สนก. เดินหน้าพัฒนา “นวัตกรรมโครงงานคุณธรรม: จากครูเป็นโค้ช”

กลุ่มวิจัยและส่งเสริมคุณธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำคู่มือ “นวัตกรรมโครงงานคุณธรรม: จากครูเป็นโค้ช” ระหว่างวันที่ 9 – 12 มกราคม 2567 ณ โรงแรมปริ๊นส์ตั้น ดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา มอบหมายให้นายสพลกิตติ์ สังข์ทิพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและส่งเสริมคุณธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา นำทีมผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ศึกษานิเทศก์ ผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนากระบวนการโครงงานคุณธรรม จัดทำคู่มือ “นวัตกรรมโครงงานคุณธรรม: จากครูเป็นโค้ช”

การจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ให้ครูผู้สอนมีคู่มือไว้ศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการของโครงงานคุณธรรมและสามารถอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปัญหา สาเหตุ เป้าหมาย และแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้หลักคุณธรรม รวมถึงครูผู้สอนได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง และบูรณาการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างกระแสในการขันเคลื่อนนวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

“สนก. ส่งนักเรียนไทยเข้าร่วมโปรแกรมฝึกอบรม Chinese Language and Chinese Film and Television Culture ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน”

กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนทั้ง 2 คน ได้แก่
1. นางสาวอพัชชา นามคำ โรงเรียนเลิงนกทา สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร
2. นางสาวปรีชญาณ์ สงค์ประเสริฐ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ สพม.นครศรีธรรมราช

ผู้ได้รับทุนการศึกษา ค่าเล่าเรียน ค่าที่พักตลอดหลักสูตร และค่าประกันภัย เพื่อเดินทางเข้าร่วมโปรแกรมฝึกอบรม Chinese Language and Chinese Film and Television Culture ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 15 มกราคม 2567 ณ Huazhong University of Science and Technology (HUST) สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทุนการศึกษาดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) และ MalishaEdu Thailand ในการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมนำร่อง “OBEC One Belt One Road” ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล (LORD OBEC) ประจำปี พ.ศ. 2567
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหานักเรียนที่มีทักษะภาษาจีนเบื้องต้น มีทัศนคติที่ดี และมีความพร้อมในการเข้าร่วมโปรแกรมระยะสั้น ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาทักษะทางภาษา รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายเกี่ยวกับงานด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็น Soft Power สำคัญที่กำลังได้รับความนิยมและมีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงของโลกในอนาคต โดยนักเรียนทั้งสองคนออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 เวลา 07.05 น. โดยมี ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการเดินทาง

สนก.ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันและการพิจารณากรอบหลักสูตรการแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ ประจำปี 2567 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 22 – 24 ธันวาคม พ.ศ. 2566  สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
ภายใต้กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ได้ดำเนินจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทาง
การคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันและการพิจารณากรอบหลักสูตรการแข่งขันทางวิชาการ
ระดับนานาชาติ ประจำปี 2567 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพมหานคร

การประชุมครั้งนี้ ดร.จักรพงษ์ วงศ์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
ได้มอบหมายให้ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้
เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน
และการพิจารณากรอบหลักสูตรการแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ ประจำปี 2567

โดยผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ ได้ร่วมกันจัดทำแผนดำเนินงาน
และแนวทางการคัดเลือกผู้แทนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
จากนั้นมีการประชุมผ่านระบบออนไลน์โดยผู้รับผิดชอบโครงการระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อชี้แจง แนะนำ
และขอความคิดเห็น ในการพัฒนาแนวทางและกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจ
และขับเคลื่อนโครงการแข่งขันทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567
อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อไป

 

สนก.เดินหน้าโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ดร.ศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา มอบหมายให้ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 7 – 8 ธันวาคม พ.ศ 2566 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และคณะทำงานส่วนกลาง โดยผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ในการดำเนินงานโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้เกิดสิทธิผลสูงสุดในการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อการยกระดับศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยสู่การประกอบอาชีพและการศึกษาต่อในระดับสากลต่อไป

ศธ. บูรณาการต้านทุจริต จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการโรงเรียนสุจริต ระดับประเทศ

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน การประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระดับประเทศ และกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (9 ธันวาคม) ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายสมพงษ์ ตะโกพ่วง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและติดตาม ต้านทุจริตศึกษา 2 สำนักต้านทุจริตศึกษา (สำนักงาน ป.ป.ช.) นายศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ (ด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้) รวมถึงข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

 

