07_คพศ.

การประชุมหารือความร่วมมือในการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2563

การประชุมหารือกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์ และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ประชุมหารือร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์ และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับการดำเนินโครงการ/กิจกรรมในปี 2563 จะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน ในลักษณะของการประกวดนวัตกรรม และการให้ความรู้กับโรงเรียนที่ส่งผลงานเข้ามา  ตั้งโจทย์ปัญหาให้ แล้วคิดค้นนวัตกรรมมาแก้ปัญหา และต่อยอด และนำเสนอแนวคิดในการนำสื่อ เช่น Board Game มาให้ครูนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยในปีนี้ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) ได้นำเสนอนวัตกรรมการจัดการขยะ เช่น นวัตกรรมการจัดการขยะในครัวเรือน และนำเสนอการจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล ณ ศูนย์การเรียนรู้ จังหวัดขอนแก่น

ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีผู้แทนจากบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด มานำเสนอโครงการนำร่อง ในการสร้างองค์ความรู้ และนำกล่อง UHT ไปรีไซเคิล ร่วมกับทางบริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE)เพื่อนำมาใช้ประโยชน์  โดยอัตราการรีไซเคิลของกล่อง UHT ยังคงมีน้อย มีปริมาณการผลิต 100,000 ตันต่อปี แต่การนำกลับมารีไซเคิลได้น้อยกว่า 10%  ที่ผ่านมาทางบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้ร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียน 1,608 โรงเรียน ทั้งนี้การทำกิจกรรมกับโรงเรียน ต้องดำเนินการให้ตอบโจทย์ความต้องการของโรงเรียน โดยไม่เป็นภาระครู และดึงครูออกจากห้องเรียน สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้จาก เว็บไซต์ http://eesdobec.com


			

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์

ด้วย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ “Young AI Robotics” รุ่น 2 โดยเป็นการอบรมความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ให้แก่ครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 10 โรงเรียน มีเป้าหมายให้ครูผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียน และนักเรียนสามารถพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้โรงเรียนในสังกัดที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด สมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยกรอกข้อมูลการสมัครเข้ารับการอบรมผ่านทางเว็บไซต์ bit.ly/BU_airobotics2  ภายในวันที่ 10 มกราคม 2563 รายละเอียดดังสิ่งที่ส่งมาด้วย

ขยายเวลารับสมัคร ข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ แนวคิดใหม่

ความหมายของผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่

 

หมายถึง  ผลงานที่เกิดจากจินตนาการที่สร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยแนวคิดใหม่
ที่ผู้ประดิษฐ์คิดเองตามบริบทและช่วงวัย โดยมีการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ประเภทของสิ่งประดิษฐ์

        1. เทคโนโลยีที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology)

        2. อาหารและเกษตรกรรม (Food and Agriculture)

        3. ความปลอดภัยและสุขภาพ (Safety and Health)

        4. เทคโนโลยีสําหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ   (Technology for Special Need)

        5. การจัดการกับภัยพิบัติ (Disaster Management)

        6. การศึกษาและนันทนาการ (Education and Recreation)

        7. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Aerospace and Aviation)

        8. ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (Artificial Intelligence and Automatic System)

 

นิยามของแต่ละประเภท

       ข้อ 1  สิ่งประดิษฐ์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน ลดปัญหามลภาวะ ส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

        ข้อ 2  สิ่งประดิษฐ์ที่ยกระดับคุณภาพการทํางานด้านการเกษตร อาหารและโภชนาการ

        ข้อ 3  สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ทางด้านความปลอดภัย และสุขภาพ (เช่น อุปกรณ์, ระบบ)

        ข้อ 4  สิ่งประดิษฐ์ที่อํานวยความสะดวกให้กับผู้มีความต้องการพิเศษ เช่น ผู้บกพร่องทางร่างกาย  ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์

        ข้อ 5  สิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ในการตรวจจับป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเพื่อช่วยในการจัดการหลังการเกิดภัยพิบัติ

        ข้อ 6  สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ประโยชน์ในชั้นเรียน หรือเพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ เพื่อจุดมุ่งหมายในการนันทนาการ (เช่น กีฬา, ท่องเที่ยว, บันเทิง และอื่นๆ)

        ข้อ 7   สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ประโยชน์ในด้านการบิน และอำนวยความสะดวกภายในอากาศยาน

       ข้อ 8   สิ่งประดิษฐ์ที่มีแนวคิดในรูปที่เน้นเหตุผลเป็นหลักมีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดและเป็นผู้ช่วยในด้านต่างๆ เช่น ระบบนำทางรถยนต์ไร้คนขับ ช่วยผู้อัจฉริยะในสมาร์ทโฟน หรืออาจจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานได้เหมือนคน

 

ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด

นักเรียนสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อายุระหว่าง 6 – 19 ปี โดยสมัครเป็นทีมเดี่ยว 1  คน หรือ ทีม 2 คน  และครูที่ปรึกษา 1 คน/ทีม

 

เงื่อนไขการส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์

  • ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งเข้าประกวดต้องอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งใน 8 ประเภทที่ระบุข้างต้น (ผลงานที่ไม่สอดคล้องกับประเภทที่ระบุจะไม่ได้รับการพิจารณา)

  • ผลงานสิ่งประดิษฐ์ส่งตามขนาดจริง เมื่อบรรจุลงหีบห่อแล้วต้องมีขนาดไม่เกิน 1 x 0.5 x 0.5 เมตรและน้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม (หากส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์เป็นหุ่นจําลองย่อส่วน ต้องสาธิตแสดงให้เห็นการทํางานได้)

  • ให้ลงทะเบียนส่งเอกสารผลงานผ่านระบบออนไลน์ตามรูปแบบเอกสารที่กำหนดไว้ ที่เว็บไซต์  และนำเอกสารมาในวันประกวดผลงานจำนวน 3 เล่ม

  • การจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ต้องมีโปสเตอร์ประกอบ 1 แผ่น (ขนาด โปสเตอร์ 90 x 120 เซนติเมตร)

  •  โรงเรียนสามารถส่งชิ้นงานได้ประเภทละ 1 ชิ้นงาน (ดังนั้นหนึ่งโรงเรียนสามารถส่งได้ไม่เกิน 8 ผลงาน)

คลิกเพื่อส่งโครงการ

เข้าร่วมอบรมการนำข้อมูลเข้าระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะที่ 2

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กยผ.) จัดการอบรมการนำข้อมูลเข้าระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะที่ ๒ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น.ณ ห้องประชุม ๔๐๑ ชั้น ๔ อาคาร สผ.

โดยมีนางวันทนี เพ็ชรอำไพ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์มาตรการ เป็นประธานเปิดการอบรม ต่อจากนั้นเป็นการอบรมการใช้งานระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะที่ ๒ โดย นายสุพจน์ ชณุทโชติอณันต์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นางสาวจารุณี จารุรัตนวารี และ นายอรรถเศรษ์ฐ จริยธรรมานุกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการจัดอบรมครั้งนี้เพื่อปรับปรุงการจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการนำเข้าข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูล ให้สามารถนำไปใช้งานตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ สพฐ. ได้ส่งผู้แทนจากสำนักพัฒนาพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเข้าร่วมการอบรมด้วย

เยี่ยมชม และพบปะผู้บริหาร ฝ่ายบริหารวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ดร.ธัญนันท์  แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ และคณะ เข้าพบผู้บริหาร ฝ่ายบริหารวิชาการ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง  School of International & Interdisciplinary Engineering Program – Robotics Laboratory ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาโครงการและกิจกรรมด้านการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ต่อยอดให้คุณครูและผู้เรียน สามารถเข้าถึงโอกาสในการระดับการศึกษาต่อ และด้านอาชีพต่อไป

“สุดยอดนักเรียนไทยคว้า 3 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน 7 รางวัล Special Awards ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติ (IEYI 2019) ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย”

วันที่ 25 ตุลาคม 2562 ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งคณะนักเรียนไทยเข้าร่วมการจัดแสดงและประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติ ในงาน International Exhibition for Young Inventors (IEYI 2019) ระหว่างวันที่ 22 – 26 ตุลาคม จังหวัดบันเติน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 9 ทีม รวม 17 คน ซึ่งจากการตัดสินของคณะกรรมการ มีผลการแข่งขันปรากฏว่า มีนักเรียนได้รับรางวัลครบทุกทีม แบ่งเป็น เหรียญทอง 3 รางวัล เหรียญเงิน 6 รางวัล และ Special Awards 7 รางวัล ดังนี้

 

