07_คพศ.

ร่วมเป็นเกียรติเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ครบรอบ 29 ปี

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ  เข้าร่วมเป็นเกียรติเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ครบรอบ 29 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ได้ร่วมสมทบทุนกองทุนสวัสดิการกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา และจัดสวัสดิการให้กับบุคลากรของกรมส่งเสริมคุณภาพแวดล้อมด้วย

การประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกข้อเสนอโครงการผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่และการคัดเลือกภาพวาดจินตนาการอนาคต

วันที่ 22-26 มีนาคม 2564  สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มโครงการพิเศษ ได้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกข้อเสนอโครงการผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่และการคัดเลือกภาพวาดจินตนาการอนาคต ระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยการจัดการประชุมในครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ภายใต้หัวข้อ Inventions for Sustainable Development Project  และภาพวาดจินตนาการอนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ Science for Sustainable Development Project ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แจ้งโรงเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมส่งผลงานเข้าร่วมการคัดเลือก/ประกวด/แข่งขัน ตามเงื่อนไขข้อปฏิบัติการส่งผลงาน และระยะเวลาที่กำหนดทางเว็บไซต์ http://obecyounginventor.innoobec-project.com

การดำเนินงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมพิจารณาข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ภายใต้หัวข้อ Inventions for Sustainable Development Project จำนวน 218 ข้อเสนอโครงการ ประกอบด้วย 8 ประเภทผลงานได้แก่

 

  1. เทคโนโลยีที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology) จำนวน 51 ผลงาน
  2. อาหารและเกษตรกรรม (Food and Agriculture) จำนวน 45 ผลงาน
  3. ความปลอดภัยและสุขภาพ (Safety and Health) จำนวน 44 ผลงาน
  4. เทคโนโลยีสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ (Technology for Special Need) จำนวน 19 ผลงาน
  5. การจัดการกับภัยพิบัติ (Disaster Management) จำนวน 12 ผลงาน
  6. การศึกษาและนันทนาการ (Education and Recreation) จำนวน 18 ผลงาน
  7. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Aerospace and Aviation) จำนวน 3 ผลงาน
  8. ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (Artificial Intelligence and Automation System) จำนวน 26 ผลงาน

และภาพวาดจินตนาการอนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ Science for Sustainable Development Project จำนวน 256 ผลงาน โดยในปี้นี้ได้เพิ่มเติมประเภทของการวาดภาพในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มเติมจากประเภทการวาดภาพบนกระดาษวาดเขียน (โดยไม่จำกัดเทคนิคการวาด) โดยกิจกรรมนี้ไม่ได้วัดความสามารถในด้านศิลปะเป็นหลัก แต่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้แสดงออกถึงจินตนาการที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อที่กำหนด

ผลงานที่ได้รับการคัดเลือก ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะสนับสนุนงบประมาณให้ทีมนักเรียนเจ้าของผลงานได้พัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบความสนองความต้องการของชุมชนและสังคม และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมีการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ International Exhibition for Young Inventor (IEYI 2021) โดยในปีนี้ สาธารณรัฐจีน (ประเทศไต้หวัน) เป็นเจ้าภาพจัดงานในลักษณะ Virtual Contest ในเดือนกันยายนนี้

 

 

 

ส่งมอบโต๊ะภายใต้โครงการ “กล่องนมรักษ์โลก”

วันที่ 18 มีนาคม 2564  ดร.ธัญนันท์  แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  และคณะ ได้ร่วมส่งมอบโต๊ะภายใต้โครงการ “กล่องนมรักษ์โลก”  ซึ่งได้แปรรูปมาจากกล่องนมใช้แล้ว ให้กับโรงเรียนบางพลีใหญ่ใน  จ.สมุทรปราการ และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 69 จ.ปทุมธานี

โต๊ะอาหารเป็นโต๊ะที่แปรรูปมาจากกล่องนมใช้แล้ว  โดยกิจกรรมดังกล่าว เป็นผลการดำเนินงานของ โครงการกล่องนมรักษ์โลก โดยผลิตภัณฑ์ไมโล บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับบริษัท เต้ดตร้า แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมจัดการกล่องยูเอชทีใช้แล้วในโรงเรียนระดับประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่นักเรียนและครูเพื่อให้เกิดการจัดการกล่องยุเอชทีใช้แล้ว ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง (Closed Loop Packaging) ภายใต้โครงการเรียนรู้นอกห้องเรียน “กล่องนมรักษ์โลก”  มีกิจกรรมเก็บกล่องยูเอชทีและการแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในโรงเรียน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและแปรรูปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โต๊ะทานข้าวในโรงอาหาร โต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน เป็นต้น ทั้งนี้โครงการเตรียมขยายผลสู่ 60 โรงเรียนในปี 2564 ต่อไป

 

 

 

 

ประชุมหารือเรื่องกรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์

วันที่ 21 ธันวาคม 2563 เวลา 09.09 น.

ดร.อโณทัย  ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษารักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ร่วมหารือกับ ผู้แทน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในเรื่องกรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์  ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 10 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ กำหนดกรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์ เพื่อให้หน่วยงานผู้จัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์มีมาตรฐาน ผู้ให้การสนับสนุนจะได้มีแนวทางในการพิจารณาให้การสนับสนุน ทั้งนี้  โดยศึกษาจากเกณฑ์การจัดการแข่งขันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดระยะเวลาให้ทันในภาคการศึกษาหน้า (พ.ค. 64)

ผู้เข้าร่วมหาประกอบด้วยผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  ดังนี้

ดร.อโณทัย  ไทยวรรณศรี

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษารักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.

ดร.วรวรงค์  รักเรืองเดช

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ   สสวท.

ดร.ศรเทพ  วรรณรัตน์

ผู้อำนวยการสำนักวิชาคณิตศาสตร์และเทคโนโลยี  สสวท.

ดร.ธัญนันท์  แก้วเกิด

ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ  สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.

นายพรพจน์  พัฒวันเพ็ญ

ผู้เชี่ยวชาญ สสวท.

นางสาวพรพิมล  ตั้งชัยสิน

ผู้ชำนาญ สสวท.

นายนิรมิษ  เพียรประเสริฐ

นักวิชาการ สสวท.

นายพรชัย  ถาวรนาน

นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.

 

ผู้แทน สสวท. กล่าว การดำเนินการแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับนักเรียน เป็นกิจกรรมที่แข่งขันนอกหลักสูตรแต่สามารถขับเคลื่อนได้เร็ว และสร้างแรงจูงใจของนักเรียนได้ ที่ผ่านการแข่งขันหุ่นยนต์จะมีความหลากหลาย จึงเสนอให้กำหนด กรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์เป็นการแข่งขันทางวิชาการให้มากขึ้น  การดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากการดำเนินงานการแข่งขันหุ่นยนต์ที่มีอยู่แล้ว สำหรับการดำเนินงานต่อไป จะแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณากรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์ และให้ผู้เชี่ยวชาญ พิจารณา  เมื่อดำเนินการจัดทำกรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์เรียบร้อยแล้ว จะเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเป็นมาตรฐานการจัดกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์ต่อไป

เปิดรับข้อเสนอโครงการ การพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ และภาพวาดจินตนาการอนาคต

เปิดรับข้อเสนอโครงการ การพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ และภาพวาดจินตนาการอนาคต ภายใต้หัวข้อ Inventions for Sustainable Development Project
ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 ม.ค. 2564 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://obecyounginventor.innoobec-project.com/

โครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรมนำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ในงานวันพ่อแห่งชาติ

โครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรมนำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา สพม.เขต 9 จ.นครปฐม และโรงเรียนชะอำคุณหญิงเนื่องบุรี สพม.เขต 10 จ.เพชรบุรี ร่วมออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ในงานวันพ่อแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1-6 ธันวาคม 2563 ณ มิวเซียมสยาม ถ.สนามไชย กรุงเทพมหานคร

การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนารูปแบบการวิจัยการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ covid 19 ของ รร.คุณภาพประตำบลสู่การปฏิบัติ

วันที่ 6 ธันวาคม 2563 ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนารูปแบบการวิจัยการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ covid 19 ของ รร.คุณภาพประตำบลสู่การปฏิบัติ ณ โรงแรมแคนทารี พระนครศรีอยุธยา

 

 

การแข่งขันหุ่นยนต์พัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยด้านหุ่นยนต์ ครั้งที่ 1

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563

ดร.อโณทัย   ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันหุ่นยนต์พัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยด้านหุ่นยนต์ ครั้งที่ 1 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงเรียนหนองบัว สพม.เขต 42 จังหวัดนครสวรรค์ โดยความร่วมมือระหว่าง International Robot Olympiad Committee ประเทศเกาหลีใต้ Hong Kong Robotic Olympic Association (HKROA) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ชมรมครูหุ่นยนต์ไทย และภาคีเครือข่ายด้านหุ่นยนต์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศในรายการแข่งขันหุ่นยนต์พัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยด้านหุ่นยนต์ ครั้งที่ 1 หรือรายการ Thailand Robot & Robotic Olympiad 2020  ภายในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ Thailand Robot & Robotic Olympiad 2020 และกิจกรรมการประกวดการคัดเลือกนวัตกรรม/วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านหุ่นยนต์ Best Practices Robotic Awards

การประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินโครงการนำร่องศึกษาดูงานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติฯ และการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1/2563

วันที่ 28 ตุลาคม 2563  เวลา 10.00 – 12.00 น. ดร.อโณทัย  ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และ ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด และบุคลากร กลุ่ม คพศ. ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินโครงการนำร่องศึกษาดูงานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติฯ และการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1/2563 ผ่านระบบปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์ซูม Zoom

 

ประชุมหารือกับเลขานุการ รมว.ศธ (นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร) เรื่องการทำงานภายใต้กิจกรรมโครงการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม

 

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ และ ดร.ธัญนันท์  แก้วเกิด และบุคลากรกลุ่มโครงการพิเศษ ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับเลขานุการ รมว.ศธ (นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร) เรื่องการทำงานภายใต้กิจกรรมโครงการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมวชิราวุธ อาคารราชวัลลภ

 

 

สพฐ. จัดอบรมปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำสิ่งแวดล้อมศึกษา การบริหารจัดการขยะมูลฝอยในหน่วยงาน และโรงเรียนปลอดขยะ สพฐ. รุ่นที่ 1

เมื่อวันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมริเวอร์ไซต์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดการอบรมปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education Officer) : การบริหารจัดการขยะมูลฝอยในหน่วยงาน และโรงเรียนปลอดขยะ สพฐ. (OBEC Zero Waste School) รุ่นที่ 1 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย รุ่นที่  คือ นักวิชาการศึกษาและศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานสิ่งแวดล้อมศึกษาและสภานักเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 40 คน จากเขตตรวจราชการ 19 เขต

สืบเนื่องจากรัฐบาลเห็นความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศที่นับวันจะมีความรุนแรง มากยิ่งขึ้น  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางระเบียบ กฎหมาย และมาตรการการบริหารจัดการขยะ อาทิ กระทรวงมหาดไทยจัดทำพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการ ขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559 – 2564) ซึ่งหนึ่งในมาตรการของแผนแม่บทฯ คือ มาตรการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ที่จะต้องดำเนินการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้  สร้างจิตสำนึกและสร้างความตระหนักให้กับเยาวชน ส่งเสริมให้สถานศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย โดยพัฒนาหลักสูตรการจัดการขยะมูลฝอยในการเรียนการสอนทุกระดับ    กอปรกับการที่สภานักเรียนระดับประเทศ ได้เสนอเจตนารมณ์ เรื่อง การส่งเสริมให้นักเรียนไทย เลิกใช้ถุงพลาสติก ผ่านโครงการ Thailand Student Council : TSC ต่อนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563  ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา  เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ โดยการประสานพลังความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมมือกันวางแผนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ของประเทศใน ประเด็น ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง 2) การพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน 3) การบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรียน 4) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชน  ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักสูตรในการอบรมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร สนับสนุนเอกสารและสื่อ การเรียนรู้ รวมทั้งคณะวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้แก่  กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ  Chula Zero Waste  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  PPP Plastic  สมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ)   Less Plastic  สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนเกาะกลาง คลองเตย และวัดจากแดง สมุทรปราการ

การจัดอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบุคลากร สพฐ. ให้เป็นวิทยากรแกนนำที่มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะ ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในหน่วยงาน และโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School)   เพิ่มทักษะในการวิเคราะห์ การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากปัญหาขยะมูลฝอย การมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม  สร้างเครือข่ายการเรียนรูกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ   และสนับสนุนให้มีการขยายผลการจัดการขยะในสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของสภานักเรียน 

สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ทาง http://trainthetrainer.eesdobec.com/

 

 

วิดีโอบรรยากาศกิจกรรมการอบรม

เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแนวทางการจัดเก็บข้อมูลและการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานการใช้น้ำภาครัฐ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้กลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแนวทางการจัดเก็บข้อมูลและการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานการใช้น้ำภาครัฐ  โดยการประชุมดังกล่าว จัดขึ้น เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนท์ ถนนกำแพงเพชร 6 กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแนวทางการจัดเก็บข้อมูลและการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานการใช้น้ำภาครัฐ และนายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดประชุมและมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากส่วนราชการ รัฐวิสหกิจ สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานพยาบาล และกิจกรรมสุขภาพ และผู้สังเกตการณ์ กว่า 100 คน

ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามมาตราการประหยัดน้ำภาครัฐตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 โดยต้องรายงานผลให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ และ สทนช. ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ สทนช. จัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำภาคราชการให้เป็นปัจจุบันตามประเภทและขนาดของหน่วยงาน ให้ครบถ้วน สมบูรณ์ สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์การกำหนดจัดทำเกณฑ์มาตรฐานการใช้น้ำ ที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการ วิธีการและแนวทางในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสอดคล้องกับแผนการดำเนินงาน (Road Map) ขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค กลยุทธ์ที่ 1.4 การประหยัดน้ำทุกภาคส่วน ให้กำหนดอัตราการใช้น้ำในภาคราชการ และพื้นที่ชุมชน ทั้งชุมชนเมือง ชนบท และแหล่งท่องเที่ยว และการส่งเสริมการประหยัดน้ำภาครัฐ ในเบื้องต้น สทนช. โดยกองนโยบายและแผนแม่บทได้ดำเนินการศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์การใช้น้ำสำหรับภาคราชการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับฟังการชี้แจงแนวทางการจัดเก็บข้อมูลและการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานการใช้น้ำภาครัฐ ตลอดจนให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางการประหยัดน้ำภาครัฐ เพื่อที่ สทนช.จะได้นำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดเป็นมาตรการบังคับใช้ต่อไป นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 6 ตามตัวชี้วัด SDGs 6.4.1 การเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพการใช้น้ำทุกช่วงเวลา สำหรับรายงาน UN-WATER ในปี 2020 ที่กำหนดให้จัดทำข้อมูลตามศักยภาพของประเทศ ซึ่งการจัดทำข้อมูลการใช้น้ำภาคบริการตามมาตรฐานอุตสาหกรรมสากลของ UNDP ในกลุ่มส่วนราชการ (O) สถานศึกษา (P) และโรงพยาบาล สถานพยาบาล และกิจกรรมสุขภาพ (Q) ต่อไป
ขอขอบคุณภาพและข่าวจาก https://www.facebook.com/onwrnews