05_Environment

ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานและร่วมงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2562

วันที่ 26 ธันวาคม 2562 เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบให้ผู้แทน คือ ดร.สมพร สามทองกล่ำ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานและร่วมงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2562 ณ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่า บึงฉวาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โดยมีนายวราวุธ  ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2562  ภายใต้แนวคิด “อนุรักษ์สัตว์ป่า รักษาสมดุลโลก”

ครูและนักเรียนผู้สนทั่วไป สามารถดาวน์โหลดสื่อโปสเตอร์สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าสงวนได้ที่

http://www.dnp.go.th/wildlife_it/n_web/lacegant/pages/poster.php

การประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 24 ธันวาคม 2562 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ.เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยนางอรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ.ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก) และผู้แทนจากสำนักต่างๆ ของ สพฐ.นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)ได้ประชุมหารือร่วมกันในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงองค์ความรู้และความร่วมมือ สู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย หลังปี ค.ศ. 2020

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2562 ดร.ธัญนันท์  แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ได้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงองค์ความรู้และความร่วมมือ สู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย หลังปี ค.ศ. 2020 ณ ห้องวายุภักษ์ 5 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราช เจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2562 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราช เจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงเปิดงานวันดินโลก ปี 2562 ณ ศูนย์ศีกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี

ขอขอบคุณภาพจาก Facebook fanpage : สำนักงาน กปร.

วันสิ่งแวดล้อมไทย

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม หรือประเทศที่มีการพัฒนาของเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่า หากพื้นที่ใดมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น ย่อมต้องมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เสื่อมโทรมลง หรือหมดไปอย่างรวดเร็ว

ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลที่เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงได้มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ใจความตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้…

“วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่า เมืองไทยนี้อีกหน่อยจะแห้ง ไม่มีน้ำเหลือจะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศ ซึ่งก็อาจเป็นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้าคำนวณดูน้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ มีตัวเลขแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ไปแยกแยะตัวเลข เหมือนที่ได้แยกแยะตัวเลขของคาร์บอน น้ำนั้นน่ะ ในโลกมีมากแล้ว ที่ใช้จริง ๆ มันเป็นเศษหนึ่งส่วนหมื่นของน้ำที่มีอยู่ อาจไม่ถึง ก็ต้องบริหารให้ดีเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ น้ำนี้จะต้องใช้ให้ดี คือ น้ำนั้นมีคุณอย่างที่เราใช้สำหรับบริโภค น้ำสำหรับการเกษตร น้ำสำหรับอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ต้องใช้น้ำที่ดี หมายความว่า น้ำที่สะอาด

น้ำมีมากในโลก เป็นน้ำทะเลส่วนใหญ่ ซึ่งจะใช้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ที่กำลังมีมากขึ้นก็คือ น้ำเน่า จะต้องป้องกันไม่ให้มีน้ำเน่า น้ำเน่าจะมีอยู่เสมอ แต่อย่าให้น้ำเน่านั้นเป็นโทษมากเกินไป ฉะนั้น นี่เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ แล้วก็ถ้าไม่จัดการโดยเร็วเราจะนอนอยู่ในน้ำเน่า น้ำดีจะไม่มีใช้ แม้จะไปซื้อน้ำจากต่างประเทศมาก็กลายเป็นน้ำเน่าหมด เพราะว่าเอามาใช้โดยไม่ได้ระมัดระวัง

ถ้าเรามีน้ำแล้วมาใช้อย่างระมัดระวังข้อหนึ่ง และควบคุมน้ำที่เสียอย่างดีอีกข้อหนึ่ง ก็อยู่ได้ เพราะว่าภูมิประเทศของประเทศไทย “ยังให้” ใช้คำว่า “ยังให้” ก็หมายความว่า ยังเหมาะแก่การอยู่กินในประเทศนี้ ไม่ใช่ไม่เหมาะ ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาเอาไว้ ไม่ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นสวนเป็นนา กลายเป็นทะเลทราย ก็ป้องกันได้ ทำได้”

            …จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยต้องพบเจอ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่หันมาร่วมมือกันริเริ่มโครงการอนุรักษ์ เพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ในรูปแบบการจัดตั้งองค์กร มูลนิธิ ชมรม และสมาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้มีจิตสำนึกในการเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ

จากนั้น เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 ในการประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เสนอ โดยมุ่งหวังให้วันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือในการปกป้องและรักษาให้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศคงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป

กระทั่งในเวลาต่อมา เมื่อถึงวันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ ความสำคัญของวันสิ่งแวดล้อมไทย ก็จะมีการประสานกับหน่วยงาน หรือองค์กรพัฒนาต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ เช่น การจัดนิทรรศการ การเสวนาและเปลี่ยนความคิดเห็น การประกวดภาพวาด และโครงการอื่น ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สืบค้นจาก เว็บไซต์กระปุกดอทคอม https://hilight.kapook.com/view/94049  เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 10 ทรัพยากรไทย : ชาวบ้านไทยได้ประโยชน์ ปี 2562 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2562

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 10 ทรัพยากรไทย : ชาวบ้านไทยได้ประโยชน์ ปี 2562 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2562

ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา

สพฐ. ทส. และจุฬาฯ หารือเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สพฐ. ให้เกียรติเป็นประธานในการพูดคุย และเปลี่ยนแนวคิดด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ของ สพฐ. ระหว่าง สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา  โดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก) นายอลงกต  ศรีวิจิตรกมล ผู้อำนวยการกลุ่มสิ่งแวดล้อมศึกษา กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม(ทส.) ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก อาจารย์คณะคุรุศาสตร์ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม นางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม ผู้แทนศูนย์ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา สพฐ. ได้ประชุมหารือร่วมกันในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อกำหนดแนวทาง ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน

ในการประชุมครั้งนี้ สพฐ. และ ทส. ได้พูดคุยถึงแผนการดำเนินงานที่ทำร่วมกัน ได้แก่ โรงเรียนที่ดำเนินโครงการ  Zero waste school ซึ่งในการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ได้แต่งตั้งให้มีคณะกรรมการออกประเมินโรงเรียนร่วมกัน อีกทั้งมีแผนการปรับแนวทางการดำเนินงาน คู่มือการจัดกิจกรรม ซึ่ง ทส. จะได้การกำหนดห้วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป โดยขอให้ ทาง สพฐ.ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย

สำหรับสื่อ เอกสารที่ทาง ทส. ได้จัดทำมีการเผยแพร่และสามารถ Download ได้ที่ http://www.deqp.go.th/service-portal/environmental-media-system/list2/?media_subtype_id=2&curp=1#tabA

ขอเชิญชวนร่วมงาน “วันดินโลก” 5 – 8 ธันวาคม 2562

ขอเชิญชวนร่วมงาน “วันดินโลก” และร่วมเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2562

“วันดินโลก” จัดขึ้นระหว่างวันที่  5 – 8 ธันวาคม 2562 ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ภายใต้แนวคิด “ปกป้องอนาคต ลดการชะล้างดิน : Stop Soil Erosion, Save our Future” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (Humanitarian Soil Scientist Award) พระองค์แรกและพระองค์เดียวในโลก

โดยภายในงานจัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์หน้าดินให้คงความสมบูรณ์ พร้อมร่วมฟังเสวนาระดับนานาชาติ และนิทรรศการวิชาการ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย นอกจากนั้นในส่วนภูมิภาค สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดร่วมกับส่วนราชการต่างๆ และหน่วยงานในท้องถิ่นร่วมกันจัดกิจกรรมวันดินโลก ตลอดช่วงเดือนธันวาคม 2562 เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบสถานการณ์ทรัพยากรดิน เกิดความตระหนักในการร่วมกันปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรดิน ทั้งนี้ กลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (Global Soil Partnership – GSP) ได้จัดกิจกรรมวันดินโลกเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้กำหนดหัวข้อ “STOP SOIL EROSION, SAVE OUR FUTURE : ปกป้องอนาคต ลดการชะล้างดิน” ซึ่งเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมขององค์กร และบุคคล สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันและลดการชะล้างการพังทลายของดินเพื่อรักษาระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์

ภายในงาน มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น นิทรรศการพระราชกรณียกิจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นิทรรศการพระราชกรณียกิจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต แสดงภาพ 3 มิติ การจัดการดินและที่ดิน ตั้งแต่ภูเขาจนถึงทะเล เพื่อให้เห็นภาพการป้องกันชะล้างพังทลายของดิน

การจัดประชุมวิชาการทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ เสนอผลงานเด่น ความสำเร็จของการปกป้องดูแลดิน และการแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างหมอดินอาสา เกษตรกรและนักวิชาการ เพื่อสนับสนุนการปกปักรักษาดิน มิให้เสื่อมโทรมจากการใช้ที่ดินของมนุษย์ และในพิธีเปิด จัดให้มีการมอบรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ประเทศไทย และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAQ) ร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อมอบแก่บุคคล องค์กร หรือประเทศ ที่รังสรรค์ผลงานการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินให้เป็นที่ประจักษ์ ในปี 2562 จะได้มีพิธีประกาศรางวัลและเข้ารับรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โดยในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award  ได้แก่ หน่วยงาน Costa Rican Soil Science Association (ACCS) ของสาธารณรัฐคอสตาริกา รวมทั้ง การประกวดวาดภาพกระดานดำ ประกวดถ่ายภาพ จำหน่ายผลผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์ สินค้าเฉพาะของโครงการพระราชดำริและกิจกรรมเดิน Trail วันดินโลก @ เขาชะงุ้ม ตามรอยพระบาทบนแผ่นดินของพ่อ ในวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2562 เวลา 06.30-09.30 น.ระยะทาง 2 กม. เพื่อขึ้นเขาไปชมพลับพลาที่ประทับทรงงานและชมทัศนียภาพที่ปัจจุบันมีความสวยงามในรูปแบบเบิร์ดอายวิวสามารถมองเห็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ที่เกิดมาจากพระราชดำริ “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่เขาหัวโล้นให้เป็นป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ในวันที่ 6 ธันวาคม ยังมีการแสดงพระธรรมเทศนา “ภูมิกถา” ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี โดยพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ซึ่งเป็นกัณฑ์เทศน์ เกี่ยวกับดินและวันดินโลก ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระมหากรุณาธิคุณ ให้มหาเถรสมาคมดำเนินการ เพื่อให้วัดทั่วประเทศไทยได้ใช้แสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธศาสนิกชน รวมทั้งจัดให้วัดทั่วประเทศได้แสดงพระธรรมเทศนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.ldd.go.th/WEB_WorldSoilDay/Award_WSD.html 

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/central/1712821?fbclid=IwAR3L4Q3Rz3K8NFvtc8G-hmwHf3arbMXsvSScPcw9oPkAJjtKeHBKLqcl4ms

การประชุมหารือความร่วมมือในการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2563

การประชุมหารือกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์ และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ประชุมหารือร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์ และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับการดำเนินโครงการ/กิจกรรมในปี 2563 จะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน ในลักษณะของการประกวดนวัตกรรม และการให้ความรู้กับโรงเรียนที่ส่งผลงานเข้ามา  ตั้งโจทย์ปัญหาให้ แล้วคิดค้นนวัตกรรมมาแก้ปัญหา และต่อยอด และนำเสนอแนวคิดในการนำสื่อ เช่น Board Game มาให้ครูนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยในปีนี้ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) ได้นำเสนอนวัตกรรมการจัดการขยะ เช่น นวัตกรรมการจัดการขยะในครัวเรือน และนำเสนอการจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล ณ ศูนย์การเรียนรู้ จังหวัดขอนแก่น

ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีผู้แทนจากบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด มานำเสนอโครงการนำร่อง ในการสร้างองค์ความรู้ และนำกล่อง UHT ไปรีไซเคิล ร่วมกับทางบริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE)เพื่อนำมาใช้ประโยชน์  โดยอัตราการรีไซเคิลของกล่อง UHT ยังคงมีน้อย มีปริมาณการผลิต 100,000 ตันต่อปี แต่การนำกลับมารีไซเคิลได้น้อยกว่า 10%  ที่ผ่านมาทางบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้ร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียน 1,608 โรงเรียน ทั้งนี้การทำกิจกรรมกับโรงเรียน ต้องดำเนินการให้ตอบโจทย์ความต้องการของโรงเรียน โดยไม่เป็นภาระครู และดึงครูออกจากห้องเรียน สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้จาก เว็บไซต์ http://eesdobec.com


			

เข้าร่วมอบรมการนำข้อมูลเข้าระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะที่ 2

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กยผ.) จัดการอบรมการนำข้อมูลเข้าระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะที่ ๒ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น.ณ ห้องประชุม ๔๐๑ ชั้น ๔ อาคาร สผ.

โดยมีนางวันทนี เพ็ชรอำไพ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์มาตรการ เป็นประธานเปิดการอบรม ต่อจากนั้นเป็นการอบรมการใช้งานระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะที่ ๒ โดย นายสุพจน์ ชณุทโชติอณันต์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นางสาวจารุณี จารุรัตนวารี และ นายอรรถเศรษ์ฐ จริยธรรมานุกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการจัดอบรมครั้งนี้เพื่อปรับปรุงการจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการนำเข้าข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูล ให้สามารถนำไปใช้งานตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ สพฐ. ได้ส่งผู้แทนจากสำนักพัฒนาพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเข้าร่วมการอบรมด้วย

สิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน