การประชุมเตรียมความพร้อมการลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔

ด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประชุมเตรียมความพร้อมการลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิชา ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ในวันอังคารที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องประชุม สพฐ.๒ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือทางการศึกษา ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน

การประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานในการประชุม และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและกองประชาสัมพันธ์และประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน คณาจารย์และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้การลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน มีเป้าหมายให้นักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน จำนวน ๓ รุ่น รุ่นละ ๑๐๐ คน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ คน โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษา รุ่นละ ๔ ปี แบ่งเป็นการเรียนการสอน โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประเทศไทย จำนวน ๒ ปี (ในปีที่ ๑ และปีที่ ๔) และจัดการเรียนการสอน โดยมหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน ๒ ปี (ในปีที่ ๒ และปีที่ ๓) ซึ่งในแต่ละรุ่น นักเรียนอย่างน้อย ๓ คน จะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวน หรือบางส่วนจากมหาวิทยาลัยและจากรัฐบาลขณะที่ศึกษา ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตร ๔ ปี นักเรียนทุกคนจะได้รับวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่ง

โครงการความร่วมมือทางการศึกษา  “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชา ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังนับเป็นนวัตกรรมการสร้างเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่จะช่วยเชื่อมโยงระบบการศึกษาของประเทศไทยให้ผสานเข้ากับระบบการศึกษาในระดับนานาชาติอย่างมีคุณภาพต่อไป

Message us