รางวัลเหรียญทอง 3 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “ไฟฉายอเนกประสงค์” โดย เด็กชายกรกฎ วงศ์ชัย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ เด็กชายอชิรวิชญ์ ตามสมัย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอนุบาลเวียงแก่น (จ.เชียงราย) / ผลงาน “กรีนฟิล์มเพคตินจากเปลือกทุเรียน”โดย เด็กหญิงชนากานต์ อินทเจียด และเด็กหญิงศิรประภา กรายแก้ว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา (จ.สุราษฎร์ธานี) และผลงาน “วัสดุดูดความชื้นจากไส้ตันมันสำปะหลัง” โดย นางสาวสุภัสสรา หนูบูรณ์ และนางสาวปิยฉัตร เสียมไหม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีพัทลุง (จ.พัทลุง)
.
รางวัลเหรียญเงิน 6 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “สื่อการเรียนรู้อักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษสำหรับผู้พิการทางสายตา” โดย นางสาวเธียรธีรา พุ่มพวง และนางสาวรัฎศมล น่วมนวล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก (จ.พิษณุโลก) / ผลงาน “แผ่นล่อแมลงจากข้าวตอกรูพรุน – โฟมยางพาราคอมพาวด์” โดย นางสาวเกวลิน สุขไกว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และนางสาวปิ่นศวิตา ทองสลัก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา (จ.สุราษฎร์ธานี) / ผลงาน “นวัตกรรมลูกบอลดินเผาอุ้มน้ำ” โดย นางสาวเจษธิดา สูงขาว และนางสาวประภัสสร ศรีกอก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม (จ.เชียงราย) / ผลงาน “ผลิตภัณฑ์ข้าวตอกบรรจุสารสกัดยีสต์โปรตีนไฮโดรไลเซทและสารสกัด จากสะเดาและ ใบแมงลักคา เพื่อล่อและกำจัดแมลงวันทองในสวนผลไม้” โดย นายอภิลักษณ์ ไวกูณฐ์เวศม์ และนายชยุตพงศ์ ชัยมงคล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย (จ.นครพนม) / ผลงาน “ศึกษาการผลิตอุปกรณ์ปลูกพืชสวนจากใบก้ามปูผสมกากกาแฟเพื่อแก้ปัญหาดินร่วนปนทราย” โดย นางสาวอัจฉริยะกร การพิศมัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดอนจานวิทยาคม (จ.กาฬสินธุ์) และผลงาน “ประสิทธิภาพของถ้วยเก็บน้ำผึ้งแบบจำลองที่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำผึ้งชันโรงในธรรมชาติ” โดย นายธีรภัทร โมราวงศ์ และนางสาวนาดา สมาเอ็ม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดทรงธรรม (จ.สมุทรปราการ)
และ รางวัล Special Awards 7 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “กรีนฟิล์มเพคตินจากเปลือกทุเรียน” โดย เด็กหญิงชนากานต์ อินทเจียด และเด็กหญิงศิรประภา กรายแก้ว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา (จ.สุราษฎร์ธานี) / ผลงาน “แผ่นล่อแมลงจากข้าวตอกรูพรุน – โฟมยางพาราคอมพาวด์” โดย นางสาวเกวลิน สุขไกว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และนางสาวปิ่นศวิตา ทองสลัก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา (จ.สุราษฎร์ธานี) / ผลงาน “สื่อการเรียนรู้อักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษสำหรับผู้พิการทางสายตา” โดย นางสาวเธียรธีรา พุ่มพวง และนางสาวรัฎศมล น่วมนวล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก (จ.พิษณุโลก) / ผลงาน “นวัตกรรมลูกบอลดินเผาอุ้มน้ำ” โดย นางสาวเจษธิดา สูงขาว และนางสาวประภัสสร ศรีกอก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม (จ.เชียงราย) / ผลงาน “ผลิตภัณฑ์ข้าวตอกบรรจุสารสกัดยีสต์โปรตีนไฮโดรไลเซทและสารสกัด จากสะเดา และใบแมงลักคา เพื่อล่อและกำจัดแมลงวันทองในสวนผลไม้” โดย นายอภิลักษณ์ ไวกูณฐ์เวศม์ และนายชยุตพงศ์ ชัยมงคล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย (จ.นครพนม) / ผลงาน “ศึกษาการผลิตอุปกรณ์ปลูกพืชสวนจากใบก้ามปูผสมกากกาแฟเพื่อแก้ปัญหาดินร่วนปนทราย” โดย นางสาวอัจฉริยะกร การพิศมัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดอนจานวิทยาคม (จ.กาฬสินธุ์) และ ผลงาน “ประสิทธิภาพของถ้วยเก็บน้ำผึ้งแบบจำลองที่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำผึ้งชันโรงในธรรมชาติ” โดย นายธีรภัทร โมราวงศ์ และนางสาวนาดา สมาเอ็ม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดทรงธรรม (จ.สมุทรปราการ)

สำหรับการจัดแสดงและประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติ ในงาน International Exhibition for Young Inventors (IEYI 2019) มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน มาเก๊า เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
.
ทั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน International Exhibition for Young Inventors (IEYI 2021) หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า

โดยสามารถติดตามข่าวสารการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ในปี 2563 ได้ที่ http://obecyounginventor.innoobec-project.com/
 หรือ https://www.contestplatform.net/copy-of-inventor2019

 

สิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่

สิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกมีสาเหตุใหญ่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  สภาวะโลกร้อน (Global Warming) และ ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งจะส่งผลกระทบ
อย่างมาก ต่อทุกประเทศในโลก ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้ประสบกับภัยพิบัติ ด้านภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ คลื่นความร้อน และไฟป่าเพิ่มขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้โดยมาก เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลก ขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาความแออัดของประชากรต่อหน่วยพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การขาดแคลนพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมถอย จากการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายสมดุลธรรมชาติอันเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจน และยังเป็นตัวช่วยในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนของประชากรโลก ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการใช้พลังงานในทุกด้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนมากยิ่งขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ และโอกาสที่ภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นในมุมต่างๆ ของโลก ซึ่งปัญหาการปล่อยก๊าซต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการปรากฏการณ์เรือนกระจก
ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนสภาวะภูมิอากาศ ทั่วโลกจึงมีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) “เพื่อให้ บรรลุถึงการรักษาระดับ
ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่ อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงของมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศ การรักษาระดับดังกล่าว ต้องดำเนินการในระยะเวลาเพียงพอที่จะให้ระบบนิเวศปรับตัว โดยไม่คุกคามต่อการผลิตอาหารของ มนุษย์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและ”การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นวาระหลักของการพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อสหประชาชาติได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการพัฒนาของโลกระหว่างปี 2016 – 2030 และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ลงนามร่วมกับภาคีสมาชิก ในการรับรองฉันทามติเป้าหมายการพัฒนาและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติถูกผูกโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 65 ที่กำหนดให้ยุทธศาสตร์ต้องมีการบรรจุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีการเชื่อมโยงทั้ง 30 เป้าประสงค์กับยุทธศาสตร์ชาติ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ถึง 8 ยุทธศาสตร์ โดยจะสอดคล้องมาก ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ว่าด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดของการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนจึงเป็นหลักแนวคิดที่สำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด ลดปริมาณของเสีย ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและไม่สร้างมลพิษที่จะกลายมาเป็นต้นทุนการผลิตในระยะต่อไปและเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว โดยมีเงื่อนไข คือ กระบวนการผลิตและการบริโภคที่มีประสิทธิภาพ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เน้น 2 ประการ ดังนี้

การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable consumption and production) เป็นการผลิต และการบริโภคที่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่สร้างข้อจำกัดต่อกิจกรรมการผลิตและการบริโภคในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคอย่างเหมาะสม การขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ขีดจำกัด
ของทุนทางธรรมชาติที่จะต้องมีการสงวนรักษาไว้ใช้ ประโยชน์สำหรับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นอนาคต

การบริโภคที่ยั่งยืน จึงประกอบด้วย รูปแบบการใช้พลังงาน/แร่ธาตุ/การใช้ยานพาหนะ ที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพและประหยัด มีการเลือกใช้สินค้าและบริการโดยกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม วัตถุดิบหรือองค์ประกอบของสินค้าและบริการไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการลดของเสียหรือกากจากการบริโภค

การผลิตที่ยั่งยืน เป็นการเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่เป็นกากของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลืองจากการพัฒนาเทคโนโลยีและ ทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และการเลือกใช้เทคโนโลยีที่สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต

ในสภาพปัจจุบัน ปัญหาการรับรู้ในด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็น ในเรื่องการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนในภาคประชาชนยังประสบปัญหาความเข้าใจที่ถูกต้องและยังขยาย
องค์ความรู้ที่ชัดเจนในวงที่จำกัด จึงทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งในการขับเคลื่อนเป็นไปได้ช้าและ มีอุปสรรคปัญหา ดังนั้น การให้การศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความตระหนักต่อการดำเนินกิจกรรมด้านการผลิตและบริโภคเป็นมิตร
กับสิ่งแวดล้อมจะเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อสาธารณชนทั่วไป และเปิดกว้าง การรับรู้ในการพัฒนาสู่การเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและนำไปใช้ประโยชน์ และลดผลกระทบ
ต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีพันธกิจหลักในการสร้างประชากรหรือคนที่มีคุณภาพจากการศึกษาให้กับสังคมจากรุ่นสู่รุ่น กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 5 การเติบโตคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 เพื่อเน้นและให้ความสำคัญในการให้ความรู้ที่ถูกต้อง สร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องและส่งเสริม สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการผลิตและบริโภคให้คำนึงถึงทรัพยากรเพื่อคนรุ่นต่อไป เป็นต้นแบบที่มีคุณภาพและมีจิตสาธารณะ สู่ที่บ้านและชุมชนจึงมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการขับเคลื่อนแผน นโยบายและยุทธศาสตร์ และเป็นแนวทางให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ และไปสู่สังคมและเมือง ที่ยั่งยืนต่อไป