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดําเนินการในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะภาคการศึกษา ที่มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความรู้และปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติในอนาคต โดยดําเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่กําหนดเป้าหมายหลักให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผ่านการพัฒนาคนและการพัฒนาระบบ โดยให้ความสําคัญกับการปรับและหล่อหลอมพฤติกรรม “คน” ทุกกลุ่มในสังคมให้มีจิตสํานึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต

 

ทั้งนี้ การพัฒนาผู้เรียน นอกจากมุ่งเน้นการพัฒนาด้านความรู้ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการแล้ว ควรต้องคำนึงถึงการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดีของชาติ โดยเสริมสร้างผู้เรียนให้มีความรักในสถาบันหลักของชาติ ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง มีหลักคิดที่ถูกต้อง เป็นพลเมืองดีของชาติ และพลเมืองโลกที่มีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มัธยัสถ์อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย และรักษาศีลธรรม ซึ่งการศึกษานั้นถือเป็นเรื่องของคนทุกคน ดังนั้น ความคาดหวังต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงเพราะการดำเนินการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องดำเนินการด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้พลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เราต้องร่วมกันพัฒนาประเทศเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาปัจจุบัน ร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เจริญรุดหน้า ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ด้วยแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต

 

“เวทีแห่งนี้ถือเป็นเวทีนำเสนอผลงานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ผ่านการดำเนินโครงการโรงเรียนสุจริต ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบัน กับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น ผมขอให้ทุกท่านใช้ประโยชน์จากเวทีแห่งนี้ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนไปสู่การขับเคลื่อนโครงการที่มีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันในอนาคต คือ การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตครับ” รมช.ศธ. กล่าว

 

ทางด้าน นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) เพื่อพัฒนานักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ. ให้เกิดคุณลักษณะ 5 ประการของโครงการโรงเรียนสุจริต ได้แก่ ทักษะกระบวนการคิด มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง และจิตสาธารณะ โดยดำเนินการตามแนวทางของปฏิญญาโรงเรียนสุจริต ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน ด้านการปลูกฝัง และด้านการสร้างเครือข่าย ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ กิจกรรมตามโครงการโรงเรียนสุจริต กิจกรรมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด สพฐ. (ITA Online) และการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายตัวชี้วัดของแผนบูรณาการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

 

ทั้งนี้ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ในครั้งนี้มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพฯ โดยมีกิจกรรมภายในงาน ได้แก่ 1. กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน และการประกวดแข่งขัน จำนวน 7 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) กิจกรรมบริษัทสร้างการดี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 2) กิจกรรมบริษัทสร้างการดี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 3) กิจกรรมถอดบทเรียน (Best Practice) นวัตกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา 4) นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนของครู 5) นวัตกรรมการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนสุจริตของศึกษานิเทศก์ 6) นวัตกรรมการขับเคลื่อนโครงการของผู้รับผิดชอบโครงการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต 7) กิจกรรมการใช้และประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม) นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ ภาพยนตร์สั้นต่อต้านการทุจริต กิจกรรมผลงานหนังสือเล่มเล็กจากผลการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) กิจกรรมออกแบบบอร์ดเกม เพื่อส่งเสริมการต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption Board Game) และมีการจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต แสดงผลการดำเนินงาน และภาพความสำเร็จของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออนไลน์ (ITA Online) รวมถึงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ต้านโกงเสมือนจริง (Virtual Anti-Corruption Museum) ที่แสดงแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วิวัฒนาการจากอดีต ปัจจุบัน เชื่อมไปสู่อนาคต และกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เป็นต้น

 

ที่มา : เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

สนก.เปิดบ้านต้อนรับผู้แทนมหาวิทยาลัยชั้นนำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือด้านการต่อยอดนักเรียนไทยที่มีศักยภาพสูงสู่การศึกษาต่อ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดประชุมและกล่าวต้อนรับผู้แทนมหาวิทยาลัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย
1.Shanxi University
2.Northeast Forestry University
3.Zhejiang University of Technology
4.Huazhong University of Science and Technology
5.Changsha University of Science and Technology
6.Xi’an jiaotong university
7.Tianjin University
8.Yangzhou University
9.Huazhong University of Science and Technology

การประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการต่อยอดนักเรียนไทยที่มีศักยภาพสูงสู่การศึกษาต่อ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดขึ้นภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนโครงการระหว่างหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
รวมถึงการหารือเกี่ยวกับแนะแนวพิจารณาทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆสำหรับนักเรียนในสังกัดสำนักงาน
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ
ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล โดยมติการประชุมได้กำหนดให้เพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยเข้าสู่โครงการและสรุปข้อมูลจำนวนและประเภททุนการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเดือน มกราคม 2567 ต่อไป

สนก.จับมือภาคีเครือข่ายเชิญมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศจีน ร่วมจัดกิจกรรมแนะแนวทุนการศึกษา China Education “One Belt One Road 2023” ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล

เมื่อวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ดร.ศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ให้เกียรติ
เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมแนะแนวทุนการศึกษา China Education “One Belt One Road 2023” ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทย
ในระดับสากล ซึ่งเป็นโครงการในแผนงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566  ณ ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 2

ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน การเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบพื้นฐานภาษาจีน HSK การประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความประสงค์จะไปศึกษาต่อ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างครู นักเรียน และผู้แทนมหาวิทยาลัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 9 แห่ง ได้แก่
1.Shanxi University
2.Northeast Forestry University
3.Zhejiang University of Technology
4.Huazhong University of Science and Technology
5.Changsha University of Science and Technology
6.Xi’an jiaotong university
7.Tianjin University
8.Yangzhou University
9.Huazhong University of Science and Technology
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวนกว่า 300 คน จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 จำนวน 19 โรงเรียน ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมข้างต้น ผู้แทนมหาวิทยาลัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดแผนการเยี่ยมชมการจัดการศึกษาของโรงเรียนกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยและโรงเรียนสตรีวิทยา เพื่อเตรียมขยายผลโครงการในระยะต่อไป

เด็กไทยสุดเจ๋ง คว้า 24 เหรียญ จากการเข้าร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โอลิมปิก ระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ : 20th International Mathematics and Science Olympiad for Primary School Students (IMSO 2023) ผ่านระบบออนไลน์

นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งผู้แทนนักเรียนไทยที่มีความสามารถ
เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 20
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ : 20th International Mathematics and Science Olympiad for Primary School
Students (IMSO 2023) ระหว่างวันที่ 16-21 พฤศจิกายน 2566 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งมีนักเรียนไทยเข้าร่วม
การแข่งขันทั้งสิ้นจำนวน 24 คน แบ่งออกเป็น 2 วิชา คือวิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา จำนวน 12 คน
และวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา จำนวน 12 คน

ผลการแข่งขันปรากฎว่า นักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัล รวมทั้งสิ้น 24 เหรียญ แบ่งเป็นเหรียญทอง 6 เหรียญ เหรียญเงิน 16 เหรียญ เหรียญทองแดง 2 เหรียญ

วิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา จำนวน 12 เหรีญ ได้แก่

เหรียญทอง  2 รางวัล ได้แก่

1.เด็กชายฉัตรดนัย ลิ้มศิริรังสรรค์        โรงเรียนนานาชาติกระบี่

2.เด็กชายปรรณ กาญจนารัณย์           โรงเรียนอำนวยศิลป์

เหรียญเงิน 8 รางวัล ได้แก่

1.เด็กชายกรณ์ สิริธนกุล                      โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

2.เด็กชายณกฤช ฤกษ์รัตนวราพร        โรงเรียนอำนวยศิลป์

3.เด็กชายณัฐพัชร์ พาชีรัตน์                 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

4.เด็กชายธนนันท์ สุวรรณพันธุ์            โรงเรียนอนุบาลปราจีนบุรี

5.เด็กชายปริญญา สิงห์กัญญา            โรงเรียนแสงทองวิทยา

6.เด็กชายพชร เรามานะชัย                  โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา

7.เด็กชายวัชรวีร์ ตันธนพิพัฒน์            โรงเรียนสารสาสน์วิเทศร่มเกล้า

8.เด็กชายศิวัตร์ กาลเนาวกุล                โรงเรียนแสงทองวิทยา

เหรียญทองแดง 2 รางวัล ได้แก่

1.เด็กหญิงวรฤทัย คงนคร                    โรงเรียนบูรณะรำลึก

2.เด็กชายอัสรัน พงศ์พิมล                    โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา จำนวน 12 เหรีญ ได้แก่

เหรียญทอง  4 รางวัล ได้แก่

1.เด็กหญิงณัฐธยาน์ ฉายวิริยะ            โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ณ ราชอุทิศ

2.เด็กชายปุญญพัฒน์ ฉัตรพรจรัส       โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม

3.เด็กชายพงศ์ฤทธิ์ พงส์เผ่าทอง        โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

