วันที่ 1 เมษายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ หน่วยงานองค์กรภาคเอกชนจากมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี (Connext ed) จัดการประชุมปฎิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อการบริหารจัดการโรงเรียน ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2564 ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน วางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงาน จัดทำกรอบการปฏิบัติงานคณะทำงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการกลั่นกรองแผนพัฒนาโรงเรียน คณะกรรมการด้านกรอบงานวิจัยของโครงการคอนเน็กซ์อีดี และคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานโรงเรียนภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี พร้อมทั้งจัดทำปฏิทินการปฏิบัติงาน ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วยคณะทำงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 86 คน ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจากว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงศ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการประชุม
ข่าวประชาสัมพันธ์
การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 รุ่นที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 รุ่นที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น
วันที่ 30 มีนาคม 2564 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการการศึกษา โดยกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 4 รุ่น โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นจุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานการจัดการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ (คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา) ประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีแนวทางเดียวกัน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนทั้งสิ้น 76 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 61 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 15 เขต โดยได้รับเกียรติจาก ดร. อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม นายจักราวุธ สอนโกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น และนายศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4 ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการประชุมดังกล่าวฯ
การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่าย และพัฒนาระบบนิทรรศการเสมือนจริงในรูปแบบออนไลน์ (Active Learning Virtual Exhibitions)
วันนี้ (30 มีนาคม 2564) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่าย และพัฒนาระบบนิทรรศการเสมือนจริงในรูปแบบออนไลน์ (Active Learning Virtual Exhibitions) ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 3 เมษายน 2564 ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อยกร่างนวัตกรรมการเรียนรู้ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่าย และถอดบทเรียนแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่ายในมิติต่างๆ รวมทั้งพัฒนาระบบนิทรรศการเสมือนจริงในรูปแบบออนไลน์ (Active Learning Virtual Exhibitions)
ทั้งนี้ ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้มอบหมายให้ ดร.สมพร
สามทองกล่ำ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน เป็นประธานในพิธีเปิด และบรรยายพิเศษ เรื่อง ทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งกล่าวถึงการนำเสนอนโยบายการจัดการศึกษา 12 ข้อ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคีเครือข่าย ผู้แทนโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ Active Learning ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้ Active Learning ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสื่อสารสนเทศ คณะทำงาน สพฐ. และผู้เกี่ยวข้อง
อีกทั้ง ภายในการประชุมดังกล่าวได้มีกิจกรรม Our AL Wow! Wow! Wow! เพื่อหาความหมายและประเภทของ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่าย และกิจกรรม Good Cases Sharing เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ Active Learning ของแต่ละโรงเรียน
การประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกข้อเสนอโครงการผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่และการคัดเลือกภาพวาดจินตนาการอนาคต
วันที่ 22-26 มีนาคม 2564 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มโครงการพิเศษ ได้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกข้อเสนอโครงการผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่และการคัดเลือกภาพวาดจินตนาการอนาคต ระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยการจัดการประชุมในครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ภายใต้หัวข้อ Inventions for Sustainable Development Project และภาพวาดจินตนาการอนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ Science for Sustainable Development Project ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แจ้งโรงเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมส่งผลงานเข้าร่วมการคัดเลือก/ประกวด/แข่งขัน ตามเงื่อนไขข้อปฏิบัติการส่งผลงาน และระยะเวลาที่กำหนดทางเว็บไซต์ http://obecyounginventor.innoobec-project.com
การดำเนินงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมพิจารณาข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ภายใต้หัวข้อ Inventions for Sustainable Development Project จำนวน 218 ข้อเสนอโครงการ ประกอบด้วย 8 ประเภทผลงานได้แก่
- เทคโนโลยีที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology) จำนวน 51 ผลงาน
- อาหารและเกษตรกรรม (Food and Agriculture) จำนวน 45 ผลงาน
- ความปลอดภัยและสุขภาพ (Safety and Health) จำนวน 44 ผลงาน
- เทคโนโลยีสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ (Technology for Special Need) จำนวน 19 ผลงาน
- การจัดการกับภัยพิบัติ (Disaster Management) จำนวน 12 ผลงาน
- การศึกษาและนันทนาการ (Education and Recreation) จำนวน 18 ผลงาน
- เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Aerospace and Aviation) จำนวน 3 ผลงาน
- ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (Artificial Intelligence and Automation System) จำนวน 26 ผลงาน
และภาพวาดจินตนาการอนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ Science for Sustainable Development Project จำนวน 256 ผลงาน โดยในปี้นี้ได้เพิ่มเติมประเภทของการวาดภาพในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มเติมจากประเภทการวาดภาพบนกระดาษวาดเขียน (โดยไม่จำกัดเทคนิคการวาด) โดยกิจกรรมนี้ไม่ได้วัดความสามารถในด้านศิลปะเป็นหลัก แต่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้แสดงออกถึงจินตนาการที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อที่กำหนด
ผลงานที่ได้รับการคัดเลือก ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะสนับสนุนงบประมาณให้ทีมนักเรียนเจ้าของผลงานได้พัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบความสนองความต้องการของชุมชนและสังคม และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมีการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ International Exhibition for Young Inventor (IEYI 2021) โดยในปีนี้ สาธารณรัฐจีน (ประเทศไต้หวัน) เป็นเจ้าภาพจัดงานในลักษณะ Virtual Contest ในเดือนกันยายนนี้
การบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ (ภาคเหนือ)
ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ จำนวน ๕ ภูมิภาค ระหว่างวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นที่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่
ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ นิติกร ผู้รับผิดชอบโครงการฯ คณะทำงานจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง บุคลากรจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ระดับภาคและระดับจังหวัด และโรงเรียนที่ดำเนินกิจกรรมบริษัทสร้างการดี เป็นต้น
วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ และบรรยายพิเศษ เรื่อง ปัญหาการทุจริตในวงการศึกษาไทย เช่น ปัญหาการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาการทุจริตอาหารกลางวัน นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ความมั่งคงด้านอาหาร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาจากมลพิษทางอากาศภาวะฝุ่น PM ๒.๕ ปัญหาการแพร่ระบาดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา – ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) ที่มีผลต่อการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันและปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในด้านต่างๆ การป้องกัน ป้องปราม และปราบปราม ส่วนใหญ่เป็นหลักการป้องปราม มากกว่าปราบปราม เป็นต้น
ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้แนวคิดและแนวทางการดำเนินงานกิจกรรมตามโครงการแก่ผู้รับผิดชอบ สร้างความเข้าใจให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔
ดร. จักรพงษ์ วงค์อ้าย ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารทั่วไป สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสุจริต ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสุจริต ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ และความสอดคล้องของกิจกรรมโครงการที่รับผิดชอบ
การประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรที่มาถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ การดำเนินกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนสุจริต จากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษานิเทศก์ วิทยากรจากส่วนกลาง (สพฐ.) และ วิทยากรจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการบริษัทสร้างการดี จากโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ใส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต ๑ นำเสนอนิทรรศการและออกบูธผลิตภัณฑ์
การประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ “โรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ”
การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 รุ่นที่ 2 ภาคใต้
วันที่ 23 มีนาคม 2564 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการการศึกษา โดยกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 4 รุ่น โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นจุดภาคใต้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 25 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานการจัดการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ (คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา) ประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีแนวทางเดียวกันซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 30 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 6 เขต โดยได้รับเกียรติจาก ดร. อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และนางจิณณาภักดิ์ มักคุ้น รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 2 เป็นเกียรติร่วมพิธีเปิดการประชุมดังกล่าวฯ
การประชุมปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา ดำเนินการจัดประชุมปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 17-20 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยในวันที่ 19 มีนาคม 2564 ได้รับเกียรติจากท่านรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา) ให้เกียรติมามอบนโยบายแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ของผู้บริหารสถานศึกษา และครูในสังกัดที่ได้ส่งข้อเสนอโครงการมาเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 225 โครงการ ประกอบด้วยข้อเสนอโครงการจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 161 โครงการ และข้อเสนอโครงการจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 64 โครงการ และเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของงบประมาณในการสนับสนุนข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย คณะทำงานจากส่วนกลาง สพฐ. คณะทำงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และข้าราชการบำนาญ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา โดยกิจกรรมการการประชุมประกอบด้วย การจัดทำเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ การแบ่งกลุ่มพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ / นวัตกรรม การพิจารณาความเหมาะสมของงบประมาณ การนำเสนอข้อมูลข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ที่ผ่านการพิจารณา การจัดทำรายละเอียดข้อเสนอโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ จัดลำดับผลการพิจารณา และการสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณา ทั้งนี้เพื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานกับข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาได้อย่างเหมาะสมต่อไป
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ลงพื้นที่โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยาเพื่อตรวจสอบบริบทโครงสร้างความขาดแคลนและความต้องการของโรงเรียนเชิงประจักษ์
การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณานวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและระดับเขตตรวจราชการ
ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณานวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและระดับเขตตรวจราชการ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ โรงแรมแกรนด์ฮาวเวิร์ด กรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาและสังเคราะห์นวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหารและครู โดยผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ประกอบด้วย ข้าราชการบำนาญกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ บุคลากรทางการศึกษาและคณะทำงานจากส่วนกลาง (สพฐ.)
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ชวลิต โพธิ์นคร อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเครื่องมือวัดผล สพฐ. เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย ดร.สิริมา หมอนไหม อดีตรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยทางการศึกษา และ นางนิรมล บัวเนียม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสายน้ำทิพย์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ที่ได้ให้แนวคิดในการพิจารณานวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี และการสังเคราะห์นวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ผลการพิจารณาและสังเคราะห์นวัตกรรม ในแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและเขตตรวจราชการ จะนำไปใช้ในการยกระดับคุณภาพของนวัตกรรมสร้างสรรค์คนดีที่ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ และจัดทำเป็นคลังนวัตกรรมคุณธรรม จริยธรรม และเผยแพร่ต่อผู้ที่สนใจต่อไป