โรงเรียนที่ ๒ โรงเรียนบ้านโคกมะเมียน (ธรรมสุชาติอุทิศ) สังกัด สพป.สุรินทร์ เขต ๑ โดยมีโครงการที่นำเสนอ ๓ โครงการได้แก่
๑. การนำขยะมารีไซเคิลเป็นสินค้า
๒. การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว
๓. การแปรรูปอาหารข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์

โรงเรียนที่ ๓ โรงเรียนระหานวิทยา สังกัด สพม.กำแพงเพชร โดยมีโครงการที่นำเสนอ ๓ โครงการได้แก่
๑. การผลิตหัวโขนที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล
๒. การผลิตกระถางต้นไม้จากดินและกระดาษรีไซเคิล
๓. นำเสนอโครงการโรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School

โรงเรียนที่ ๔ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม สังกัด สพม.นนทบุรี โดยมีโครงการที่นำเสนอ ๔ โครงการได้แก่
๑. เครื่องคัดแยกขยะประเภทขวดพลาสติก และโลหะ ผ่านระบบ IOT
๒. กระดาษจากผักตบชวาที่มีประสิทธิภาพการดูดซับเอทิลีน
๓. การประดิษฐ์กระถางดอกไม้จากขวดพลาสติก
๔. การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการจัดสวนถาด

Continue reading

กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้รับเชิญเข้าร่วมงานมหกรรม China Fair 2024

เมื่อวันที่ 3 – 4 ก.พ. 67 สมาคมนักเรียนไทย-จีน จัดงานมหกรรม China Fair 2024 by TCSA : Study – Work -Travel ณ ลาน Fashion Hall ชั้น 1  ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยพิธีเปิดเริ่มขึ้นในเวลา 10.30 น. ของวันที่ 3 ก.พ. 67

ในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นางเฝิง จวิ้นอิง ท่านอัครราชทูตที่ศึกษา สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์  ดร.ลักษมณ สมานสินธุ์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเข้าร่วมในพิธีเปิดงานในครั้งนี้

ภายในงาน ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) ได้นำทีมนักวิชาการศึกษา ได้แก่ นางสาวปุณณภา เทพทุมมี นายธัญญภัสร์ จำเริญบุญ และนายฐนปวรรธน์ แตงอ่อน ที่ปรึกษาโครงการ LORD OBEC ภาคเอกชน ร่วมหารือกับนางเฝิง จวิ้นอิง อัคราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัคราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย ในประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยท่านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุนการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ ของสาธารณประชาชนจีน พร้อมทั้งยืนยันที่จะให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ของ สพฐ. เป็นอย่างดีอีกด้วย

การประชุมเตรียมการโครงการนำร่องการศึกษาสีเขียว UNESCO – Huawei

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 18 เดือนมกราคม 2567 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ตัวแทน UNESCO – Huawei ได้ประสานงานโครงการฯ กับหน่วยงานหลายหน่วยงาน เช่น อาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ฯลฯ เพื่อเสนอโปรเจ็ค Green – Cool และอธิบายรายละเอียดของโปรเจ็คเป็นการบริจาคอุปกรณ์โซล่าเซลล์ให้กับโรงเรียนจำนวน 4 โรงเรียน

ซึ่งอุปกรณ์ที่จะแจกให้กับโรงเรียนมีมูลค่า 500,000 – 1,000,000 บาท โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เสนอชื่อโรงเรียนไปยังทางโครงการฯ อีกทั้งทางโครงการจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบคุณสมบัติของโรงเรียนที่จะรับบริจาคเพื่อดำเนินโครงการต่อไป

ผู้เขียน นายประเวช อุ่มผาง
กลุ่มโครงการพิเศษ (Special Project Unit)
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : Facebook คพศ สนก

การประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงหลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

กลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัฒกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงหลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2567 ณ โรงแรม ปรี๊นส์ตั้น กรุงเทพมหานคร

การประชุมในครั้งนี้ เกิดจากการร่วมมือทั้ง 2 หน่วยงานโดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยงาน ภายใต้ความร่วมมือ โครงการส่งเสริมการศึกษาด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนตามหลักเศษฐกิจหมุนเวียน

มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงหลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในทักษะกระบวนการสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะทำงาน จำนวน 51 คน ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และ ผู้เกี่ยวข้อง

ผู้เขียน นายประเวช อุ่มผาง
กลุ่มโครงการพิเศษ (Special Project Unit)
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : Facebook คพศ สนก

การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายผู้นำนิเวศการเรียนรู้ สู่ห้องเรียนแห่งความสุขประสิทธิภาพสูง

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายผู้นำนิเวศการเรียนรู้สู่ห้องเรียนแห่งความสุขประสิทธิภาพสูง ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สู่ทักษะจำเป็นแห่งอนาคตของผู้เรียน มุ่งพัฒนากลไกเชิงระบบที่เสริมสร้างให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้เกี่ยวข้อง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา สามารถพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้และเป็นนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ (Learning Designer) เพื่อสร้างห้องเรียนประสิทธิภาพสูง (High Functioning Classroom) และการเรียนรู้อย่างมีความสุข (Happy Learning) ที่ส่งเสริมศักยภาพและสมรรถนะผู้เรียนได้ตามความต้องการ ความถนัด และความสนใจ สอดคล้องกับระดับการเรียนรู้ เหมาะสมกับสภาพบริบทสถานศึกษา

โดย ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้ ดร.จักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนัก

พัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สพฐ. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและมอบแนวทางการดำเนินงาน นอกจากนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาของโครงการ ได้บรรยายพิเศษถึงการสร้างนิเวศการเรียนรู้และมอบแนวทางในการดำเนินงานโครงการในปี 2567

เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำ (Master) ด้านการเสริมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ สู่ห้องเรียนแห่งความสุขประสิทธิภาพสูง รวมถึงพัฒนาเครือข่ายผู้นำนิเวศการเรียนรู้ สู่ห้องเรียนแห่งความสุขประสิทธิภาพสูง เพื่อการต่อยอดขยายผลแบบร่วมมือรวมพลังในระดับพื้นที่ การสร้างระบบพี่เลี้ยงที่เข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องการสร้างห้องเรียนแห่งความสุขประสิทธิภาพสูงต้นแบบ และการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันเชิงนิเวศการเรียนรู้โดยมีกระบวนการพัฒนาต่อเนื่อง คือ การฝึกปฏิบัติแบบเข้มข้น (Intensive Workshop) การฝึกปฏิบัติไปพร้อมการทำงานจริงในพื้นที่ (On the Job Training) และการเรียนรู้แบบร่วมมือรวมพลัง (Collaborative Learning) ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community) ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา และคณะทำงาน รวม 60 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 มกราคม 2567 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

ผู้รับผิดชอบโครงการฯ : ดร.อาร์ม วสันต์ สุทธาวาศ และคณะ
ผู้เขียนข่าว : อ.ธีมาพร แก่นคำ

ติดตามข่าวเพิ่มเติมได้ที่เพจ : OBEC Learning Design 

สพฐ. จับมือ ป.ป.ช. จัดทำคู่มือการประเมิน ITA Online ประจำปี 2567
ยกระดับความโปร่งใสของสำนักงานเขตพื้นที่และสถานศึกษา

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำคู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาออนไลน์ (Integrity and Transparency Assessment Online: ITA Online) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจาก สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายภิญโญยศ ม่วงสมมุข และนายพงษ์พันธ์ โตสกุลไกร เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ บรรยายให้ความรู้ใน เรื่อง“แนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” เพื่อให้คณะทำงานรับฟังเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินก่อนดำเนินการจัดทำคู่มือการประเมิน

ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อจัดทำคู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาออนไลน์ (Integrity and Transparency Assessment Online: ITA Online) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยร่วมกันวิเคราะห์เครื่องมือประเมินของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกอบด้วยแบบสำรวจ 3 แบบ : IIT, EIT และ OIT เพื่อปรับปรุงแก้ไข ตามบริบทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำคู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาออนไลน์ (Integrity and Transparency Assessment Online: ITA Online) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และดำเนินการจัดทำคู่มือแบบสำรวจ IIT, EIT และ OIT ในรูปแบบออนไลน์ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา นำเสนอและวิพากษ์ ปรับปรุง แก้ไขคู่มือแบบสำรวจ IIT, EIT และ OIT ในรูปแบบออนไลน์ พร้อมทั้ง จัดทำคลิปวีดีโอ บรรยายรายละเอียดแต่ละตัวชี้วัดของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา

โดย นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้) ปฏิบัติหน้าที่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ผู้รับผิดชอบโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) พบปะให้แนวทางการดำเนินงาน รับฟังแนวคิดจากคณะทำงาน ร่วมเสนอแนวทางการจัดทำเครื่องมือประเมินของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินก่อนดำเนินการจัดทำคู่มือการประเมิน ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา และคณะทำงาน รวม จำนวน 45 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 20 มกราคม 2567 ณ โรงแรม ปริ๊นส์ตั้น กรุงเทพมหานคร

“วพร. สนก. จับมือหน่วยการศึกษา สถานทูตนิวซีแลนด์ ยกระดับการขับเคลื่อนโครงการพัฒนานวัตกรรมการ ยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประจำปี พ.ศ. 2567 (Lord Obec)”

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) นำโดย ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) นางสาวปุณณภา เทพทุมมี นักวิชาการศึกษา นายฐนปวรรธน์ แตงอ่อน ที่ปรึกษาโครงการภาคเอกชน นส.ธัญชนก ชวาลวณิชชัย และนางสาวธัญญภัสร์ จำเริญบุญ เจ้าหน้าที่โครงการ ได้รับเชิญจากหน่วยงานการศึกษา สถานเอกอัคราชทูตนิวซีแลนด์ ให้เข้าร่วมการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการต่อยอดนักเรียนไทยที่มีศักยภาพสูงสู่การศึกษาต่อ ณ ประเทศนิวซีแลนด์ ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล (LORD OBEC)

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนโครงการฯ ระหว่างหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงการวางแผนงานในการเตรียมความพร้อมนักเรียนให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568 ต่อไป

กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ประชุมขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่อการ ต่อยอดเยาวชนไทยสู่สากล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567 ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ และนักวิชาการศึกษาผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทย ในระดับสากล ประกอบด้วย นางสาวปุณณภา เทพทุมมี นางสาวธัญชนก ชวาลวณิชชัยนางสาวสุภาพร  ทองร้อยชั่ง นายธัญญภัสร์ จำเริญบุญ และนายณัฐศาสตร์ ส่องแสงเข้าร่วมการประชุมขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาศักยภาพทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ซึ่งเป็นโครงการที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยที่นำเสนอบทเรียนและกิจกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นที่เข้าใจง่ายและสนุกสนาน เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกพูดและโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ ในหัวข้อเนื้อหาที่ตรงตามมาตรฐานสากลยุโรป CEFR พร้อมรับคำชี้แนะแบบรายบุคคลจากผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (Edsy AI Speaking Coach) จนมีพัฒนาการที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ นำทีมโดย ดร.ณพล รัชตสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีการศึกษา (AI in Education) จาก Human-Computer Interaction Institute (HCII) ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ประเทศสหรัฐอเมริกาและทีมวิจัยพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่น โดยหารือวางแผนแนวทางนำร่องเริ่มใช้ แอพพลิเคชั่นที่พัฒนากับนักเรียนในสังกัด สพฐ. โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย สิทธิการใช้งานและระยะเวลาการใช้งานในโครงการกี่ปี เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานและพัฒนาการของนักเรียนหลังจากใช้งานแอพพลิเคชั่น แล้วนำผลวิจัยและข้อเสนอแนะที่ได้มาพัฒนาระบบต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในระยะแรกเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย องค์กรเครือข่ายต่าง ๆ จะร่วมกันการขยายผลการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน และครู ในโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป