07_คพศ.

เข้าร่วมการประชุม Kick off วันดินโลก “รักษ์ปฐพี คืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน”

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมอบหมายให้บุคลากรกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เข้าร่วมการประชุม Kick off วันดินโลก “รักษ์ปฐพี คืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน” ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมพัฒนาที่ดิน มีนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรดิน โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในเรื่องทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งร่วมผลักดันเรื่องวันดินโลก ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำ สมาคมดินโลก และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยได้มีการจัดงานวันดินโลกในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี สำหรับในปี 2563 สมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (Global Soil Partnership : GSP) ได้กำหนดหัวข้อการจัดงานวันดินโลก “Keep Soil Alive, Protect Soil Biodiversity : รักษ์ปฐพี คืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน” ระหว่างวันที่ 4 – 7 ธันวาคม 2563 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งเอเชีย (CESRA) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหัวข้อที่ให้ความสำคัญของนิเวศวิทยา และความหลากหลายทางชีวภาพในดินของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ระดับจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก และสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่

 

ศึกษาดูงานศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช กทม.

วันที่ 27 สิงหาคม 2563 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มโครงการพิเศษ ได้รับเชิญจาก Chula Zerowaste และเครือข่ายขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช กทม. เพื่อเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตระหนักในการจัดการกับปัญหาขยะมูลฝอย โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดเป็นนโยบายหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) อย่างต่อเนื่อง

ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช มีพื้นที่ประมาณ 580 ไร่ เป็นศูนย์ในการจัดการขยะคิดเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะที่เก็บได้ใน กทม.  โดยมีปริมาณขยะที่เข้ามาประมาณ 3,800 ถึง 4,000 ตันต่อวัน การกำจัดขยะมีอยู่ 3 ประเภทได้แก่การนำขยะไปเป็นพลังงานไฟฟ้า   นำขยะไปหมักเป็นแก๊สแล้วนำแก๊สไปปั่นเจนเนอเรเตอร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า  การนำขยะไปทำเป็นปุ๋ยส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถนำไปทำอย่างอื่นได้ก็จะนำไปทำเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) และส่วนที่เหลือจากนั้นก็จะทำการฝังกลบ 

ประเด็นที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ คือ ได้พบว่าปลายทางของขยะไปที่ไหน และทำอย่างไรจึงจะมีการจัดการขยะที่ดี ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้สามารถแปรรูปขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มีประสิทธิภาพ โดยทุกคนควรมองว่า ปัญหาขยะเป็นเรื่องของเราทุกคน หากเราไม่จัดการ จะก็ส่งผลกระทบต่อตัวเราในที่สุด

 

 

 

 

นิเทศ ติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา “สืบสานศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ สพป.นครสวรรค์ เขต 1

ดร.อโณทัย  ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา มอบ ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ และคณะ ร่วมนิเทศ ติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา “สืบสานศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ สพป.นครสวรรค์ เขต 1 ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานแห่งชาติ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย

วันพุธที่ 19 สิงหาคม 2563 ดร.อโณทัย  ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา มอบกลุ่มโครงการพิเศษ ( คพศ.) เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานแห่งชาติ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) ของประเทศไทย ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 2 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร

ซึ่งในงานนี้จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดย กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (กลช.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานแห่งชาติเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย : การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) เมื่อวันอังคารที่่ 19 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมี ดร.จิตตินันท์ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม นางสาวสุกัญญา วิศาล ผู้อำนวยการกลุ่มการขับเคลื่อนนโยบายและกลไก เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยการจัดประชุมได้มีการนำเสนอร่างรายงานแห่งชาติเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ปิยะกาญจน์ เที้ยธิทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่ชุ่มน้ำ และการเสวนา “บทเรียนและความสำเร็จของการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ” โดย ดร.เพชร มโนประวิตร นักวิชาการอิสระ นายยรรยง ศรีเจริญ WWF ประเทศไทย และ ผู้แทนจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อจากนั้นได้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างรายงานแห่งชาติเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ซึ่งมีผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากหน่วยงานที่กำกับดูแลแรมซาร์ไซต์ และเจ้าหน้าที่ สผ. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงการมีโครงการ การสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลของโครงการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานแห่งชาติ

ที่มา : https://www.facebook.com/onep.gov.th

เทปการประชุมย้อนหลัง https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1955042178136077&id=101073878233473

เว็บไซต์หลัก : http://wetland.onep.go.th/ramsarsites.html และ  https://www.ramsarsitethailand.com

 

สพฐ. วางแผน Train the trainer ขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ ในโรงเรียน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา จัดการประชุมคณะทำงานพัฒนาระบบ การบริหารจัดการขยะในโรงเรียน (ฝ่ายเผยแพร่ความรู้) เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 10 กระทรวงศึกษาธิการ

การประชุมในครั้งประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน มาร่วมกันออกแบบกิจกรรมในการอบรมผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยกำหนดจัดในปลายเดือนสิงหาคมนี้

 

 

 

 

สพฐ.วางแผนพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน

นายสนิท  แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ณ ห้องประชุม DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อวางแผน และกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งในส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 140/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน ตามประกาศเจตนารมณ์ของสภานักเรียนระดับประเทศ และคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ. 368/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน  โดยได้มีการวางแผนดำเนินงานขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดขยะ สพฐ. ได้แก่ การเผยแพร่ความรู้ การจัดกิจกรรม Train the Trainer กิจกรรม Zero waste camp และการจัดการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ( Digital Education Excellence Platform : DEEP)  และ OBEC Content Center เป็นต้น โดยใช้ผลการประเมินตนเองในการดำเนินงานของ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลด้านการบริหารจัดการและสร้างวินัยในการลดและคัดแยกขยะภายใต้แนวคิดโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) 

แนวทางการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2563

 

ด้วย กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมีกรอบการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ จำนวน 3 ระยะ ได้แก่ ต้นทาง คือ การลดปริมาณขยะและการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง กลางทาง คือ การจัดทำระบบเก็บขนอย่างมีประสิทธิภาพ และปลายทาง คือ ขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง
ตามหลักวิชาการ โดยใช้หลักการ 3 ช : ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ 3Rs : Reduce Reuse Recycle ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย แจ้งว่าแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงขอความร่วมมือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แผนปฏิบัติการฯ ให้แก่หน่วยงานในสังกัดทราบ เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยของประเทศมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564)
จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปีพ.ศ. 2563 ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กรอบการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการจัดการขยะต้นทาง ด้านการจัดการขยะกลางทาง และด้านการจัดการขยะปลายทาง
2. เป้าประสงค์ คือ
2.1 ขยะมูลฝอยมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
2.2 ขยะมูลฝอยตกค้างสะสมได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
2.3 ขยะมูลฝอยได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพิ่มขึ้น
2.4 ขยะอันตรายได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพิ่มขึ้น
2.5 ประชาชนในพื้นที่มีความตระหนักและความเข้าใจในการจัดการขยะที่ต้นทางเพิ่มขึ้น
2.6 การดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสุขภาวะที่ดีของท้องถิ่นและจังหวัด
3. ตัวชี้วัดเป้าประสงค์ ได้แก่
3.1 ด้านการจัดการขยะต้นทาง
3.1.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 100 ออกข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ
การจัดการขยะมูลฝอย
3.1.2 ครัวเรือน ร้อยละ 100 มีการบริหารจัดการขยะอินทรีย์
3.1.3 ครัวเรือน ร้อยละ 60 เข้าร่วมเครือข่าย “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก”
เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอย

3.2 ด้านการจัดการขยะกลางทาง
3.2.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 100 มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอย
แบบแยกประเภทในที่สาธารณะและหรือสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง
3.2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 85 มีการวางระบบการเก็บขน
หรือมีประกาศ เก็บขนขยะมูลฝอยให้สอดคล้องกับพื้นที่
3.2.3 หมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 100 มีการจัดตั้ง “จุดรวบรวมขยะอันตรายชุมชน”
3.3 ด้านการจัดการขยะปลายทาง
3.3.1 ขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นและเก็บขนได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
ร้อยละ 80 ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
3.3.2 ขยะมูลฝอยตกค้างได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 100
3.3.3 กลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 100 ในแต่ละจังหวัดมีการจัดทำแผนการจัดการขยะมูลฝอย โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยจังหวัด
รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2563
ให้กับโรงเรียนในสังกัดทราบต่อไป

 

โดยสามารถดาวน์โหลด เอกสาร ตามรายละเอียดด้านล่างนี้

ขยายเวลาการส่งผลงานโครงการประกวดบรรจุภัณฑ์วัสดุทดแทนถุงเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนถึง 30 ก.ย. 63

กรมป่าไม้ ขอเชิญนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดบรรจุภัณฑ์วัสดุทดแทนถุงเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชิงเงินรางวัล พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร

หลักเกณฑ์

บรรจุภัณฑ์ที่ส่งเข้าประกวดต้องระบุรายละเอียดวัสดุที่นํามาใช้ ขั้นตอนและวิธีการผลิต รวมถึงต้นทุนการผลิตอย่างถูกต้องครบถ้วน
วัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องเป็นวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและบรรจุภัณฑ์ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ในระยะเวลา ประมาณ 1 ถึง 2 ปี
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ต้องมีต้นทุนมูลค่าโดยเฉลี่ยไม่เกิน 0.85 บาท ต่อ 1 หน่วยบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถ รองรับการผลิตจํานวนมาก 1 ล้านชิ้น และกรมป่าไม้สามารถนํามาใช้ในการเพาะชํากล้าไม้ได้จริงในอนาคต
มีการนําเสนอบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สําหรับการทดสอบอย่างน้อย 50 ชิ้น ซึ่งต้องเป็นวัสดุที่ใช้ในการ เพาะชํากล้าไม้ได้จริง และมีปริมาตรการบรรจุวัสดุเพาะชํากล้าไม้ตั้งแต่ 250 ถึง 300 ลูกบาศก์เซนติเมตร

 

ส่งใบสมัครพร้อมผลงาน

ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่บัดนี้ – วันที่ 30 กันยายน 2563
ส่งที่ ส่วนผลิตกล้าไม้ สานักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้
เลขที่ 61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว
เขตจตุจักร กรุงเทพ ฯ 10900
(วงเล็บมุมซองโครงการประกวดบรรจุภัณฑ์วัสดุทดแทนถุงเพาะชากล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
รางวัลการประกวด
รางวัลแบ่งตามผู้เข้าประกวดเป็น 3 ประเภท คือ ระดับมัธยมศึกษา หรืออาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งแต่ละประเภทจะได้รับการมอบรางวัลจากอธิบดีกรมป่าไม้ ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ โล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเงินรางวัล มูลค่า 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โล่รางวัลจากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเงินรางวัล มูลค่า 20,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โล่รางวัลจากอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมเงินรางวัล มูลค่า 10,000 บาท
รางวัลชมเชย จํานวน 3 รางวัล แต่ละรางวัลจะได้รับเกียรติบัตร จากกรมป่าไม้และเงินรางวัล มูลค่า 5,000 บาท
ติดต่อสอบถาม

ฝ่ายพัฒนากล้าไม้ ส่วนผลิตกล้าไม้ สานักส่งเสริมการปลูกป่า
โทรศัพท์ : 0 2561 4292-3 ต่อ 5517/5520

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน ตามประกาศเจตนารมณ์ของสภานักเรียน ระดับประเทศ ครั้งที่ 1/2563

                         จันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 10 ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนตามประกาศเจตนารมณ์ของสภานักเรียน ระดับประเทศ โดยมีผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาคเอกชนหลายองค์กร มาร่วมระดมความคิด วางแผนการดำเนินงาน และผลักดันการขับเคลื่อนการดำเนินการลดขยะในโรงเรียนทั่วประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียนและชุมชน