03_วนบ.

สพฐ. ร่วมประชุมสามัญประจำปี 2568 มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี เดินหน้าสานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการศึกษาไทย

วันที่ 25 มิถุนายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เข้าร่วมการประชุมสามัญประจำปี 2568 ของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Foundation) โดยมี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ เป็นประธานการประชุม และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิฯ นำคณะผู้บริหารจาก 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้งเข้าร่วม ณ อาคารทรูดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพมหานคร

.

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันทบทวนผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางการพัฒนาในอนาคต แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และร่วมวางแผนการขับเคลื่อนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการศึกษาไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในด้านการสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ พัฒนาศักยภาพครู สนับสนุนทรัพยากรและเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและเอกชนในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั่วประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือผ่านกลไกของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี จะเป็นพลังสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมทางการศึกษาสำหรับเด็กไทยทุกคน

ศธ.-สพฐ. จับมือ ซีพี ออลล์ฯ สานพลัง “โรงเรียนร่วมพัฒนา” สร้างคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึง

วันที่ 4 มีนาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ โครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ระหว่าง สถานศึกษาในจังหวัดลพบุรี กับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดลพบุรี และคณะทำงานบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ณ โรงเรียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี
.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม “จับมือ” “ร่วมพัฒนา” และ “ขยายผล” จะสามารถยกระดับการศึกษาของประเทศได้ และเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาที่ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นพลังนำพาการศึกษาไทยให้ก้าวไปทัดเทียมนานาประเทศได้ ซึ่งจังหวัดลพบุรีนับเป็นจังหวัดที่สองต่อจากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการลงนามความร่วมมือในโครงการนี้ โดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จะนำนวัตกรรมของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ มาถ่ายทอดและดำเนินการช่วยการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนร่วมพัฒนาเหล่านี้ รวมถึงหากนักเรียนในโครงการนี้ประสงค์ที่จะศึกษาต่อในสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ก็พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาตลอดจนจบระดับอุดมศึกษา หรือหากประสงค์จะประกอบธุรกิจ ก็จะมีการต่อยอดองค์ความรู้ด้านธุรกิจต่าง ๆ ให้ด้วยเช่นเดียวกัน
.
นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นความร่วมมือในการจัดทำทวิภาคี หากผู้เรียนประสงค์จะศึกษาต่อก็จะมีการส่งต่อไปที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวมีแผนการขับเคลื่อนเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะมีการวางแผนการดำเนินงานกับภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมมือในโครงการนี้ และจะสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเต็มที่
.
ด้านนายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทฯ เป็นภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนการศึกษามาโดยตลอด เพราะเรามีสถาบันการศึกษาเป็นของตัวเอง ซึ่งขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดึงภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยสนับสนุนการศึกษาด้วยการทำโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสู่การพัฒนาประเทศ โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาทำให้ผู้เรียนจบแล้วมีงานทำ มีอนาคตที่ดีต่อไป
.
สำหรับความร่วมมือดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว ด้วยการมีส่วนร่วมจากผู้สนับสนุนทุกภาคส่วน ทั้งนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการทำความร่วมมือโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนามา จำนวน 3 รุ่น และ สพฐ. ได้รับการประสานจาก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนโรงเรียนในโครงการแจ้งความประสงค์ขอสนับสนุนโรงเรียนในโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี จำนวน 22 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 จำนวน 4 โรง โรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 จำนวน 7 โรง และโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลพบุรี จำนวน 11 โรง

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สพฐ.

การประชุมแนวทางความร่วมมือ 3 ภาคส่วนในการสนับสนุนการศึกษาไทย ประจำปี 2566” (​CONNEXT ED CONFERENCE 2023) ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น 3 True Digital Park วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 โครงการคอนเน็กซ์อีดี ประกอบไปด้วยมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กอีดี กระทรวงศึกษาธิการ และภาคประชาสังคม จัดการประชุม “แนวทางความร่วมมือ 3 ภาคส่วนในการสนับสนุนการศึกษาไทย ประจำปี 2566” (​CONNEXT ED CONFERENCE 2023) ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น 3 True Digital Park โดยมี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ พร้อมด้วยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ, พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม ภาครัฐ และผู้บริหารจาก 52 องค์กรเอกชน ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงาน และหารือแนวทางการพัฒนาตาม 5 ยุทธศาสตร์หลักเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ก้าวทันยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงของโลก

ระหว่างการประชุม พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมแนวทางการทำงานด้านการศึกษาของภาคเอกชนที่มีส่วนช่วยเข้ามาเติมเต็มการศึกษาของประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนโรงเรียนของภาครัฐซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ จำนวน 5,570 โรงเรียน ซึ่งมีนโยบายต่างๆของโครงการคอนเน็กซ์อีดีสามารถดำเนินการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการได้  นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอแนวทางเสริมถึงความเป็นไปได้ในการขยายโอกาสเพื่อรับทรัพยากรที่ดีจากมูลนิธิการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี ในการพัฒนาระบบการจัดการสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป เช่น การพัฒนาระบบประเมินผลผู้เรียนตามหลักยุทธศาสตร์ 5 ของโครงการ ,การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้เป็นไปตามยุคสมัย ,ระดมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 Goals มาใช้กับภาคการศึกษา
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นต่อไป โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกล่าวคำขอบคุณต่อทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาประเทศไทยตลอดมา

สำนักพัฒนานวัตกรรมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนการดำเนินงานโรงเรียนภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

วันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2566 เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมาย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (นายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนการดำเนินงานโรงเรียนภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จัดโดยกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร (วนบ.) ภายใต้การดำเนินงานของ ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบโครงการจากทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ เพิ่มเติมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และชี้แจงบทบาทความร่วมมือการดำเนินงานในโรงเรียนภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ร่วมจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ แก่รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ พบปะ และร่วมบรรยายพิเศษ แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

จากกิจกรรมการประชุม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมจัดทำข้อเสนอการพัฒนาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ซึ่งเป็นการระดมวางแผนจากผู้ปฎิบัติจริงในพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ โครงการคอนเน็กซ์อีดี เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เป็นโครงการที่มีส่วนในการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณลักษณะ และสมรรถนะความเป็นผู้นำในการบริหารสถานศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบ ICT พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน และยกระดับด้านการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษา

การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษาสู่การเป็นผู้นำทางนวัตกรรมและมีสมรรณะภาษาต่างประเทศเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Innovative Leaders for SDGs)

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยการดำเนินการของกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นำทีมโดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่ม จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษาสู่การเป็นผู้นำทางนวัตกรรมและมีสมรรณะภาษาต่างประเทศเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Innovative Leaders for SDGs) ระหว่างวันที่ ๑ – ๕ มีนาคม ๒๕๖๖ ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ รัชดา กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจเป้าหมายโลกสู่การพัฒนาที่ยังยืน พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา วิจัยต่อยอดองค์ความรู้ รวมทั้งพัฒนาสมรรถนะการสื่อสารภาษาต่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล โดยรับสมัครและคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงและมีสมรรถนะด้านภาษาต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Innovative Leaders for SDGs) จำนวน 50 คน เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้
ทั้งนี้พิธีเปิดการอบรมได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า เป็นประธาน พร้อมให้โอวาทเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้เข้ารับการอบรม

 

การประชุมปฏิบัติการจัดทำตัวชี้วัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระหว่างวันที่ 23 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร นำทีมโดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่ม ดำเนินการจัดการประชุมปฏิบัติการจัดทำตัวชี้วัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระหว่างวันที่ 23 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายเพื่อนำตัวชี้วัดตามเป้าหมายการพัฒนาของโลก (ระหว่างปี 2558 – 2573) ที่ครอบคลุม มิติการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาคน การพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง การสร้างสันติภาพและความยุติธรรม และการพัฒนาหุ้นส่วนความร่วมมือ มาจัดทำเป็นตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้ และจัดทำคู่มือเพื่อใช้ประกอบการอบรมขยายผลในอนาคตแก่ผู้เข้าอบรมวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี

ทั้งนี้ได้มีคณะทำงานเข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 45 คน ประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน และนักวิชาการศึกษา โดยการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการ และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. เข้าร่วมสังเกตและให้คำปรึกษาในการประชุมครั้งนี้ และได้รับเกียรติจาก ดร.ดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมให้ความรู้ในหัวข้อกรอบทิศทางและการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม รวมถึงได้รับเกียรติจาก ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมให้โอวาทเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจแก่คณะทำงาน

