ข่าวประชาสัมพันธ์

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง กรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์

ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เห็นความสำคัญของกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ และการใช้กิจกรรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์ในการส่งเสริมการเรียนรู้สาระต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และมีโอกาสได้พัฒนาทักษะ และสมรรถนะหลายด้าน ทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา สมรรถนะการสื่อสาร และการรวมพลังทำงานเป็นทีม เพื่อให้การจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้อย่างเต็มที่ และเกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมกับสาระการเรียนรู้ และนำไปสู่การพัฒนาทักษะและสมรรถนะของผู้เข้าร่วมการแข่งขันอย่างแท้จริง จึงได้กำหนดกรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อสร้างกรอบหรือเกณฑ์มาตรฐานในการจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้ ในแต่ละช่วงชั้น

2. เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่ต้องการจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และ

3. เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจัดส่งผู้แทนหรือกรรมการเข้าร่วมตัดสินกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดกรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์ ดังมีรายละเอียดแนบท้ายประกาศฉบับนี้

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ร่วมกับ ม. สวนดุสิต เปิดอบรมออนไลน์ฟรี ในหัวข้อ “การพัฒนาเทคนิคและการแก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับครู”

** ประกาศสำหรับครูและโรงเรียนมัธยมที่สนใจการเรียนการสอนภาษาจีน **

# สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ร่วมกับ ม.สวนดุสิต
เปิดอบรมออนไลน์ฟรี ในหัวข้อ “การพัฒนาเทคนิคและการแก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับครู”

# ระหว่างวันที่ 12 – 13 ก.พ. 2565
โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับวุฒิบัตรจาก สพฐ. และ ม.สวนดุสิต

# ลงทะเบียนได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 10 ก.พ. 2565 (รับจำนวนจำกัด โดยพิจารณาจากคุณสมบัติและลำดับการสมัคร)

# สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-2885881

 

ขอเชิญชวนสมัครรับทุนการศึกษาโครงการ “เด็กดีของสังคม” ประจำปี 2565

ขอเชิญชวนสมัครรับทุนการศึกษาโครงการ “เด็กดีของสังคม” ประจำปี 2565
🔰จำนวน 200 ทุน ทุนละ 5,000 บาท
📍เปิดรับสมัคร ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 31 มกราคม 2565

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

ประชาสัมพันธ์โครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ปี 2565

เชิญชวนสถานศึกษาเข้าร่วม โครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School)

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนให้มีการเรียนการสอน และกิจกรรมการจัดการขยะที่ต้นทาง

การรับสมัครเข้าร่วมโครงการ
– ศึกษาเอกสารรายละเอียดโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ปี 2565 (เกณฑ์การตัดสิน, รูปแบบเล่มผลงานโรงเรียนปลอดขยะ, สื่อในโครงการ) ได้ทางเว็บไซต์ www.deqp.go.th และเพจ Facebook : โครงการโรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School
– จัดทำเล่มผลงานโรงเรียนปลอดขยะเพื่อพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนผ่านเข้ารอบที่ 1
– จัดส่งที่ กลุ่มสื่อสิ่งแวดล้อมและกิจการพิเศษ ชั้น 2 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 49 พระราม 6 ซอย 30 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 (ส่งเล่มผลงาน = การสมัครสมบูรณ์)
– สมัครวันนี้ ถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 (ยึดตามวันที่ประทับตราส่งเอกสาร)
– ติดตามประกาศรายชื่อผู้สมัครสมบูรณ์ได้ที่ เพจ Facebook : โครงการโรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School
– รอพิจารณาผลการคัดเลือกโรงเรียนผ่านเข้ารอบที่ 1
ติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มสื่อสิ่งแวดล้อมและกิจการพิเศษ โทรศัพท์ : 0 2298 5608, 0 2278 8400-9 ต่อ 1293 และ 1298
เพจ Facebook : โครงการโรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School เพื่อรับข้อมูลข่าวสารตอบข้อสงสัย

สพฐ. ประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมวิชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ประจำปี 2564

วันที่ 23 ธันวาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมวิชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2564 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมเกียรติ ชอบผล ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ระดับ 10 สำนักงานโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี บรรยายพิเศษเรื่อง “การจัดการศึกษาตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัดนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงผู้รับผิดชอบโรงเรียนในโครงกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมคุ้มภูคำ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานโรงเรียนในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ จึงมุ่งส่งเสริม สนับสนุน และติดตามการจัดการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ตามวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่ 1) ส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยของเด็กและเยาวชนตั้งแต่ในครรภ์มารดา 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน 3) เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้ทางวิชาการ 4) เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางการอาชีพ 5) ปลูกฝังจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 6) เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สพฐ. โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนทุรกันดาร (กพด.) จำนวน 190 โรงเรียน ทั่วประเทศ เป็นกลุ่มโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ตามตัวชี้วัด 6 ด้าน ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารดามพระราชดำริฯ ฉบับที่ 5 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และเพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปตามแผนปฏิบัติราชการของ สพฐ. และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มโรงเรียน อีกทั้งเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษา และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้เกี่ยวข้อง จึงได้จัดกิจกรรม ดังนี้

  1. การประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 190 คน และผู้รับผิดชอบโครงการจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 47 เขต รวมทั้งสิ้น 237 คน
  2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2564
  3. การจัดนิทรรศการของโรงเรียนที่ชนะเลิศแนวปฏิบัติที่ดีรายด้านของ สพฐ. ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2564 โดยโรงเรียนบ้านเขาส่องกล้อง สังกัดสำนักงานเขดพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก
  4. การเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัดนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำหรับผู้บริหารและผู้ได้รับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 40คน และผู้เข้าร่วมรับเสด็จ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระบบ Zoom Meeting โดยรวมแล้วมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ และร่วมกิจกรรม จำนวนทั้งสิ้น 370 คน

“ทั้งนี้ ในการประชุมและจัดกิจกรรมครั้งนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรผู้ทรงความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับโรงเรียนในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ มาให้ความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนในโครงการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัดนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ของ สพฐ. ซึ่งคาดว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนจะได้รับความรู้จากวิทยากรและประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ของตนเองต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

https://www.obec.go.th/archives/544133

https://www.facebook.com/obec.pr/posts/1514880155549128

วารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Basic Education Research Journal)

วารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Basic Education Research Journal) มีนโยบายในการเป็นสื่อกลาง และเผยแพร่บทความวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการนำองค์ความรู้ที่ผ่านกระบวนการวิจัยไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ชุมชน สังคม มีขอบเขตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม และเผยแพร่บทความวิจัยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานภายนอก และเพื่อเป็นสื่อกลางในการนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้จากบทความวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

 

เด็กไทย คว้า ๒๓ เหรียญ ในการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ : 18th International Mathematics and Science Olympiad (IMSO) for Primary School Students (Virtual Edition) Indonesia

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อนุมัติให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ดำเนินการจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔  : 18th International Mathematics and Science Olympiad (IMSO) for Primary School Students (Virtual Edition) Indonesia เมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ และโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต ๑ นั้น

บัดนี้ การดำเนินการจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ : 18th International Mathematics and Science Olympiad (IMSO) for Primary School Students (Virtual Edition) Indonesia ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยมีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขัน แบ่งออกเป็น ๒ วิชา คือวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาละ ๑๒ คน รวม ๒๔ คน ซึ่งได้รับรางวัล รวม ๒๔ รางวัล (๒๓ เหรียญ) ได้แก่ เหรียญทอง ๑ รางวัล  เหรียญเงิน ๑๒ รางวัล  เหรียญทองแดง ๑๐ รางวัล และ เกียรติบัตรชมเชย ๑ รางวัล ดังนี้

วิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา

รางวัลเหรียญทอง

๑. เด็กชายธนกร  ตั้งเจตน์  โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากรุงเทพมหานคร

รางวัลเหรียญเงิน

๑. เด็กชายธนดล  รัตยาภาษ  โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกรุงเทพมหานคร

๒. เด็กชายธนเสฏฐ์  นิฏฐิยานนท์  โรงเรียนโชคชัย   สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกรุงเทพมหานคร

๓. เด็กชายสุรุจ  มหัทธนพรรค   โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเชียงใหม่

๔. เด็กชายปีติคุน  อภิชนกิจ   โรงเรียนนานาชาติรักบี้ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนชลบุรี

๕. เด็กชายจิระพัชร์  พุฒดี   โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกรุงเทพมหานคร

๖. เด็กชายวรพงศ์  ประดิษฐ์รุ่งวัฒนา  โรงเรียนแสงทองวิทยา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนสงขลา

รางวัลเหรียญทองแดง

๑. เด็กชายกฤตชพัฒน์  ดีประเสริฐวงศ์   โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกรุงเทพมหานคร

๒. เด็กชายวริศ  ศักดิรัตน์   โรงเรียนเกษมทรัพย์  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนนราธิวาส

๓. เด็กชายชัยวริษฐ์  ชัยพัฒน์ธนโชติ  โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร

๔. เด็กชายณัฏฐ์ธนิน  เรียนปิงวัง  โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกรุงเทพมหานคร

๕. เด็กชายฐปนวัฒน์  ปิยะรุจิรเวช  โรงเรียนหัวหินวิทยาลัย  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนประจวบคีรีขันธ์

วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา

รางวัลเหรียญเงิน

๑. เด็กหญิงนันท์นภัส  รัตนมณีพันธ์  โรงเรียนพลวิทยาระบบสองภาษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนสงขลา

๒. เด็กหญิงณัฐธยาน์  พงษ์ทองเจริญ  โรงเรียนอนุบาลชลบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต ๑

๓. เด็กชายปัณณวิชญ์  สุขผล  โรงเรียนเตรียมนานาชาติภู่ขจร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกำแพงเพชร

๔. เด็กหญิงณราลี  ศักดิ์ศรีบวร   โรงเรียนธิดานุเคราะห์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนสงขลา

๕. เด็กชายวิทวัส  วิวัฒน์รัตนกุล   โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เเผนกประถม สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเชียงใหม่

๖. เด็กหญิงลภัสฐ์รดา  ดำคง   โรงเรียนขจรเกียรติศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนภูเก็ต

รางวัลเหรียญทองแดง

๑. เด็กหญิงภัทรวดี  กุศลานุคุณ  โรงเรียนนานาชาติแอ๊ดเวนติสโคราช  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนนครราชสีมา

๒. เด็กชายภโวทัย  ศุภวิรัชบัญชา  โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกรุงเทพมหานคร

๓. เด็กชายอติชา  ปราณีโชติรส   โรงเรียนราชวินิต  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร

๔. เด็กชายธีรพัฒน  สมบัติทัฬห  โรงเรียนราชานุบาล  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต ๑

๕. เด็กหญิงณัฐรดา  วงศ์แก้ว  โรงเรียนอนุบาลระยอง  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

เกียรติบัตรชมเชย (เข้าร่วมการแข่งขัน)

๑. เด็กหญิงสรัลชนา  ใจเย็น  โรงเรียนนิธิปริญญา  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกรุงเทพมหานคร

การประชุมปฏิบัติการพัฒนาระบบการเผยแพร่บทความวิจัยและจัดทำวารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 1

เมื่อวันที่ 23- 26 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นำโดยนางสาวดุจดาว ทิพย์มาตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา และคณะ ได้ดำเนินการจัดประชุมปฏิบัติการพัฒนาระบบการเผยแพร่บทความวิจัยและจัดทำวารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 1 ณ โรงแรมบียอนด์สวีท เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำวารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 1 และเผยแพร่บทความวิจัยทางการศึกษา จำนวน 11 เรื่อง ในรูปแบบออนไลน์บนระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารออนไลน์ (Thai Journals Online : ThaiJo ) โดยกิจกรรมการประชุมประกอบด้วย 1) การจัดการฐานข้อมูลการใช้งานระบบการจัดการวารสารออนไลน์ (Thai Journals Online : ThaiJo) 2) การตรวจสอบความถูกต้องของบทความวิจัยเพื่อจัดทำวารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 1 และ3) การจัดทำอาร์ตเวิร์ครูปเล่มวารสาร เพื่อเผยแพร่ในระบบวารสารออนไลน์ สู่การนำองค์ความรู้ที่ได้จากบทความวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางการศึกษาต่อไป

 

การสอบคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564

การสอบคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564 : 18th International Mathematics and Science Olympiad (IMSO) for Primary School Students (Virtual Edition) Indonesia

เมื่อวันเสาร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.30 – 11.30 น. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564 : 18th International Mathematics and Science Olympiad (IMSO) for Primary School Students (Virtual Edition) Indonesia ณ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง โดย ดร.ภูธร  จันทะหงษ์  ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และ ดร.จักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564 : 18th International Mathematics and Science Olympiad (IMSO) for Primary School Students (Virtual Edition) Indonesia เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูอาจารย์  และนักเรียนที่เข้าสอบในครั้งนี้

  

กฟผ. – สพฐ. มอบรางวัล EGAT Green Learning Awards 2020 ประกาศเกียรติคุณโรงเรียนทั่วประเทศที่ร่วมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในโครงการห้องเรียนสีเขียว

กฟผ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มอบรางวัล EGAT Green Learning Awards 2020 ให้กับโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมโรงเรียนสีเขียว อาคารเบอร์ 5 ในสถานศึกษา โรงเรียนคาร์บอนต่ำ และโรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชน เพื่อประกาศเกียรติคุณและสร้างกำลังใจให้แก่โรงเรียนที่เป็นแบบอย่างที่ดีและมีผลงานโดดเด่นในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวปี 2563

 

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นายสุทธิพงษ์  เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน(ชยย.) และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล EGAT Green Learning Awards 2020 เพื่อประกาศเกียรติคุณและสร้างกำลังใจให้แก่โรงเรียนในการเป็นแบบอย่างที่ดีและมีผลงานโดดเด่นในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวในปี 2563 ภายใต้แนวคิด EGAT for ALL กฟผ. เป็นของทุกคน และเพื่อทุกคน ในมิติของการดูแลสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านระบบ Zoom Meeting และถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ก “ห้องเรียนสีเขียว กฟผ. Page”

นายสุทธิพงษ์  เฉลิมเกียรติ ชยย. กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินโครงการห้องเรียนสีเขียวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นปลูกฝังให้เยาวชนมีองค์ความรู้ ทัศนคติที่ดี และมีพฤติกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงสนับสนุนให้เยาวชนเป็นผู้นำในการสร้างเครือข่ายพลังงาน เกิดเป็นพลังเยาวชนที่เข้มแข็ง สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมหรือนวัตกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และขยายผลจากโรงเรียนสู่ครัวเรือนตลอดจนชุมชนในบริเวณพื้นที่รอบโรงเรียน นำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียวที่มีการแบ่งปันองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดการใช้พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่ประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลกในเรื่อง Carbon Neutrality

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า ขอขอบคุณ กฟผ. ที่สร้างสรรค์โครงการห้องเรียนสีเขียวซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดย สพฐ. มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นภาพความสำเร็จของทุกโรงเรียนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจและร่วมมือกันอย่างแท้จริงที่จะพัฒนาให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน และสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว” หรือ Green Learning Society โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศไทยต่อไป

สำหรับในปี 2563 มีโรงเรียนที่ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมและประสบความสำเร็จใน 4 กิจกรรม ดังนี้

1)โรงเรียนสีเขียว ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม จำนวน 13

โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ โรงเรียนอนุบาลนนทบุรี โรงเรียนบ้านทำนบ (เลิศสินอนุสรณ์) โรงเรียนแม่แตง โรงเรียนตราษตระการคุณ โรงเรียนอนุบาลวัดสระแก้ว โรงเรียนบ้านโจดหนองแกหนองสิม โรงเรียนบ้านหนองแวง โรงเรียนบ้านหนองถ่ม (คุรุราษฎร์อนุสรณ์) และโรงเรียนบ้านหนองหัวช้าง

