ข่าวประชาสัมพันธ์

สพฐ.วางแผนพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน

นายสนิท  แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ณ ห้องประชุม DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อวางแผน และกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งในส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 140/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน ตามประกาศเจตนารมณ์ของสภานักเรียนระดับประเทศ และคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ. 368/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน  โดยได้มีการวางแผนดำเนินงานขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดขยะ สพฐ. ได้แก่ การเผยแพร่ความรู้ การจัดกิจกรรม Train the Trainer กิจกรรม Zero waste camp และการจัดการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ( Digital Education Excellence Platform : DEEP)  และ OBEC Content Center เป็นต้น โดยใช้ผลการประเมินตนเองในการดำเนินงานของ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลด้านการบริหารจัดการและสร้างวินัยในการลดและคัดแยกขยะภายใต้แนวคิดโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) 

ทฤษฎี 7 โมดุล สู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ของโรงเรียนหนองบัวละครวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต31

           

       โรงเรียนหนองบัวละครวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต31 ซึ่งเป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลที่ได้นำแนวทางการบริหารจัดการศึกษาใน 7 โมดุล มาใช้ในสถานศึกษาโดยได้นำรูปแบบที่ 4 นั่นคือ รูปแบบการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจพอเพียงมาใช้ในสถานศึกษา โดยจะจัดการเรียนรู้ใน 2 ลักษณะ คือ 1) จัดในรายวิชาเพิ่มเติมในโครสร้างหลักสูตร ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย 2) จัดในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมชุมนุมนักธุรกิจน้อย


แนวทางการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2563

 

ด้วย กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมีกรอบการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ จำนวน 3 ระยะ ได้แก่ ต้นทาง คือ การลดปริมาณขยะและการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง กลางทาง คือ การจัดทำระบบเก็บขนอย่างมีประสิทธิภาพ และปลายทาง คือ ขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง
ตามหลักวิชาการ โดยใช้หลักการ 3 ช : ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ 3Rs : Reduce Reuse Recycle ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย แจ้งว่าแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงขอความร่วมมือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แผนปฏิบัติการฯ ให้แก่หน่วยงานในสังกัดทราบ เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยของประเทศมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564)
จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปีพ.ศ. 2563 ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กรอบการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการจัดการขยะต้นทาง ด้านการจัดการขยะกลางทาง และด้านการจัดการขยะปลายทาง
2. เป้าประสงค์ คือ
2.1 ขยะมูลฝอยมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
2.2 ขยะมูลฝอยตกค้างสะสมได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
2.3 ขยะมูลฝอยได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพิ่มขึ้น
2.4 ขยะอันตรายได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพิ่มขึ้น
2.5 ประชาชนในพื้นที่มีความตระหนักและความเข้าใจในการจัดการขยะที่ต้นทางเพิ่มขึ้น
2.6 การดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสุขภาวะที่ดีของท้องถิ่นและจังหวัด
3. ตัวชี้วัดเป้าประสงค์ ได้แก่
3.1 ด้านการจัดการขยะต้นทาง
3.1.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 100 ออกข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ
การจัดการขยะมูลฝอย
3.1.2 ครัวเรือน ร้อยละ 100 มีการบริหารจัดการขยะอินทรีย์
3.1.3 ครัวเรือน ร้อยละ 60 เข้าร่วมเครือข่าย “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก”
เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอย

3.2 ด้านการจัดการขยะกลางทาง
3.2.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 100 มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอย
แบบแยกประเภทในที่สาธารณะและหรือสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง
3.2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 85 มีการวางระบบการเก็บขน
หรือมีประกาศ เก็บขนขยะมูลฝอยให้สอดคล้องกับพื้นที่
3.2.3 หมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 100 มีการจัดตั้ง “จุดรวบรวมขยะอันตรายชุมชน”
3.3 ด้านการจัดการขยะปลายทาง
3.3.1 ขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นและเก็บขนได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
ร้อยละ 80 ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
3.3.2 ขยะมูลฝอยตกค้างได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 100
3.3.3 กลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 100 ในแต่ละจังหวัดมีการจัดทำแผนการจัดการขยะมูลฝอย โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยจังหวัด
รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2563
ให้กับโรงเรียนในสังกัดทราบต่อไป

 

โดยสามารถดาวน์โหลด เอกสาร ตามรายละเอียดด้านล่างนี้

ขยายเวลาการส่งผลงานโครงการประกวดบรรจุภัณฑ์วัสดุทดแทนถุงเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนถึง 30 ก.ย. 63

กรมป่าไม้ ขอเชิญนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดบรรจุภัณฑ์วัสดุทดแทนถุงเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชิงเงินรางวัล พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร

หลักเกณฑ์

บรรจุภัณฑ์ที่ส่งเข้าประกวดต้องระบุรายละเอียดวัสดุที่นํามาใช้ ขั้นตอนและวิธีการผลิต รวมถึงต้นทุนการผลิตอย่างถูกต้องครบถ้วน
วัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องเป็นวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและบรรจุภัณฑ์ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ในระยะเวลา ประมาณ 1 ถึง 2 ปี
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ต้องมีต้นทุนมูลค่าโดยเฉลี่ยไม่เกิน 0.85 บาท ต่อ 1 หน่วยบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถ รองรับการผลิตจํานวนมาก 1 ล้านชิ้น และกรมป่าไม้สามารถนํามาใช้ในการเพาะชํากล้าไม้ได้จริงในอนาคต
มีการนําเสนอบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สําหรับการทดสอบอย่างน้อย 50 ชิ้น ซึ่งต้องเป็นวัสดุที่ใช้ในการ เพาะชํากล้าไม้ได้จริง และมีปริมาตรการบรรจุวัสดุเพาะชํากล้าไม้ตั้งแต่ 250 ถึง 300 ลูกบาศก์เซนติเมตร

 

ส่งใบสมัครพร้อมผลงาน

ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่บัดนี้ – วันที่ 30 กันยายน 2563
ส่งที่ ส่วนผลิตกล้าไม้ สานักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้
เลขที่ 61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว
เขตจตุจักร กรุงเทพ ฯ 10900
(วงเล็บมุมซองโครงการประกวดบรรจุภัณฑ์วัสดุทดแทนถุงเพาะชากล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
รางวัลการประกวด
รางวัลแบ่งตามผู้เข้าประกวดเป็น 3 ประเภท คือ ระดับมัธยมศึกษา หรืออาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งแต่ละประเภทจะได้รับการมอบรางวัลจากอธิบดีกรมป่าไม้ ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ โล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเงินรางวัล มูลค่า 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โล่รางวัลจากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเงินรางวัล มูลค่า 20,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โล่รางวัลจากอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมเงินรางวัล มูลค่า 10,000 บาท
รางวัลชมเชย จํานวน 3 รางวัล แต่ละรางวัลจะได้รับเกียรติบัตร จากกรมป่าไม้และเงินรางวัล มูลค่า 5,000 บาท
ติดต่อสอบถาม

ฝ่ายพัฒนากล้าไม้ ส่วนผลิตกล้าไม้ สานักส่งเสริมการปลูกป่า
โทรศัพท์ : 0 2561 4292-3 ต่อ 5517/5520

การประชุมปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 23 – 27 มีนาคม 2563 กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้จัดประชุมปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยการจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการร่วมกันพิจารณาข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์การพิจารณา  4 ด้าน 1) ด้านความสำคัญและความจำเป็น 2) ด้านวัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับ 3) ด้านการสังเคราะห์ สรุปและนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และ 4) ด้านความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจกรรมของโครงการ ซึ่งมีข้อเสนอโครงการที่ส่งเข้ามาเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานตามโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งสิ้น จำนวน 309 โครงการ จาก 39 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการดังกล่าว ซึ่งได้กำหนดการประกาศผลการพิจารณาไว้ภายในเดือนเมษายน 2563

 

 

 

 

 

 

 

ประกาศผลการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2563 (รอบสอง ระดับประเทศ)

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เรื่อง ประกาศผลการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2563 (รอบสอง ระดับประเทศ)

**********************

ประกาศ สพฐ. เรื่องผลการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2563 (ดาวน์โหลดเอกสาร) 

ประกาศผลการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2563 (รอบสอง ระดับประเทศ)
– วิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา   (ดาวน์โหลดเอกสารแนบท้าย 1)
– วิชาคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา    (ดาวน์โหลดเอกสารแนบท้าย 2)
– วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา   (ดาวน์โหลดเอกสารแนบท้าย 3)

 

การประชุมปฏิบัติการจัดทำเกณฑ์โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ คู่มือการจัดกิจกรรมโรงเรียนประเมินตนเอง และจัดโครงร่างงานวิจัยระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา)

เมื่อวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2563 กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้จัดประชุมปฏิบัติการจัดทำเกณฑ์โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ คู่มือการจัดกิจกรรมโรงเรียนประเมินตนเอง และจัดทำโครงร่างงานวิจัยระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากท่านวิทยากร รองศาสตราจารย์สิริพันธุ์  สุวรรณมรรคา ข้าราชการบำนาญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบรรยายให้ความรู้และทำกิจกรรมเกี่ยวกับคุณลักษณะและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) อาจารย์วิฑูรย์ นาสารีย์ ข้าราชการบำนาญ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ ให้เกียรติมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคู่มือการจัดกิจกรรมการประเมินตนเองอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมโรงเรียนประเมินตนเองอย่างมีส่วนร่วม จัดทำเกณฑ์คุณภาพโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และจัดทำโครงร่างงานวิจัยและพัฒนาโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ โดยผู้เข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการจัดทำเกณฑ์โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ คู่มือการจัดกิจกรรมโรงเรียนประเมินตนเอง และจัดทำโครงร่างงานวิจัยระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ ศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบงานด้านการวัดและประเมินผลทางการศึกษาหรือด้านการวิจัยจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 34 เขต และบุคลากรในสังกัด สพฐ. ซึ่งกิจกรรมการประชุม ประกอบด้วย การรับฟังบรรยายความรู้จากวิทยากรและแบ่งกลุ่มปฏิบัติการทำกิจกรรม ได้แก่ 1) จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมโรงเรียนประเมินตนเองอย่างมีส่วนร่วม 2) จัดทำเกณฑ์คุณภาพโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ 3) จัดทำโครงร่างงานวิจัยและพัฒนาโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ โดยมีวิทยากรประจำกลุ่มเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินการและกำหนดปฏิทินการจัดกิจกรรมโรงเรียนประเมินตนเอง ณ โรงเรียนนำร่องโครงการ และในวันสุดท้ายของการประชุมปฏิบัติการจัดทำเกณฑ์โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ คู่มือการจัดกิจกรรมโรงเรียนประเมินตนเอง และจัดทำโครงร่างงานวิจัยระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้รับเกียรติจากท่านเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ให้เกียรติมามอบนโยบายในการดำเนินงานโครงการโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมเพื่อนำไปเป็นแนวทางการในการดำเนินงานต่อไป

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน ตามประกาศเจตนารมณ์ของสภานักเรียน ระดับประเทศ ครั้งที่ 1/2563

                         จันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 10 ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนตามประกาศเจตนารมณ์ของสภานักเรียน ระดับประเทศ โดยมีผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาคเอกชนหลายองค์กร มาร่วมระดมความคิด วางแผนการดำเนินงาน และผลักดันการขับเคลื่อนการดำเนินการลดขยะในโรงเรียนทั่วประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียนและชุมชน 

 

 

สพฐ.สร้างองค์ความรู้ตามแนวทางการดำเนินการตามาตรการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ และการจัดการขยะและบุรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในสำนักงาน

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563  ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา  ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมและประชุมชี้แจงสร้างองค์ความรู้ตามแนวทางการดำเนินการตามมาตรการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ  และการจัดการขยะและบุรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในสำนักงาน  ณ ห้องประชุมเธียเตอร์ ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ

ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำพลาสติกและโฟมมาใช้ในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งพลาสติกและโฟมเหล่านี้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยากเมื่อไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก และทางทะเล รวมทั้งปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก

ตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 มีมติเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินงานพร้อมกันทั่วประเทศในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 กิจกรรมภายใต้โครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ  ลดภัยสิ่งแวดล้อม” โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดเพิ่มเติมในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ และกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เล็งเห็นความสำคัญในปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งควรสร้างความตระหนักตั้งแต่เยาวชนของชาติจนถึงข้าราชการและบุคลากรในส่วนกลางและเขตพื้นที่การศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ เพื่อให้สำนักในส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ในสังกัด มีการดำเนินงานด้านการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในอาคารและพื้นที่ ของหน่วยงาน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแต่ภาคเอกชนและประชาชนในการมีส่วนร่วม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ขยะพลาสติก และโฟม ในภาพรวมของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดแนวทางและมาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงาน ดังนี้

1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลด คัดแยกขยะมูลฝอย เพื่อนำไปสู่วินัยในการลดใช้ถุงพลาสติก และโฟม

2) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเป็นหน่วยงานต้นแบบ ในการลด คัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงาน และลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว และโฟม

3) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะสร้างความตระหนักและส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานในสังกัด ในการร่วมลด คัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงาน ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว และโฟม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม

4) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะกระทำเป็นตัวอย่างในการลดเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว โฟม และพลาสติกอื่น ๆ เพื่อลดขยะอย่างจริงจัง รวมทั้งจะใช้หลักการ 3R คือ ใช้น้อยหรือลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) ในการจัดการขยะที่เกิดขึ้น ประธานในพิธีกล่าว

โดยมีบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนแม่บ้านทำความสะอาดประจำสำนักงาน สพฐ. เพื่อสร้างความรู้ และสามารถนำไปปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการตามาตรการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานของรัฐต่อไป โดยมีเป้าหมาย ผู้เข้ารับการอบรมฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วยบุคลากรส่วนกลาง จำนวน 85 คน แม่บ้านทำความสะอาด 25 คน และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 10 คน  รวมทั้งสิ้น 120 คน

ที่มา : http://zerowaste.eesdobec.com/?p=337