4.เด็กชายภัทรวุฒิ บางอ้น                    โรงเรียนสัมชัญแผนกประถม

เหรียญเงิน 8 รางวัล ได้แก่

1.เด็กชายการิน หุนศิริ                          โรงเรียนราชวินิต

2.เด็กชายเกื้อ เรืองเกียรติกุล                โรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ

3.เด็กชายแทนคุณ กังแฮ                      โรงเรียนแสงทองวิทยา

4.เด็กชายบารเมษฐ์ เจริญชัยสมบัติ      โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม

5.เด็กชายบูรพ์ ตันตระกูล                    โรงเรียนเซนต์คาเบรียล

6.เด็กชายปณิธิ สุนันท์กิ่งเพชร             โรงเรียนเซนต์คาเบรียล

7.เด็กชายวริศ สุวรรณชาตรี                 โรงเรียนแสงทองวิทยา

8.เด็กชายศุภกร อุไรพันธ์                      โรงเรียนแสงทองวิทยา

พิธีมอบรางวัลกิจกรรมประกวดสื่อการเรียนการสอนสร้างสรรค์ ประเภทเกมการศึกษา ภายใต้โครงการ “Good Food For All กินดี – อยู่ดี”

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
ร่วมกับบริษัท คะตะลิสต์ จำกัด จัดพิธีมอบรางวัลกิจกรรมประกวด สื่อการเรียนการสอนสร้างสรรค์
ประเภทเกมการศึกษา ภายใต้โครงการ “Good Food For All กินดี – อยู่ดี”
ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพมหานคร
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
เป็นประธานในพิธีเปิด และนายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ผู้อำนวยการบริษัท คะตะลิสต์ จำกัด
กล่าวรายงาน และร่วมแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัล

 

โดยผลการประกวดสื่อการเรียนการสอนสร้างสรรค์ มี 6 รางวัล แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. สื่อสิ่งประดิษฐ์
จำนวน 3 รางวัล และ 2. สื่อดิจิทัล จำนวน 3 รางวัล เงินรางวัลรวมทั้งสิ้น จำนวน 20,000 บาท
ซึ่งสื่อการสอนเหล่านี้ สามารถนำไปส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนได้อย่างสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ
และเกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนให้รู้จักการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
รวมทั้งเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข

   

   

   

   

   

โดย  กลุ่มวิจัยและส่งเสริมคุณธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา

การแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ : 20th International Mathematics and Science Olympiad for Primary School Students (IMSO 2023) ผ่านระบบออนไลน์

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน พร้อมกล่าวต้อนรับ ปฐมนิเทศ และชี้แจงเกณฑ์แนวทางการแข่งขันแก่คณะผู้แทนนักเรียนไทย การแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 20  ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ : 20th International Mathematics and Science Olympiad for Primary School Students (IMSO 2023) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 21 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 1 และโรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

การประชุมแนวทางความร่วมมือ 3 ภาคส่วนในการสนับสนุนการศึกษาไทย ประจำปี 2566” (​CONNEXT ED CONFERENCE 2023) ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น 3 True Digital Park วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 โครงการคอนเน็กซ์อีดี ประกอบไปด้วยมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กอีดี กระทรวงศึกษาธิการ และภาคประชาสังคม จัดการประชุม “แนวทางความร่วมมือ 3 ภาคส่วนในการสนับสนุนการศึกษาไทย ประจำปี 2566” (​CONNEXT ED CONFERENCE 2023) ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น 3 True Digital Park โดยมี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ พร้อมด้วยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ, พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม ภาครัฐ และผู้บริหารจาก 52 องค์กรเอกชน ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงาน และหารือแนวทางการพัฒนาตาม 5 ยุทธศาสตร์หลักเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ก้าวทันยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงของโลก

ระหว่างการประชุม พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมแนวทางการทำงานด้านการศึกษาของภาคเอกชนที่มีส่วนช่วยเข้ามาเติมเต็มการศึกษาของประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนโรงเรียนของภาครัฐซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ จำนวน 5,570 โรงเรียน ซึ่งมีนโยบายต่างๆของโครงการคอนเน็กซ์อีดีสามารถดำเนินการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการได้  นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอแนวทางเสริมถึงความเป็นไปได้ในการขยายโอกาสเพื่อรับทรัพยากรที่ดีจากมูลนิธิการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี ในการพัฒนาระบบการจัดการสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป เช่น การพัฒนาระบบประเมินผลผู้เรียนตามหลักยุทธศาสตร์ 5 ของโครงการ ,การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้เป็นไปตามยุคสมัย ,ระดมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 Goals มาใช้กับภาคการศึกษา
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นต่อไป โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกล่าวคำขอบคุณต่อทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาประเทศไทยตลอดมา