INNO_Project

โรงเรียนประชารัฐ

โครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) “สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ” ร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคเอกชนกว่า 25 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดรับสมัครโรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (ระดับประถมศึกษา-ขยายโอกาส นักเรียน 80-600 คน, ระดับมัธยมศึกษา นักเรียน 120-600 คน) เข้าร่วมพัฒนาตามโครงการ ซึ่งมีโรงเรียนสนใจสมัครกว่า 10,000 โรงเรียน และมีโรงเรียนผ่านการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 1 จำนวน 3,342 โรงเรียน ที่จะได้รับการพัฒนาตามโครงการภายใต้การดูแลและให้ความช่วยเหลือของ School Partners จากภาคเอกชน 1,000 คน และมี School Sponsor จากภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนต่อไปด้วย

สิ่งที่จะได้รับจากการเป็นต้นแบบโรงเรียนประชารัฐ มีหลายประการ คือ 1) ครู ได้รับความรู้และประสบการณ์จากกระบวนการจัดการ ตลอดจนได้รับการพัฒนา-การเรียนรู้ต่างๆ 2) โรงเรียน ได้รับการเติมเต็มจากภาคเอกชน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สื่อการเรียนการสอน ระบบฐานข้อมูล เป็นต้น 3) ผู้บริหาร ได้รับการพัฒนาคุณสมบัติและสมรรถนะความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการ 4) ผู้ปกครอง ชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น

ที่มา https://data.bopp-obec.info/emis/news/news_view.php?ID_New=32363

โรงเรียนคุณธรรม

กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เยาวชนไทย โดย สพฐ. ในฐานะองค์กรหลักเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้เยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้จัดทำโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน และตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10

โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล

โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล (1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ) มุ่งเน้นการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เกิดความเท่าเทียมและครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการจัดการศึกษาของประเทศ โดยมีโรงเรียนศูนย์กลางของชุมชนเป็นต้นแบบ สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ นำไปสู่การร่วมกันจัดกิจกรรมทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์ เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ 4 ส่วน ได้แก่

1) มีโรงเรียนประจำตำบล อย่างน้อยตำบลละ 1 โรงเรียน ที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีคุณธรรมจริยธรรม งานอาชีพ และสุขภาพอนามัย ให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนและชุมชน อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

2) ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งสมรรถนะและศักยภาพในการบริหารจัดการ ตลอดจนมีความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอน

3) นักเรียนทุกคนในตำบล ได้รับโอกาสและเข้าถึงการบริการและสวัสดิการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นชนบท

4) นักเรียนได้รับการพัฒนา ทั้งด้านสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ ทัศนคติ และพัฒนาการด้านร่างกายที่เหมาะสมกับช่วงวัย ควบคู่กับการปฏิบัติตามค่านิยม 12 ประการ

ในส่วนของการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้ให้การสนับสนุน 3 ด้าน ดังนี้

1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งอาคารเรียน อาคารประกอบ โรงอาหาร โรงพลศึกษา สนามฟุตบอล ระบบคมนาคม ระบบไฟฟ้าและระบบพลังงานทางเลือก ระบบประปาน้ำดื่ม ระบบบำบัดน้ำเสีย เครือข่ายโทรศัพท์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ระบบบำบัดขยะ ด้านโภชนาการและสุขภาพของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือผู้มีความต้องการเป็นพิเศษ

2) ด้านการส่งเสริมการศึกษา ให้การสนับสนุนการเรียนการสอนด้านวิชาการ ด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีน รวมทั้งสร้างสื่อและนวัตกรรมให้เป็นคลังความรู้ในโรงเรียน และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนา การส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างการเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ องค์ความรู้ด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ตลอดจนการพัฒนาเพิ่มทักษะของผู้บริหารให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และทักษะของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ พร้อมสนับสนุนค่าวัสดุรายหัวของนักเรียนด้วย

3) ด้านการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม โดยเน้นให้หน่วยงานในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายการพัฒนา สนับสนุนความร่วมมือระหว่างศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน และชุมชน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานในท้องถิ่นด้วย ในส่วนของผู้บริหารและครู จะส่งเสริมทักษะการสื่อสารและความร่วมมือเพื่อต่อยอดการพัฒนาอย่างเต็มที่ พร้อม ๆ กับการพัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อร่วมพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลต่อไป

โต้วาทีภาษาอังกฤษ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาบุคลากร ให้มีความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเติมขีดความสามารถ พัฒนาความรู้ ทักษะให้กับนักเรียนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน และเห็นคุณค่าของการรวมตัว บนความหลากหลายของชาติพันธุ์ในประชาคมอาเซียน ตั้งแต่ปี 2552 โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ได้พัฒนานวัตกรรม “การโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษ และการพูดพาทีสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการนำกระบวนการแข่งขันทางวิชาการมาเป็นกิจกรรมเสริมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพของตนเอง ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการพัฒนาทักษะทางวิชาการในด้านอื่นๆ โดยมีรูปแบบการโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษที่เป็นไปตามการแข่งขันสากล คือ รูปแบบรัฐสภาเอเชีย (Asian Parliamentary) ในหัวข้อการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการตระหนักถึงการเป็นพลเมืองโลก เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ และความเข้าใจในเชิงลึก เห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้อย่างเข้าใจ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้พัฒนาบุคลากรทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การพัฒนารูปแบบการแข่งขัน พัฒนานักเรียนที่มีศักยภาพทางภาษาสูง พัฒนาคู่มือการจัดการแข่งขัน พัฒนาหลักสูตร Building Skills for Debate และฝึกอบรมครูผู้สอนในการนำกิจกรรมลงสู่ชั้นเรียน ให้กับครูและผู้จัดการศูนย์ ERIC และ PEER จำนวน 6 จุดฝึกอบรมทั่วประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2559 เพื่อเป็นแกนนำในการเผยแพร่ ขยายผล ให้กับครูในพื้นที่ในการส่งเสริมทักษะ และกระบวนการของกิจกรรมโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษสู่การจัดกิจกรรม ทั้งในและนอกห้องเรียนให้นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้และทักษะของตนเองตามความสนใจและความถนัดต่อไป  และยังได้พัฒนาผู้ตัดสินการโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษให้มีศักยภาพและเกณฑ์การตัดสินที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเปิดเวทีการแข่งขันทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ

สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ดำเนินการขยายผลกิจกรรมลงสู่โรงเรียนตามภูมิภาคต่างๆ โดยมีวิทยากรแกนนำ สพฐ. เป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรม จำนวน 2 กิจกรรมได้แก่ 1. จัดฝึกอบรมผู้ตัดสินโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษ ระดับ สพฐ. และ 2. จัดการแข่งขันโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษ ประจำปี พ.ศ. 2562 (The National OBEC English Debate Competition 2019) ภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 and Globalization” โดยดำเนินการในช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2562 มีวัตถุประสงค์ เพื่อขยายผลองค์ความรู้กิจกรรมโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษให้เผยแพร่ในระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น และเพื่อมีเวทีให้กับนักเรียนและครูได้แสดงความสามารถของการใช้ภาษาอังกฤษระดับสูง และการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ การอภิปรายในเชิงเหตุและผล ในหัวข้อที่จะช่วยพัฒนานักเรียนและครูซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลกต่อไป 

ค่ายเยาวชน…รักษ์พงไพร

มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ  โดย ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการและเลขานุการ มีนโยบายให้สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ  
เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและพืชพรรณ รวมถึงเพื่อให้เยาวชนสามารถสัมผัสทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของป่าในเมือง และเพื่อปลูกจิตสำนึกให้เห็นถึงคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติเกิดความรักและหวงแหนร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามพระราโชบายของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  
ที่พระราชทานสวนแห่งนี้ให้ประชาชน  ตั้งแต่ปี 2553 มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้จัดตั้งโครงการ ห้องเรียนธรรมชาติในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ” โดยจัดกิจกรรมการศึกษาทรัพยากรธรรมชาติให้กับโรงเรียนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวนมากกว่า 3,000 คน  

ในปี 2558 มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้กำหนดดำเนินโครงการ ห้องเรียนธรรมชาติในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และแหล่งเรียนรู้ทรัพยากรและธรรมชาติ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้สถานศึกษาได้ใช้แหล่งเรียนรู้ทางทรัพยากรและธรรมชาติที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 29 แหล่งนี้  อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และ 8 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 5 สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน รวมถึงนโยบายค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการของรัฐบาล  อีกทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพการจัดฝึกอบรมเยาวชนในแหล่งเรียนรู้ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนี้ให้มีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสถาบันพระมหากษัตริย์  
ที่ทรงห่วงใยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อเยาวชนของไทยสืบไป