เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จังหวัดนนทบุรี นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และนางสาวนลินี จีนกูล ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้เดินทางไปร่วมพิธีลงนามความร่วมมือโครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา (โครงการห้องเรียนสีเขียว)
โดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวรายงาน และ ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน โดยนายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมการเปิดตัวและติดฉลากผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 ใหม่อย่างเป็นทางการ และมอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่โรงเรียนที่ชนะการประกวดโรงเรียนเบอร์ 5 ระดับ 5 ดาว
สพฐ. ร่วมกับ กฟผ. ดำเนินงาน โครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา (โครงการห้องเรียนสีเขียว) เพื่อเสริมสร้างทัศนคติด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว (Green Learning Society) ที่ครอบคลุมองค์ความรู้ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับโรงเรียนในสังกัด และนักเรียนในเครือข่ายโครงการห้องเรียนสีเขียว พร้อมทั้งขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชน
ภายในงาน กฟผ. ได้มอบโล่แสดงความขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการกับ กฟผ. ในปี 2566 ที่ผ่านมา อาทิ องค์กรที่เข้าร่วมโครงการที่ปรึกษาพลังงาน ผู้เข้าร่วมโครงการบ้านและอาคารเบอร์ 5 ผู้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนเบอร์ 5 และ ผู้ประกอบการที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ใน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย แผงเซลล์แสงอาทิตย์ โคมไฟถนน อินเวอร์เตอร์ที่ใช้กับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศแบบหลายชุดแฟนคอยล์ (VRF)
อีกทั้ง กฟผ. ยังได้ดำเนินงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า หรือ DSM ด้วยกลยุทธ์ 3 อ. ได้แก่ อ. ที่ 1 อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 แล้ว ทั้งหมด 26 ผลิตภัณฑ์ อ. ที่ 2 อาคารและอุตสาหกรรมประสิทธิภาพพลังงานสูง และ อ. ที่ 3 อุปนิสัยการใช้พลังงานคุ้มค่าและปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคที่อยู่อาศัย ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรการที่เหมาะสมและคุ้มค่า ส่งผลให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้กว่า 38,000 ล้านหน่วย คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 31 ล้านตัน