ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นชอบให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ดำเนินโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1 + 2 + 1” สำหรับการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน รุ่นที่ 2 ภายใต้โครงการเปิดโลกเยาวชนไทยก้าวไกลสู่นานาชาติ โดยเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการ ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 31 พฤษภาคม 2565 รายละเอียดเพิ่มเติมตาม QR code
ข่าวประชาสัมพันธ์
การประชุมเตรียมความพร้อมผู้รับผิดชอบและชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 09.30 น. ดร. อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิด การประชุมเตรียมความพร้อมผู้รับผิดชอบและชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านโปรแกรม Zoom โดยมอบนโยบายในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ให้แก่ ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษาผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 คน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้รับฟังบรรยายพิเศษจาก ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ในหัวข้อ ความเป็นมาและหลักการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. รวมถึงรับฟังการบรรยาย แนวทางการขับเคลื่อนโครงการและรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมจากวิทยากรอีก 2 ท่าน คือ ดร.จักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ 2565 นับเป็นจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการพัฒนานักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาในปีนี้อีกด้วย
การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ (online)
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. – 12.00 น. ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความเป็นมานโยบายการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ Quick Win” และ ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ ได้บรรยายในหัวข้อ “ก้าวที่กล้าสู่การขับเคลื่อนนโยบายการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่” โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนชุมชนแห่งการเรียนรู้ประกอบด้วย ดร.ภูริวรรษ คําอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา ศึกษานิเทศก์และครู ของ สพป. และ สพม. จำนวน 15 เขต รวมทั้งสิ้น 60 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และเปิดมิติการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ ซึ่งสรุปผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดประสบการณ์การสอนประวัติศาสตร์ ดังนี้ ร้อยละ 80 ของความคิดเห็นของศึกษานิเทศก์และครู ที่ได้ดำเนินการนิเทศ และติดตามการสอนของครูประวัติศาสตร์ คือ (1) ครูมีความต้องการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เข้าถึงเนื้อหาได้ทุกที่ไม่จำกัด ให้นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ใช้วิธีการประวัติศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้อง (2)ครูต้องการฝึกวิเคราะห์ และหาความเชื่อมั่นของข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลที่ได้จาก Internet (3) ความรู้จริง ที่เป็นกลาง กระตุ้นคิดสิ่งที่นักเรียนสนใจ และปฏิบัติได้จริงทั้งครูและนักเรียน และ (4) สอนให้ตระหนัก วิจารณ์ และวิพากษ์ เพื่อให้รู้ว่าเรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไร และต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
นักเรียนทุนในโครงการเปิดโลกเยาวชนไทยก้าวไกลสู่นานาชาติ (The C21 Scholarship OBEC) ออกเดินทางเพื่อศึกษาต่อในหลักสูตร University Foundation Programme (UFP) เป็นระยะเวลา 1 ปี ด้วยทุนการศึกษา 60% ณ CATS Canterbury School ประเทศอังกฤษ
วันที่ 16 ตุลาคม 2564 กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ส่งนักเรียนทุนในโครงการเปิดโลกเยาวชนไทยก้าวไกลสู่นานาชาติ (The C21 Scholarship OBEC) ได้แก่ นางสาวปวริศา สายหยุด โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ออกเดินทางโดยสายการบินไทย สู่ CATS Canterbury School ประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาต่อในหลักสูตร University Foundation Programme (UFP) เป็นระยะเวลา 1 ปี ด้วยทุนการศึกษา 60% และยังมีนักเรียนในโครงการอีก 2 คน อยู่ระหว่างการเตรียมตัวเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ปลายปีนี้
การประชุมชี้แจงการใช้คู่มือเกณฑ์การประเมินมาตรฐาน รร.สิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผลการตัดสินการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ระดับประเทศ
การประชุมสร้างความเข้าใจในการประเมินโรงเรียนภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project)
การประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการยุวทูตความดี ฝึกจิตอาสา สานต่อปณิธานความดี ร่วมแรงร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19 (ระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์)
วันนี้ (20 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 – 12.00 น.) กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการจัดประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการยุวทูตความดี ฝึกจิตอาสา สานต่อปณิธานความดี ร่วมแรงร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19 (ระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์) มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานให้กับบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน จำนวน 106 เขต ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายของโครงการ
ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และให้คำสำคัญว่า “การสร้างเด็กให้เป็นคนดี โดยเฉพาะการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดี ในด้านคุณธรรมจริยธรรม การฝึกจิตอาสา และการมีจิตสาธารณะนั้น มีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน”
ดร.สมพร สามทองกล่ำ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยทางการศึกษา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการยุวทูตความดีที่ได้ดำเนินงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศมาอย่างยาวนานตลอด 22 ปี ในกิจกรรม “เล่าขานตำนานยุวทูตความดี” โดยมีใจความสำคัญหนึ่งกล่าวว่า “ยุวทูตความดี คือ นักการทูตน้อยในการสร้างความดีและส่งต่อความดี แต่การสร้างยุวทูตความดีเพื่อให้เป็นพลเมืองดีของโลกนั้น เราไม่สามารถดำเนินการได้เองเพียงลำพัง เราต้องมีเพื่อนร่วมเดินทางด้วย จึงจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ดังเช่นปัจจุบัน”
กิจกรรมการนำเสนอภาพความสำเร็จ “Shared & Learn : Success School of Good Young Ambassadors” เป็นการนำเสนอภาพความสำเร็จในการดำเนินงานของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการยุวทูตความดีที่ผ่านมา
กิจกรรม “22 ปี ยุวทูตความดี-เมล็ดพันธุ์ที่ผลิดอก ออกใบ” ซึ่งได้ยุวทูตความดีในวัยเยาว์ จำนวน 3 ท่าน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำความดี ดังนี้ (ดำเนินรายการโดย ดร.วสันต์ สุทธาวาศ)
ศน.ปุณยวัจน์ ขอบทอง ศึกษานิเทศก์ สังกัด สพป.สุโขทัย เขต 2
“คนเรามีพื้นฐานความดีอยู่ในตัวตั้งแต่เกิด แต่เรามักจะไม่รู้จักวิธีแสดงออกมา” การได้เข้าร่วมโครงการยุวทูตความดีมาตั้งแต่เด็กทำให้เรารู้ว่าเราเองก็เป็นคนดีและรู้จักการทำความดีว่าควรทำอย่างไร ส่งผลให้เป็นคนใฝ่ดีไปด้วยในทุกๆเรื่องของการดำเนินชีวิต
ครูโชติรส ตระกูลกำเนิด ครูโรงเรียนบางสะพาน สังกัด สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1
“ทุกครั้งที่ได้เห็นเข็มยุวทูตความดี จะก่อให้เกิดแรงกระตุ้นและมีความมุ่งมั่นอยากที่จะทำความดีให้สมกับการได้รับโอกาสให้เป็นยุวทูตความดี” การได้เข้าร่วมโครงการยุวทูตความดีมาตั้งแต่เด็กทำให้เราอยากส่งต่อความดีให้กับเด็กนักเรียนของเราและคนรอบข้างไปด้วย เพื่อให้เราได้อยู่ร่วมกันในสังคมที่ดีอย่างมีความสุข
อาจารย์นพพร แสงอาทิตย์ นักวิชาการศึกษา สังกัด สพฐ.
“เก่งแค่ไหน ถ้าไม่มีความดี ก็เจริญงอกงามไม่ได้” การได้เข้าร่วมโครงการยุวทูตความดีมาตั้งแต่เด็กทำให้ได้รับโอกาสดีๆ ในชีวิตหลายอย่าง รวมทั้งได้ยึดเอาความดีเป็นที่ตั้งในการทำสิ่งต่างๆ ทั้งเรื่องงานและการใช้ชีวิต
กิจกรรมการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการยุวทูตความดี ฝึกจิตอาสา สานต่อปณิธานความดี ร่วมแรงร่วมใจ ต้านภัย Covid-19 โดย อาจารย์ณัฐชยา เม็นไธสง รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน และอาจารย์จิราพร บุญมีพิพิธ ผู้รับผิดชอบโครงการยุวทูตความดี
กิจกรรม“ยุวทูตแบ่งปันเรื่องเล่าดีๆ ในช่วงสถานการณ์ Covid-19” เป็นกิจกรรมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำความดีของโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ดร.สมพร สามทองกล่ำ กล่าวปิดการประชุมครั้งนี้ พร้อมกล่าวถึงการ “สืบสาน ปณิธาน ความดี” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการทำความดีต่อไป
Live สด โครงการ Good Food for All กินดี อยู่ดี ในโรงเรียนวิถีพุทธ : อาหารที่ลดการเบียดเบียนและส่งเสริมสุขภาพจากพืช (cruelty-free, plant-based diet)
การอบรมเชิงปฏิบัติการขยายผลการจัดการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนนำร่องเครือข่าย “ศาสตร์แห่งการเรียนรู้รักษ์ป่าน่านอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการรักษ์ป่าน่าน อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษในการอบรมเชิงปฏิบัติการขยายผลการจัดการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนนำร่องเครือข่าย “ศาสตร์แห่งการเรียนรู้รักษ์ป่าน่านอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการรักษ์ป่าน่าน อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทางออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom Meeting โดยให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกให้กับนักเรียนและร่วมมือกับเครือข่าย และการเข้าถึงกับชุมชนในการอนุรักษ์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ และครั้งนี้ ดร.สมพร สามทองกล่ำ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานาวัตกรรมการจัดการศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยทางการศึกษา ได้ให้แนวทางการดำเนินงานโครงการรักษ์ป่านน่าน ให้เกิดจากห้องเรียนไปสู่ชุมชนและปรับตัวโดยใช้โอกาสในการจัดการเรียนการสอนตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) “ทุกอย่างคือการเรียนรู้”
การประชุมครั้งนี้ ดำเนินการโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 2 ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 2 และคณะผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู ใน 24 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนขยายผล มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอด และชี้แจงแนวทางในการขยายผลของโรงเรียน