2) อาคารเบอร์ 5 ในสถานศึกษา เป็นอาคารที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนที่มีการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จำนวน 11 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (อาคาร 1919) โรงเรียนราชวินิตประถมบางแค (อาคารเทพรัตน์สิริปภา) โรงเรียนวัดดอนทอง (สุวัณณะศรี ตัณฑิกุล ราษฏร์ศึกษาลัย) (อาคาร 8) โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ (อาคาร 8) โรงเรียนอนุบาลสิงห์บุรี (อาคาร MEP) โรงเรียนวัดเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) (อาคาร 7) โรงเรียนประชารัฐธรรมคุณ (อาคารวิทิตธรรมคุณ) โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย (อาคารธรรมลังกา) โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม (อาคารเกษตรศิลป์) โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม (อาคารปัญญาวิวัตร) และโรงเรียนสุขานารี (อาคาร 8)

3) โรงเรียนคาร์บอนต่ำ ลดการใช้ไฟฟ้าที่โรงเรียน มีรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 12 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านลำทับ โรงเรียนบ้านโจดหนองแกหนองสิม โรงเรียนวัดเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) โรงเรียนอนุบาลวัดสระแก้ว โรงเรียนวัดควนวิเศษ โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) โรงเรียนบางละมุง โรงเรียนตราษตระการคุณ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา โรงเรียนนครสวรรค์ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

4) โรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชน ลดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านของนักเรียน โดยในปี 2563 โรงเรียนและบ้านของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 5 ล้านหน่วย ลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 25 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 3 พันตัน โดยมีรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 12 โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนวัดเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) โรงเรียนวัดน้ำคบ โรงเรียนอนุบาลสมุทรสงคราม โรงเรียนอนุบาลชัยนาท โรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียนอนุบาลพะเยา โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ โรงเรียนบางละมุง โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์โรงเรียนพิริยาลัย โรงเรียนนครสวรรค์ และโรงเรียนกันทรลักษณ์วิทยา

 

“คุณธรรม นำใจ ในโลกกว้าง ส่องสว่าง ทางใส ใจไม่หมอง พาพบมิ่งสิ่งดีมีทำนอง ใจสมปอง ครองสุข ค่อยปลุกเร้า” (Cr:fb.บทกลอนสอนใจ)

การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2564

ณ โรงแรมอิงธาร รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

ด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.  และมอบหมายให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมอิงธาร รีสอร์ท จังหวัดนครนายก โดย ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิด และ ดร. จักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ชี้แจงวัตถุประสงค์และภาพรวมการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้เข้าร่วมประชุม ในครั้งนี้ ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู และคณะทำงานส่วนกลาง ทั้งนี้ มีการบรรยายแนวทางการขับเคลื่อนโครงการและรายละเอียดการดำเนินกิจกรรม โดย ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ การจัดการประชุมในครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการจัดทำแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. จำนวน 12 กิจกรรม  เพื่อให้โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใช้เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยกิจกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วย

  1. มาตรฐานและตัวชี้วัดโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
  2. แนวทางการดำเนินงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคุณธรรม (องค์กรคุณธรรม)
  3. แนวทางหลักสูตรและการอบรม โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
  4. แนวทางกิจกรรมส่งเสริมโครงงานคุณธรรม โรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
  5. แนวทางกิจกรรมคุณธรรมสู่ห้องเรียน โรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
  6. แนวทางการนิเทศ กำกับ ติดตาม โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
  7. แนวทางการจัดกิจกรรมโรงเรียนดีต้องมีที่ยืน โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
  8. แนวทางการจัดกิจกรรมคุรุชนคนคุณธรรม โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
  9. แนวทางการจัดกิจกรรมนวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
  10. การจัดทำภาพยนตร์สั้นคุณธรรม สพฐ. และสปอตโฆษณาส่งเสริมคุณธรรม
  11. แนวทางการจัดกิจกรรมครอบครัวคุณธรรม
  12. แนวทางการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม โรงเรียนคุณธรรม สพฐ.

การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2565 นับเป็นจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการพัฒนานักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาในปีนี้อีกด้วย

 

 

 

ขอเชิญชมนิทรรศการออนไลน์เต็มรูปแบบ EGAT GREEN LEARNING SOCIETY

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอเชิญชมนิทรรศการออนไลน์ EGAT GREEN LEARNING SOCIETY ในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 9 -19 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 – 15.00 น. ผ่านทาง   Facebook Live : ห้องเรียนสีเขียว กฟผ.