05_Environment

การจัดกิจกรรมงานประกาศผลการประกวดคลิป และพิธีมอบรางวัลโครงการ “นวัตกรรมรักษ์โลก”

วันที่ 11 ตุลาคม 2565  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มโครงการพิเศษ เป็นคณะทำงานคนดี รักษ์โลกและให้ได้ความร่วมมือในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนนักเรียน เด็ก และเยาวชนและผู้ที่สนใจ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดคลิปในหัวข้อ “บอกรักโลก : บ้านส่วนรวมของเรา” ในการนี้คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กำหนดจัดงานประกาศผลการประกวดคลิป และพิธีมอบรางวัล โครงการ “นวัตกรรมรักษ์โลก” ในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565 เวลา 08.30 – 15.30 น. ณ ห้องสัมมนา B 1 – 1 ชั้น B 1 อาคารรัฐสภา ได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมงานและจัดนิทรรศการโครงการ “นวัตกรรมรักษ์โลก”
โดย สพฐ. มอบหมายให้โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก และโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ร่วมจัดนิทรรศการ เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโรงเรียนที่สำคัญ ได้แก่
  • โครงการพัฒนาโรงเรียนสีเขียวสู่ความยั่งยืน บอร์ดเกม ภารกิจกู้โลก กับการพัฒนาที่ยั่งยืน  การผลิตเส้นใยจากผักตบชวาเพื่อดักจับไขมัน นำเสนอโดย โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ฯลฯ
  • โครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ฐานการเรียนรู้ผักไฮโดรดอรจา  ฐานการเรียนรู้ปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพ นวัตกรรมอฐสละ   เศษอาหารมีค่าใช้เลี้ยงปลาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ  นำเสนอโดย โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา

เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม”

วันที่ 16 กันยายน 2565 ดร.ภูธร  จันทะหงษ์  ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้มอบหมายให้ นางสาวนลินี  จีนกูล ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ และบุคลากรโครงการพิเศษ  สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการต่อยอดองค์ความรู้ และความตระหนักในคุณค่าของการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของเยาวชนมุ่งสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว (Green Learning Society) โดยการจัดประกวดนวัตกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะ ศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อคุณภาพอากาศที่ดี ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาในโครงการห้องเรียนสีเขียว ซึ่งเป็นการดำเนินการภายในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา (โครงการห้องเรียนสีเขียว)” ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School)

กลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำโครงการโรงเรียนอีโคสคูล(Eco – School) ระหว่างวันที่ ๕ – ๘ กันยายน ๒๕๖๕  ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เชิงสะพานซังฮี้ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับเกียรติจากท่านดร.ภูธร  จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานในการเปิดการอบรมดังกล่าว

การอบรมครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของทั้ง ๒ หน่วยงาน ภายใต้ความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

๑) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล  (Eco – School)

๒) เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ พัฒนาโรงเรียนตามหลักการของโครงการโรงเรียนอีโคสคูล  (Eco – School) และ

๓) เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก เจตคติ รวมถึงเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School)   โดย สพฐ. กำหนดนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือ สร้างความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาโรงเรียนอีโคสคูล  โดยยึดแนวทางการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ขยายผลการพัฒนาโรงเรียนอีโคสคูลให้กับโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ การอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมรุ่นที่ ๑ จำนวน ๖๐ คน ประกอบไปด้วย ศึกษานิเทศก์ และครู

สามารถดาวน์โหลดรูปกิจกรรม คลิกที่นี่ 

 

พิธีมอบรางวัล EGAT Green Learning Awards 2021 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 นายอัมพร  พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มอบหมายให้นายภูธร  จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเป็นประธานมอบรางวัลในพิธีมอบรางวัล EGAT Green Learning Awards 2021 ซึ่งเป็นการประกาศเกียรติคุณให้แก่โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของปี 2564 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ความสำคัญและร่วมเป็นพันธมิตรที่ดีในการสนับสนุนโครงการห้องเรียนสีเขียวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด  ทั้งการพัฒนากลยุทธ์และแนวทางความร่วมมือในเชิงนโยบาย การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนให้เป็นผู้นำในการดำเนินกิจกรรม การพัฒนาสื่อและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนการส่งเสริมให้ขยายผลจากสถานศึกษาสู่ภาคครัวเรือนและชุมชน ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

นายภูธร  จันทะหงษ์  ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กล่าวว่า “ในวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นภาพความสำเร็จของทุกโรงเรียน ซึ่งเกิดมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจและความร่วมมือร่วมใจอย่างแท้จริงในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่และแบ่งปันความรู้สู่ชุมชน สู่การสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว” หรือ Green Learning Society โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมไทย เพื่ออนาคตของลูกหลานไทยที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเรา ผมขอขอบคุณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานพันธมิตร ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์โครงการห้องเรียนสีเขียว อันเป็นโครงการที่ดีเพื่อสังคม ขอขอบคุณท่านผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู นักเรียน และบุคลากรทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือกับทุกกิจกรรมในโครงการนี้ และขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัล สำหรับก้าวสำคัญแห่งความสำเร็จ และจะเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาโรงเรียนและตนเองต่อไป”

 

ขอเชิญร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School)

ขอเชิญร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ กระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 – 15.00 น. รับชมสดผ่านระบบออนไลน์ FB : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ว 1781 สพท ทุกเขต MOU Eco School  *** Link Zoom สำหรับผู้บริหารและผู้แทน สพท. เท่านั้น **** 

องคมนตรี เปิดงานมอบห้องเรียนสีเขียว แก่ รร.สามเงาวิทยาคม สพม.ตาก

กฟผ. ดำเนินโครงการห้องเรียนสีเขียว ตั้งแต่ปี 2541 โดยมุ่งสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการฯ จำนวน 484 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยในปี 2556 กฟผ. ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขับเคลื่อนโครงการห้องเรียนสีเขียวในเชิงระบบและนโยบาย โดยสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมพลังเยาวชนผ่านกิจกรรมชุมนุมห้องเรียนสีเขียว ตลอดจนขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบ เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และในปี 2563 ได้พัฒนาต่อยอดจากห้องเรียนสีเขียวเดิม สู่ Smart Green Learning Room ที่มีสื่อเทคโนโลยีทันสมัย ทั้งในรูปแบบ Online และ On-site โดยเริ่มดำเนินการในกลุ่มโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 15 แห่ง เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โรงเรียนสามเงาวิทยาคม เป็นโรงเรียนที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวอย่างต่อเนื่อง กฟผ. จึงได้จัดตั้งห้องเรียนสีเขียวแบบ Smart Green Learning Room เพื่อให้โรงเรียนสามารถวางแผนการจัดการเรียนรู้และกำหนดกิจกรรมบูรณาการเชื่อมโยงองค์ความรู้ บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชนให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายผลสู่ครัวเรือนและชุมชนในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียวที่ยั่งยืนต่อไป

ขอขอบคุณ ภาพ/ข่าว : ฤทัยกัญญา ชูทอง ประชาสัมพันธ์ สพม.ตาก

การประชุมปฏิบัติการพัฒนาเครื่องมือด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ (บอร์ดเกม) ภายใต้แผนการดำเนินงานการจัดทำบอร์ดเกมสิ่งแวดล้อมศึกษา

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง) ประธานพิธีเปิด และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สพฐ. ดร. อรนุช มั่งมีสุขศิริ ร่วมเป็นเกียรติการประชุมปฏิบัติการพัฒนาเครื่องมือด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ (บอร์ดเกม) ภายใต้แผนการดำเนินงานการจัดทำบอร์ดเกมสิ่งแวดล้อมศึกษา ระหว่างวันที่ 5 – 8  กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ ถนนพระราม 6 กรุงเทพมหานคร

             

การประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้เชิญผู้แทนศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา และ SDGs 5 ภูมิภาค โดยได้รับเกียรติจาก คุณวีณา นันทมนตรี ผู้จัดการโครงการอาวุโส สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนวิทยากรจาก TIPMSE คณะวิทยากรนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ จาก Deschooling Game มาเป็นวิทยากรในการประชุมปฏิบัติการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา โดยใช้บอร์ดเกมเป็นสื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญก่อให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ  และปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

การอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อพ.สธ. – สพฐ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕

          วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2565 รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา) ประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อพ.สธ. – สพฐ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมฮิพ กรุงเทพมหานคร

การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้  ได้เชิญโรงเรียนที่ได้รับเกียรติบัตรงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒  ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และตัวแทนผู้เข้ารับการฝึกอบรมงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ร่วมรับฟังแนวทางการดำเนินงาน อพ.สธ. – สพฐ. ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทของหน่วยงานและแผนปฏิบัติประจำปี ให้สอดคล้องกับแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ ๕ ปีที่ ๗   (๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๙) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สำนักพระราชวัง มาเป็นวิทยากรบรรยายแนวทางการดำเนินงาน อพ.สธ. ระยะ ๕ ปีที่ ๗   (๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๙) เพื่อขยายผลให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุประสงค์

กลุ่มโครงการพิเศษ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงที่ได้สละเวลามาร่วมเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อพ.สธ. – สพฐ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ และให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม ในครั้งนี้

ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเข้าร่วมการจัดทำข้อเสนอคำขออาสาสมัครญี่ปุ่น สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา

ด้วย กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งว่า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย เปิดรับข้อเสนอคำขอรับอาสาสมัครญี่ปุ่น ประจำปี ๒๕๖๕ ให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ ของไทย เพื่อจัดส่งอาสาสมัครญี่ปุ่น เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ ของไทย
โดยเปิดรับสมัครโรงเรียนที่มีความสนใจ สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา สมัครเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ที่ https://forms.gle/PqKaBS5gXGa46vc7A โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้- ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕

สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่นี่ คลิก

สพฐ. เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการค่าย “เยาวชน…รักษ์พงไพร เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565

สพฐ. เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการค่าย “เยาวชน…รักษ์พงไพร เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565

 

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จตุจักร กรุงเทพมหานคร ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เข้าร่วมพิธีเปิดค่ายแรก โครงการค่าย “เยาวชน…รักษ์พงไพร เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ประจำปี 2565 และกล่าวรายงานแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ต่อ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ประธานในพิธีเปิดถึงภาพความสำเร็จและแนวทางในระยะต่อไปในการดำเนินงานโครงการค่ายเยาวชน…รักษ์พงไพรฯ ที่ได้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่าย

 

หลังจากพิธีเปิดเสร็จสิ้น ในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมค่ายที่ภาคีเครือข่ายรับผิดชอบกิจกรรมในแต่ละฐาน โดยมีคณะครูและนักเรียนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมค่ายได้นำกระบวนการจัดการเรียนรู้ Active Learning มาบูรณาการในทุกกระบวนการเพื่อให้ครูและผู้เกี่ยวข้องได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากแหล่งศึกษาธรรมชาติจริงในพื้นที่ และสามารถนำไปต่อยอดขยายผลในโรงเรียนและชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง โดยโครงการค่ายฯในระดับเขตพื้นที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565

 

 

ติดตามข่าวสารได้ที่เพจ : รักษ์พงไพร

 

โครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) เพื่อขับเคลื่อนโครงการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับในพื้นที่และภูมิภาค

ด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School)
มีความประสงค์รับสมัครศึกษานิเทศก์เข้าร่วมเป็นวิทยากรแกนนำโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) เพื่อขับเคลื่อนโครงการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับในพื้นที่และภูมิภาค ท่านที่สนใจสมัครเข้าร่วมการคัดเลือก ผ่านระบบออนไลน์ที่ https://forms.gle/Cp8pzX5XGVniciRv5
โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๖.๓๐ น.

สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ คลิกที่นี่