การอบรมเทคนิคการผลิตภาพยนตร์สั้น และองค์ความรู้สถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมภายใต้ โครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ภาพยนต์สั้น เพื่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อ “ปรับตัว ป้องกัน ปฏิบัติ เพื่อระงับภัยพิบัติจากสิ่งแวดล้อม”
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) กลุ่มโครงการพิเศษ (คพศ.) ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผลิตภาพยนตร์สั้นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ปรับตัว ป้องกัน ปฏิบัติ เพื่อระงับภัยพิบัติจากสิ่งแวดล้อม” ระหว่างวันที่ 25 – 27 มกราคม 2567 จำนวน 3 วัน ผ่านระบบ Zoom Meeting และ FacebookLive / GreenObec สิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการอบรมครั้งนี้จะมุ่งเน้นให้ครูและนักเรียนทั่วประเทศ ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการผลิตภาพยนตร์สั้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามาให้ความรู้ ทั้งด้านเทคนิคการผลิตภาพยนตร์ และสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ
โดยมี ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมเป็นเกียรติในการเปิดพิธีการอบรมโดย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้สื่อภาพยนตร์เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการผลิตสื่อภาพยนตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์และเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น
โดยในวันที่ 1 (25 มกราคม 2568)
เป็นการบรรยายให้ความรู้เรื่องการสร้างภาพยนต์สั้น คุณปิยวัฒน์ ใจเที่ยงธรรม ได้ให้ความรู้เรื่องการสร้างภาพยนต์สั้น โดยเน้นเรื่องการทำความเข้าใจโจทย์และวัตถุประสงค์ของการทำหนังสั้น อีกทั้งยังแนะนำให้มองตัวเองเป็นผู้ชมก่อนและทำความเข้าใจกับผลงานที่จะสร้าง และยังได้สอนขั้นตอนในการสร้างผลงานในหลายๆขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมงาน การถ่ายทำ การใช้ภาษา การกำกับนักแสดง การทำงานเป็นทีม และการตัดต่อผลงาน
วันที่ 2 (26 มกราคม 2568)
ช่วงเช้าเป็นการบรรยายหัวข้อ การอนุรักษ์ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยคุณทิวารัตน์ เถลิงเกียรติลีลา ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพด้านการประมงน้ำจืด กรมประมง
ได้ให้ความรู้ในเรื่องความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในระดับพันธุกรรม ชนิดพันธุ์ และระบบนิเวศ อีกทั้งยังบรรยายเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ เช่น การปิดกั้นแหล่งน้ำ การทำประมงเกินศักยภาพ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไม่ยั่งยืน สัตว์น้ำต่างถิ่น มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 2 มีการบรรยาย 3 หัวข้อได้แก่
หัวข้อที่ 1 โรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยคุณประหยัด เคนโยธา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความรู้ในเรื่อง สถานการณ์ปัญหามลพิษ มลพิษทางสิ่งแวดล้อม โรคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
หัวข้อที่ 2 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ดร.สนธยา กริชนวรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้เรื่องภาวะก๊าซเรือนกระจก กลไกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในต่างประเทศ และยังอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
หัวข้อ 3 จากโลกร้อนเข้าสู่…โลกเดือดและโลกรวน โดยคุณสาธิต เนียมสุวรรณ ผู้จัดการสำนักประเมินรับรองโครงการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้ให้ความรู้ในเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก
วันที่ 3 (27 มกราคม 2568) ช่วงเช้า
ในช่วงเช้าเป็นการบรรยายหัวข้อ การจัดการขยะ โดยคุณกวีณา ศรีวิโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญ 2 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะและบรรจุภัณฑ์ การปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีในการจัดการขยะ และสถานการณ์การจัดการขยะในประเทศไทย
ช่วงบ่ายเป็นการบรรยายหัวข้อ การอนุรักษ์ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยคุณฉัตรชัย พฤกษชาติ นักวิชาการประมงชำนาญการจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้ความรู้ในเรื่องการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัญหาปะการังฟอกขาว และสาเหตุที่ทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรม
ซึ่งในวันสุดท้ายของการอบรม ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ได้ร่วมเป็นเกียรติในพิธีปิดการอบรม โดย ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ได้เน้นถึงความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ความรู้และเทคนิคที่ได้จากการอบรมในการผลิตสื่อภาพยนตร์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อไป
กลุ่มโครงการพิเศษ (Special Project Unit)
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สนก.
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : Facebook คพศ. สนก.
โทร. 022885897 Facebook/GreenObecสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน