02_Administratior

ศธ.-สพฐ. จับมือ ซีพี ออลล์ฯ สานพลัง “โรงเรียนร่วมพัฒนา” สร้างคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึง

วันที่ 4 มีนาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ โครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ระหว่าง สถานศึกษาในจังหวัดลพบุรี กับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดลพบุรี และคณะทำงานบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ณ โรงเรียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี
.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม “จับมือ” “ร่วมพัฒนา” และ “ขยายผล” จะสามารถยกระดับการศึกษาของประเทศได้ และเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาที่ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นพลังนำพาการศึกษาไทยให้ก้าวไปทัดเทียมนานาประเทศได้ ซึ่งจังหวัดลพบุรีนับเป็นจังหวัดที่สองต่อจากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการลงนามความร่วมมือในโครงการนี้ โดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จะนำนวัตกรรมของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ มาถ่ายทอดและดำเนินการช่วยการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนร่วมพัฒนาเหล่านี้ รวมถึงหากนักเรียนในโครงการนี้ประสงค์ที่จะศึกษาต่อในสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ก็พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาตลอดจนจบระดับอุดมศึกษา หรือหากประสงค์จะประกอบธุรกิจ ก็จะมีการต่อยอดองค์ความรู้ด้านธุรกิจต่าง ๆ ให้ด้วยเช่นเดียวกัน
.
นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นความร่วมมือในการจัดทำทวิภาคี หากผู้เรียนประสงค์จะศึกษาต่อก็จะมีการส่งต่อไปที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวมีแผนการขับเคลื่อนเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะมีการวางแผนการดำเนินงานกับภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมมือในโครงการนี้ และจะสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเต็มที่
.
ด้านนายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทฯ เป็นภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนการศึกษามาโดยตลอด เพราะเรามีสถาบันการศึกษาเป็นของตัวเอง ซึ่งขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดึงภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยสนับสนุนการศึกษาด้วยการทำโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสู่การพัฒนาประเทศ โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาทำให้ผู้เรียนจบแล้วมีงานทำ มีอนาคตที่ดีต่อไป
.
สำหรับความร่วมมือดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว ด้วยการมีส่วนร่วมจากผู้สนับสนุนทุกภาคส่วน ทั้งนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการทำความร่วมมือโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนามา จำนวน 3 รุ่น และ สพฐ. ได้รับการประสานจาก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนโรงเรียนในโครงการแจ้งความประสงค์ขอสนับสนุนโรงเรียนในโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี จำนวน 22 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 จำนวน 4 โรง โรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 จำนวน 7 โรง และโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลพบุรี จำนวน 11 โรง

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สพฐ.

โครงการความร่วมมือ ด้านการศึกษาระหว่าง Tokyo Metropolitan Board of Education และ สพฐ. กิจกรรมออนไลน์ Virtual Study Abroad

โครงการความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่าง Tokyo Metropolitan Board of Education และ สพฐ.
กิจกรรมออนไลน์ Virtual Study Abroad

รับสมัครนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ High School Students International Conference รับฟังบรรยาย อภิปรายและทำกิจกรรมในหัวข้อ Virtual Study Abroad

ในวันศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ระหว่างเวลา ๐๗.๐๐ – ๑๔.๓๐ น. (เวลาประเทศไทย)

 

การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษาสู่การเป็นผู้นำทางนวัตกรรมและมีสมรรณะภาษาต่างประเทศเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Innovative Leaders for SDGs)

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยการดำเนินการของกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นำทีมโดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่ม จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษาสู่การเป็นผู้นำทางนวัตกรรมและมีสมรรณะภาษาต่างประเทศเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Innovative Leaders for SDGs) ระหว่างวันที่ ๑ – ๕ มีนาคม ๒๕๖๖ ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ รัชดา กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจเป้าหมายโลกสู่การพัฒนาที่ยังยืน พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา วิจัยต่อยอดองค์ความรู้ รวมทั้งพัฒนาสมรรถนะการสื่อสารภาษาต่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล โดยรับสมัครและคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงและมีสมรรถนะด้านภาษาต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Innovative Leaders for SDGs) จำนวน 50 คน เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้
ทั้งนี้พิธีเปิดการอบรมได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า เป็นประธาน พร้อมให้โอวาทเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้เข้ารับการอบรม

 

ประกาศผลการคัดเลือกต้นแบบผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงและมีสมรรถนะด้านภาษาต่างประเทศ

การประชุมโครงการพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดีระหว่างวันที่ 15 – 18 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรม แกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ กรุงเทพมหานคร

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร (วนบ.) นำทีมโดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ระหว่างวันที่ 15 – 18 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรม แกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำหลักสูตร เรียบเรียงสาระสำคัญของการอบรมให้มีองค์ความรู้เชิงลึกมากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมกระบวนการออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับบริบท ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและระดับสถานศึกษา ตลอดจนใช้เป็นคู่มือสำหรับการขยายผลการอบรมวิทยากรแกนนำในรุ่นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม วิทยากรแกนนำจะนำหลักสูตรที่ได้รับ ไปขับเคลื่อนให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัดเพื่อต่อยอดกิจกรรมและเป็นต้นแบบการพัฒนาวิทยากรแกนนำรุ่นต่อไป การอบรมครังนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษ มีผู้เข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วย ผู้บริหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 60 คน

การประชุมเชิงปฎิบัติการ”สรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฎิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565″ ระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2565 ณ โรงแรมจันทรา รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

ช่วงระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2565 กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (วนบ.) และ กลุ่มโครงการพิเศษ (คพศ.) นำทีมโดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการ “สรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ณ โรงแรมจันทรา รีสอร์ท จังหวัดนครนายก” ซึ่งมีคณะทำงานเข้าร่วมทั้งหมด 60 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน  คณะอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย นักวิชาการศึกษา และข้าราชการบำนาญ โดยการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการ และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. เข้าร่วมสังเกตุและให้คำปรึกษาในการประชุมครั้งนี้

วัตถุประสงค์การประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อทบทวนและสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภาพความสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่อง ดังนี้
1) สรุปผลการดำเนินงานโครงการคอนเน็กซ์อีดี
2) สรุปผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา
3)
สรุปผลการดำเนินงานโครงการสร้างเสริมศักยภาพ
ในการเป็นพลเมืองอาเซียนและเตรียมสู่การเป็นพลเมืองโลกอย่างยั่งยืนและ
4) สรุปผลการดำเนินงาน
ด้านสิ่งแวดล้อม
พร้อมทั้งจัดทำเล่ม “สรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ
พ.ศ. 2565 ต่อไป

การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ระยะที่ 1 รุ่นที่ 1 (ครั้งที่ 2 )

วันที่ 9 กันยายน 2565 กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. โดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่ม ดำเนินการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ระยะที่ 1 รุ่นที่ 1 ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมรอแยล เบญจา สุขุมวิท 5 กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ เข้ารับการพัฒนาองค์ความรู้ตามเป้าหมายโลกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อยอดจากการอบรมในครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2565 เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอด ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการบริหารในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผล ไปสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นได้
โดยการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการ และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. เป็นประธานเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษแก่ผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 80 คน ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา นักวิชาการศึกษา ครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้อง

การอบรมเชิงปฏิบัติการตามระเบียบวิธีวิจัย ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการตามระเบียบวิธีวิจัย ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรในสังกัด สพฐ. ด้านระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง ทั้งในเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และแบบผสมผสาน (Mixed – Method Research) ทราบถึงความคืบหน้า เติมเต็มงานวิจัยที่มีคุณภาพและมีความสมบูรณ์ครบถ้วน โดยดำเนินการ ดังนี้ 1) จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในสังกัดด้านระเบียบวิธีวิจัย 2) คณะทำงานภาคเอกชนภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดียืนยันผลการลงเก็บข้อมูลและการเขียนรายงานการวิจัย 3) นำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินการวิจัย ทั้ง 17 เรื่อง ต่อคณะผู้ทรงคุณวุฒิและรับการเติมเต็มงานให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน

โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เป็นประธานเปิดการอบรม และมีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1) ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษา นักการศึกษา 2) ผู้แทนจากบริษัท จำนวน 14 บริษัท  3) ผู้ดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 110 คน

การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ระยะที่ 1 รุ่นที่ 1

วันที่ 27 สิงหาคม 2565 กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. โดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่ม ดำเนินการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ระยะที่ ๑ รุ่นที่ ๑ ณ โรงแรมรอแยล เบญจา สุขุมวิท 5 กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ เข้ารับการพัฒนาองค์ความรู้ตามเป้าหมายโลกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอด ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการบริหารในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นได้

โดยการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวชาการ และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. เป็นประธานเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษแก่ผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 80 คน ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา นักวิชาการศึกษา ครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้อง

การประชุมบรรณาธิการกิจงานวิจัยการบริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี และสรุปงานวิจัย ระหว่างวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ดำเนินการประชุมบรรณาธิการกิจงานวิจัยการบริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี และสรุปงานวิจัย ระหว่างวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรณาธิการกิจเอกสารงานวิจัยภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี และสรุปงานวิจัย จำนวน 3 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องที่ 1 การถอดบทเรียนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดีให้เป็นรูปธรรม เรื่องที่ 2 จัดทำคู่มือวิทยากรแกนนำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำนักเรียนสู่การเป็นพลเมืองโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (OBEC Young Leaders for SDGs) เรื่องที่ 3 จัดทำคู่มือครูแกนนำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำนักเรียนสู่การเป็นพลเมืองโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (OBEC Young Leaders for SDGs) เพื่อนำผลการศึกษาไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาโรงเรียนภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี และขยายแนวปฏิบัติที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับทุกภาคส่วน พร้อมทั้งจัดทำคู่มือหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำนักเรียนสู่การเป็นพลเมืองโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (OBEC Young Leaders for SDGs) สำหรับวิทยากรและครูแกนนำ เผยแพร่ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมครังนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ภูธร จันทะหงส์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานในการกล่าวเปิดการประชุม และ มีคณะทำงานเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ อาจารย์มหาวิทยาลัยและคณะครู จำนวน 35 ท่าน

การอบรมเชิงปฎิบัติการจัดทำกรอบการวิจัยเพื่อการศึกษารูปแบบการยกระดับการศึกษาภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี วันที่ 15 -17 มิ.ย. 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ทาวเวอร์อินน์ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยการดำเนินการของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมกับมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี จัดการอบรมเชิงปฎิบัติการจัดทำกรอบเพื่อนำผลวิจัยการใช้รูปแบบองค์ความรู้ทั้บการวิจัยเพื่อศึกษารูปแบบการยกระดับการศึกษาภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี วันที่ 15 -17 มิ.ย. 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ทาวเวอร์อินน์ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมงานวิจัยและถอดบทเรียนองค์ความรู้รูปแบบการพัฒนาของบริษัทภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี (Best Practices) จำนวน 17 รูปแบบ มาศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสม และขยายผลให้กับโรงเรียนใน สพฐ. อื่นๆทั่วประเทศ โดยให้มีกำหนดการแล้วเสร็จ 2565 เพื่อนำผลการวิจัยการใช้รูปแบบองค์ความรู้ทั้ง 17 รูปแบบ ไปใช้พัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยต่อไป ทั้งนี้การอบรมดังกล่าวมีคณะทำงานประกอบไปด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา คณะผู้แทนจากบริษัทภายใต้มูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี  และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 80 คน โดยมี ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. เป็นประธานเปิดการอบรมในครั้งนี้

แนวทางการดำเนินงานด้านสารบรรณด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-saraban)

วันที่ 5 เมษายน 2564 เวลา 13.30 น. ดร.อโณทัย  ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายให้ข้าราชการและบุคลากร สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการภายในสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นองค์กรราชการ 4.0