วันที่ 3 กรกฏาคม 2566 เวลา 14.00 น. นายฐณรินทร์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้เกียรติลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบ ณ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง กรุงเทพมหานคร พร้อมให้โอวาทแก่คณะผู้แทนนักเรียนไทย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการสอบแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประจำปี พ.ศ. 2566 : Bulgaria International Mathematics Competition 2023 (BIMC 2023) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 7 กรกฎาคม 2566 ณ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง และโรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร และเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาด้านการคิดวิเคราะห์ และส่งเสริมอัจฉริยภาพนักเรียนที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์อย่างเต็มตามศักยภาพ ได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้สู่เวทีวิชาการ ระดับนานาชาติ ต่อไป
ข่าวประชาสัมพันธ์
การแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประจำปี พ.ศ. 2566 : Bulgaria International Mathematics Competition 2023 (BIMC 2023) ผ่านระบบออนไลน์
วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายฐณรินทร์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน พร้อมกล่าวต้อนรับ ปฐมนิเทศ และชี้แจงเกณฑ์แนวทางการแข่งขันแก่คณะผู้แทนนักเรียนไทย การแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประจำปี พ.ศ. 2566 : Bulgaria International Mathematics Competition 2023 (BIMC 2023) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 7 กรกฎาคม 2566 ณ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง และโรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร
สัมมนาแลกเปลี่ยนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดการสัมมนาแลกเปลี่ยนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
โดย ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมพิธีเปิดการสัมมนาแลกเปลี่ยนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ดังกล่าว และได้มอบนโยบายการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน เพื่อส่งเสริม และพัฒนาทักษะ เจตคติ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน รวมทั้งเพื่อพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ด้านการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้กับผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครู เน้นการจัดการขยะนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด โมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) รวมถึงสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ให้เกิดนวัตกรรมการจัดการขยะที่ต้นทาง พร้อมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในสถานศึกษา การสัมมนาในครั้งนี้กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู จากกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสุพรรณบุรี จำนวน 250 คน
การประชุมปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกผลงานวิจัยดี มีคุณภาพ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบที่ 2
การประชุมปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกผลงานวิจัยดี มีคุณภาพ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นโดย กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เมื่อวันที่ 27 – 30 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท เขตบางพลัดกรุงเทพมหานคร การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกในรอบที่ 1 โดยมีผลงานวิจัยจำนวน 31 เรื่อง ซึ่งประกอบด้วย 1) ผลงานวิจัยประเภทบุคคล จำนวน 21 เรื่อง และ 2) ผลงานวิจัยประเภทหน่วยงาน จำนวน 10 เรื่อง ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ข้าราชการบำนาญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางการศึกษา 1) นางบุญชู ชลัษเฐียร อดีตที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) นางสาววีณา อัครธรรม อดีตที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย 1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิตเกิดทิพย์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 2) อาจารย์ ดร.ชวลิต ขอดศิริ อาจารย์คณะครุศาสตร์ ภาควิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (ศูนย์แม่ริม) และ 3) อาจารย์ ดร. มณเฑียร ชมดอกไม้ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาหลักสูตรและการสอน วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา และคณะทำงานจากส่วนกลางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะทำงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสิ้นจำนวน 20 คน ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกผลงานวิจัยในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่ผลงานวิจัยผ่านการพิจารณาคัดเลือกได้มานำเสนอในเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยในรอบตัดสินผลการประกวดงานวิจัยดี มีคุณภาพ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อไป







สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขับเคลื่อนการประชุมปฏิบัติการประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดี รายด้าน ประจำปี ๒๕๖๖ ระดับประเทศ ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี ๒๕๖๖
วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดีรายด้าน ประจำปี ๒๕๖๖ ระดับประเทศ ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี ๒๕๖๖ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๗ – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

โดยมี นายฐณรินทร์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดการประชุมในครั้งนี้

วัตถุประสงค์ เพื่อคัดเลือกผลงานแนวปฏิบัติที่ดีรายด้านของครู ทั้ง ๖ ด้าน ประกอบด้วย ๑) ด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัย ๒) ด้านการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ๓) ด้านการส่งเสริมอาชีพ ๔) ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ๕) ด้านคุณธรรมและจริยธรรม และ ๖) ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การประชุมปฏิบัติการประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดีรายด้าน ประจำปี ๒๕๖๖ ระดับประเทศในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลายหน่วยงานในการตัดสินการประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดีรายด้านของครู ประกอบด้วย ข้าราชการบำนาญ กระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการบำนาญ กระทรวงสาธารณสุข อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๕๔ คน และคณะทำงานส่วนกลาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน ๓๐ คน รวมทั้งสิ้น จำนวน ๘๔ คน

การคัดเลือกผลงานแนวปฏิบัติที่ดีรายด้าน จาก จำนวน ๑๙๕ โรงเรียนในโครงการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (กพด.) สังกัด ๔๘ เขตพื้นที่การศึกษา และเป็นตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี ๒๕๖๖ ในลำดับต่อไป




















โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการคิด เพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการโต้สาระวาที ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนโลก” ปีงบประมาณ ๒๕๖๖
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการโต้สาระวาที ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนโลก” มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิดขั้นสูงในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เกิดจิตสำนึกและความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งสร้างเครือข่ายพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างยั่งยืน
โดยมีรายละเอียดการแข่งขัน ดังนี้
ประเภทการแข่งขัน มี ๔ ประเภท ได้แก่
๑) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ – ๖ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)
๒) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๓ โรงเรียนขยายโอกาส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)
๓) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๓ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษ (สพม.)
๔) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ – ๖ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ – ๖ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)
การแข่งขัน แบ่งออกเป็น ๓ รอบ
๑) รอบคัดเลือก พิจารณาจากผลงานคลิปวีดิโอ หาผู้ชนะเข้าสู่ระดับภูมิภาค ประเภทละ ๘ ทีม ระหว่างเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม ๒๕๖๖
๒) รอบภูมิภาค กำหนดจัด ๖ ภูมิภาค ระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน ๒๕๖๖
๓) ระดับประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๗ รายละเอียดดังแนบ
เพื่อพัฒนาบุคลากร สพฐ. ประกอบด้วย นักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันและครูผู้ฝึกสอนให้มีความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ สามารถนำองค์ความรู้สู่การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงประชาสัมพันธ์เชิญชวนโรงเรียนในสังกัดที่มีความสนใจและสมัครใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ ผ่านทางเว็บไซต์ https://inno.obec.go.th/debate/
ดาวน์โหลดหนังสือราชการ คลิกที่นี่
การจัดทำข้อเสนอคำขออาสาสมัครญี่ปุ่น (สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา)
รับสมัครส่งแบบคำขอรับอาสาสมัครญี่ปุ่น!!
ด้วย กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือแจ้งว่า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย ได้แจ้งเปิดรับข้อเสนอคำขอรับอาสาสมัครญี่ปุ่น ประจำปี ๒๕๖๖ ให้แก่ หน่วยงานราชการต่าง ๆ ของไทย โดยในส่วนของ สพฐ. ได้เสนอให้ความร่วมมือด้านอาสาสมัครญี่ปุ่น จำนวน ๔ สาขา คือ การสอนวิทยาศาสตร์ สาขาการสอนภาษาญี่ปุ่น สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา และสาขาการศึกษาพิเศษ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์โรงเรียนที่ดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สนใจขอรับอาสาสมัครญี่ปุ่น ทั้งนี้ สามารถส่งแบบคำขอรับอาสาสมัครญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษในสาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา ผ่านระบบออนไลน์ คลิกที่นี่ ตั้งแต่บัดนี้ – วันที่ ๑๕ กรกฏาคม ๒๕๖๖
ดาวน์โหลดหนังสือราชการ คลิกที่นี่
กิจกรรม“ค่ายการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพริมคลองขนมจีน” ระหว่างวันที่ ๖ – ๘ มิถุนายน ๒๕๖๖ ณ โรงเรียนสาคลีวิทยา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มูลนิธิดับเบิ้ลยูดับเบิ้ลยูเอฟ ดำเนินโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำเป็นความร่วมมือกับ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จัดกิจกรรม“ค่ายการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพริมคลองขนมจีน” ระหว่างวันที่ ๖ – ๘ มิถุนายน ๒๕๖๖ ณ โรงเรียนสาคลีวิทยา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในวันอังคารที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ นายฐณรินทร์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิด “กิจกรรมค่ายการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพริมคลองขนมจีน” และมอบเกียรติบัตรให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำในฐานะโรงเรียนที่มีส่วนขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จำนวน ๗ โรงเรียน ณ โรงเรียนสาคลีวิทยา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้ง ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ (นางสาวนลินี จีนกูล) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกี่ยวกับความสำคัญของน้ำและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
การประชุมหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ ๗ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๑ มิถุนายน ๒๕๖๖
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และมูลนิธิชัยพัฒนา กำหนดจัดการประชุมหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ ๗ (The Seventh International Conference on Vetiver : ICV – 7) ภายใต้หัวข้อ “Vetiver for Soil and Water Conservation : in Commemoration of King Bhumibol Adulyadej the Great” ในรูปแบบ Onsite และ Online ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ พร้อมพระราชทานรางวัล The King of Thailand Vetiver Awards และทอดพระเนตรนิทรรศการ การวิจัยและส่งเสริมประโยชน์จากหญ้าแฝกจาก ๓๒ หน่วยงาน ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ และร่วมพิธีเปิดการประชุม ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมากจากพระราชดำริ (ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) พร้อมทั้งรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด) ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ (นางสาวนลินี จีนกูล) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริม ขยายผล เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่
การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง
การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง ระหว่างวันที่ 16 – 17 พฤษภาคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์
สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ร่วมกับ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand : SWP) และ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ร่วมดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการเรียนรู้ด้วยหุ่นยนต์เสมือนจริงและการฝึกอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง มีโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง ระดับพื้นฐาน เมื่อวันที่ 16 – 17 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 137 โรงเรียน โดยโรงเรียนทั้งหมดจะได้รับสิทธิ์ในการอบรมต่อระดับสูง ในวันที่ 1 – 2 มิถุนายน 2566 ผ่านระบบออนไลน์
โดยกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง เป็นการแข่งขันในลักษณะการจำลองสนามให้มีอุปสรรคกีดขวางระหว่างทางและหุ่นยนต์จะต้องหาผู้ประสบภัยจำลองได้โดยอัตโนมัติบนระบบออนไลน์ เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ การลงมือทำ และการแก้ปัญหาในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ให้สามารถทำงานหรือใช้ประโยชน์ได้ตรงความต้องการ เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี
ในการนี้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ยังได้จัดทำแนวทางการจัดทำแนวทางการจัดการเรียนรู้ด้วยหุ่นยนต์เสมือนจริง เพื่อเป็นแนวทางในการนำร่อง และขยายผลกิจกรรมนี้ไปใช้ในการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 และเป็นเวทีให้ตัวแทนนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันที่ทำให้เรียนรู้ในหลายมิติทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และสมรรถนะในการแก้ปัญหา ช่วยในการฝึกคิด วิเคราะห์ ทำให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งสมรรถนะพื้นฐานของผู้แข่งขัน ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม https://inno.obec.go.th/robosim
เลื่อนการประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาจิตสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด สำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ 2 เป็นภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566
เนื่องจาก สพฐ. ได้ขยายเวลาในการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาจิตสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด สำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ 2 โดยปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00 น. สพฐ. จึงขอ
เลื่อนการประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาจิตสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด สำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ 2
เป็นภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566
โดยจะดำเนินยืนยันกลับไปยัง E-mail ที่จัดส่งข้อมูลการรับสมัครเข้ามา ทางโครงการต้องขอประทานอภัยมา ณ โอกาสนี้
การอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน รุ่นที่ ๒
กลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน รุ่นที่ ๒ อบรมครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังกัด สพป. และ สพม. ระหว่างวันที่ 9 – 11 พฤษภาคม 2566 จำนวน 300 คน ในรูปแบบออนไลน์ และได้รับเกียรติจาก ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และนางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่รักษาการผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมดังกล่าวการอบรมครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยงาน ภายใต้ความร่วมมือ โครงการส่งเสริมการศึกษาด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ให้เกิดความตระหนัก มีองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วภายหลังการบริโภคตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นกำลังในการวางรากฐานการศึกษาสู่เป้าหมายการสร้างสังคมแห่งการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน พัฒนานวัตกรรมการศึกษาด้านสื่อการเรียนรู้ และวิธีการจัดการเรียนการสอน ช่วยให้การศึกษาและการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมและในส่วนที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยมีคณะทำงาน จำนวน 51 คน ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้เกี่ยวข้อง