ประกาศผลการคัดเลือกต้นแบบผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงและมีสมรรถนะด้านภาษาต่างประเทศ

โครงการมอบหนังสือสู่ห้องสมุดโรงเรียนครั้งที่ 14 โดยธนาคารกรุงเทพ

วันที่ 24 มกราคม 2566 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รับมอบหนังสือ “ปลูกใจเยาวชนรักษ์ธรรมชาติ คืนชีวิตฟื้นสิ่งแวดล้อม” ผนวกชุดเรียนคณิตฯ คิดสนุก พร้อมหนังสืออ่านนอกเวลา จากนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยมี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสพฐ. ครูและบรรณารักษ์จากโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ (สีลม) รวมถึงยังจัดทำระบบ ZOOM เพื่อให้ครู อาจารย์ และแขกผู้เกียรติสามารถร่วมชมบรรยากาศภายในงาน นอกจากนี้ยังได้จัดชุดการแสดง “สร้างเมล็ดพันธุ์ (เด็กน้อย) รักษ์ธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม” โดย “เจ้าขุนทอง” รายการผู้บุกเบิกการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยหุ่นมือรูปสัตว์ต่างๆ ร่วมสร้างสีสันอีกด้วย

 

ธนาคารกรุงเทพ จับมือ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จัดโครงการ “มอบหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียนที่ขาดแคลน 400 แห่ง” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 โดยได้จัดพิธีมอบหนังสือชุดพิเศษ ภายใต้แนวคิด “ปลูกใจเยาวชนรักษ์ธรรมชาติ คืนชีวิตฟื้นสิ่งแวดล้อม” จำนวนกว่า 100,000 เล่ม รวมมูลค่า 8 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 1.หนังสือนิทาน 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ จำนวน 9 เรื่อง เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม น้ำ อากาศ สัตว์ พืช เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจง่าย เสริมสร้างจินตนาการ 2.หนังสือการ์ตูนชุด “เรียนคณิต คิดสนุก” จำนวน 5 เรื่อง เพื่อบ่มเพาะนิสัยรักวิชาคณิตศาสตร์ และ 3.หนังสืออ่านนอกเวลา จำนวน 25 เรื่อง อาทิ สารคดี หนังสือความรู้รอบตัว นวนิยายสั้น เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต โดยมี นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มอบหนังสือให้กับนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เพื่อส่งต่อให้กับโรงเรียน 400 แห่ง

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมสร้างคุณค่าแก่สังคมมาโดยตลอด โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการศึกษา เพราะเชื่อมั่นว่าการให้ความรู้คือการให้ที่ยั่งยืนที่สุด จึงร่วมกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ทำโครงการมอบหนังสือเข้าห้องสมุดให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้สังคมและเยาวชนของเราเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลา 13 ปี มีโรงเรียนและห้องสมุดที่ได้รับหนังสือไปแล้ว 7,181 แห่ง ทั่วประเทศ

 

สำหรับการดำเนินงานในปีนี้เป็นปีที่ 14 โดยมอบหนังสือชุด “ปลูกใจเยาวชนรักษ์ธรรมชาติ คืนชีวิตฟื้นสิ่งแวดล้อม” ให้กับโรงเรียนอีกจำนวน 400 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน เพราะนอกจากให้เด็กๆ มีโอกาสเข้าถึงหนังสือซึ่งเป็นแหล่งความรู้ได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนรู้จักอนุรักษ์ธรรชาติ หวงแหนผืนป่าและสัตว์ป่า ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยเพราะเราเชื่อว่า ความรู้ เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่แบ่งปันกันได้อย่างไม่จำกัดและเจริญงอกงามต่อไปได้ในอนาคต

ด้านนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เผยว่า โครงการมอบหนังสือเข้าห้องสมุดของธนาคารกรุงเทพ และ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม  สร้างสรรค์ผลักดัน ขยายความรู้ และให้โอกาสทางด้านการศึกษา เพราะการพัฒนาคุณภาพของเด็กและเยาวชน เป็นเป้าหมายสูงสุดของหลักสูตรการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใดๆ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและตอบโจทย์การพัฒนาของโลกในอนาคต นำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของเยาวชน เปลี่ยน ‘ห้องเรียน’ เป็น ‘ห้องเรียนรู้’ เพิ่ม “ห้องเรียนรู้” เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีคุณค่า  อย่างไรก็ตามหัวใจของการเรียนรู้ ประกอบด้วยจุดประสงค์การเรียน กระบวนการเรียนรู้ และการประเมินพัฒนาการเรียนรู้ เป็นการเสริมสร้างคุณภาพการเรียนของเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้เชิงลึก คือรู้จริง รู้ชัด สามารถนำความรู้ ความคิด ทักษะ ไปใช้ต่อยอด และทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมต่อไปในอนาคต

การประชุมโครงการพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดีระหว่างวันที่ 15 – 18 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรม แกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ กรุงเทพมหานคร

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร (วนบ.) นำทีมโดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ระหว่างวันที่ 15 – 18 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรม แกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำหลักสูตร เรียบเรียงสาระสำคัญของการอบรมให้มีองค์ความรู้เชิงลึกมากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมกระบวนการออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับบริบท ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและระดับสถานศึกษา ตลอดจนใช้เป็นคู่มือสำหรับการขยายผลการอบรมวิทยากรแกนนำในรุ่นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม วิทยากรแกนนำจะนำหลักสูตรที่ได้รับ ไปขับเคลื่อนให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัดเพื่อต่อยอดกิจกรรมและเป็นต้นแบบการพัฒนาวิทยากรแกนนำรุ่นต่อไป การอบรมครังนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษ มีผู้เข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วย ผู้บริหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 60 คน

การประชุมเชิงปฎิบัติการ”สรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฎิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565″ ระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2565 ณ โรงแรมจันทรา รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

ช่วงระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2565 กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (วนบ.) และ กลุ่มโครงการพิเศษ (คพศ.) นำทีมโดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการ “สรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ณ โรงแรมจันทรา รีสอร์ท จังหวัดนครนายก” ซึ่งมีคณะทำงานเข้าร่วมทั้งหมด 60 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน  คณะอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย นักวิชาการศึกษา และข้าราชการบำนาญ โดยการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการ และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. เข้าร่วมสังเกตุและให้คำปรึกษาในการประชุมครั้งนี้

วัตถุประสงค์การประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อทบทวนและสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภาพความสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่อง ดังนี้
1) สรุปผลการดำเนินงานโครงการคอนเน็กซ์อีดี
2) สรุปผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา
3)
สรุปผลการดำเนินงานโครงการสร้างเสริมศักยภาพ
ในการเป็นพลเมืองอาเซียนและเตรียมสู่การเป็นพลเมืองโลกอย่างยั่งยืนและ
4) สรุปผลการดำเนินงาน
ด้านสิ่งแวดล้อม
พร้อมทั้งจัดทำเล่ม “สรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ
พ.ศ. 2565 ต่อไป

การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ระยะที่ 1 รุ่นที่ 1 (ครั้งที่ 2 )

วันที่ 9 กันยายน 2565 กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. โดย ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่ม ดำเนินการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านการบริหารการศึกษา ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ระยะที่ 1 รุ่นที่ 1 ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมรอแยล เบญจา สุขุมวิท 5 กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ เข้ารับการพัฒนาองค์ความรู้ตามเป้าหมายโลกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อยอดจากการอบรมในครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2565 เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอด ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการบริหารในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผล ไปสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นได้
โดยการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการ และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. เป็นประธานเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษแก่ผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 80 คน ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา นักวิชาการศึกษา ครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้อง

การอบรมเชิงปฏิบัติการตามระเบียบวิธีวิจัย ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการตามระเบียบวิธีวิจัย ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรในสังกัด สพฐ. ด้านระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง ทั้งในเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และแบบผสมผสาน (Mixed – Method Research) ทราบถึงความคืบหน้า เติมเต็มงานวิจัยที่มีคุณภาพและมีความสมบูรณ์ครบถ้วน โดยดำเนินการ ดังนี้ 1) จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในสังกัดด้านระเบียบวิธีวิจัย 2) คณะทำงานภาคเอกชนภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดียืนยันผลการลงเก็บข้อมูลและการเขียนรายงานการวิจัย 3) นำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินการวิจัย ทั้ง 17 เรื่อง ต่อคณะผู้ทรงคุณวุฒิและรับการเติมเต็มงานให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน

โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เป็นประธานเปิดการอบรม และมีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1) ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษา นักการศึกษา 2) ผู้แทนจากบริษัท จำนวน 14 บริษัท  3) ผู้ดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 110 คน