ภารกิจผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญ สนก.

งาน“มหาจุฬา สมัชชาวิถีพุทธ” ครั้งที่ 3

เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 เมษายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เข้าร่วมจัดงาน“มหาจุฬา สมัชชาวิถีพุทธ” ครั้งที่ 3 ซึ่งได้จัดการประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทางพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 5 (5th MCU Contest) และมีพิธีมอบโล่เกียรติคุณสำหรับนักเรียนและโรงเรียนที่ได้รับรางวัลในระดับต่าง ๆ จากทั่วประเทศ กว่า 300 โรงเรียน โดยมีพระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร.อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร ) เป็นประธานในพิธี และได้รับเกียรติจากนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวและเป็นผู้มอบโล่พระราชทาน โล่ประทาน สำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทางพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 5 (5th MCU Contest) พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เข้าร่วมในพิธีและมอบประกาศเกียรติคุณให้กับโรงเรียนที่ชนะการประกวดในระดับต่าง ๆ นอกจากนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร ) กับ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน น้อมนำเอาหลักพุทธรรมเข้าไปบูรณาการกับหลักสูตรการเรียนการสอน และสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามเป้าหมายการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ในส่วนของการกิจกรรมการประกวดในปีนี้ สํานักงานพระสอนศีลธรรม และ สํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ร่วมกันดําเนินการคัดเลือก และประเมินโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ
เพื่อยกย่องประกาศเป็นโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนํารุ่นที่ 12 และโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน รุ่นที่ 4 โดยมีโรงเรียนวิถีพุทธผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนํารุ่นที่ 12 จํานวน 243 โรงเรียน และเป็นโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทานรุ่นที่ 4 จํานวน 43 โรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะสามารถส่งเสริมจริยธรรมคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและผู้บริหารโรงเรียน ภายใต้การบูรณาการหลักธรรมสู่การจัดการเรียนการสอนให้เกิดการพัฒนาเพิ่มขึ้นต่อไปได้ในอนาคต

การประชุมชี้แจงผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การต่อยอดเยาวชนไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ ZOOM Meeting)

วันที่ 25 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 – 16.00 น. สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) ได้ประชุมเตรียมความพร้อมผู้รับผิดชอบและชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การต่อยอดเยาวชนไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ ZOOM Meeting)

การประชุมชี้แจงการดำเนินงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. จักรพงษ์ วงค์อ้าย  รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายในการประชุมดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบโครงการในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 62 เขต เพื่อให้ทราบแนวทางการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม และประสานความร่วมมือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันบรรลุตามวัตถุประสงค์การขับเคลื่อนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อไป




 

สพฐ. จับมือกับ ม. สวนดุสิต เปิดอบรมครูรูปแบบออนไลน์ เพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับครู

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเทคนิคและแก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับครู ภายใต้โครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑ + ๒ + ๑” สำหรับการศึกษา ระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน – อาเซียน ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) และสาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ม.สวนดุสิต

การอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและลูกค้าสัมพันธ์ ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้เกียรติบรรยายพิเศษแก่ผู้เข้ารับการอบรม

การจัดอบรมขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 13 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีครูผู้สอนภาษาจีนให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมการอบรมจำนวนกว่า 900 คน ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ จำนวน 250 คน ที่จะได้รับการพัฒนาและทดสอบเพื่อรับวุฒิบัตรจาก สพฐ. และ ม.สวนดุสิต ต่อไป



สพฐ. รับมอบหนังสือ ชุด “ชวนน้องรักษ์โลก รักษ์ชีวิต กับความพอเพียง” จาก แบงค์กรุงเทพ และประพันธ์สาส์น แก่โรงเรียน 400 โรงเรียน มูลค่า 8,000,000 บาท

วันที่ 28 มกราคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมกับนายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน และนายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้เข้าร่วมพิธีรับมอบหนังสือ ชุด “ชวนน้องรักษ์โลก รักษ์ชีวิต กับความพอเพียง” จาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด โดยมี นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหารกรรมการกำกับดูแลกิจการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมส่งมอบ เพื่อส่งต่อหนังสือให้แก่ห้องสมุดที่ขาดแคลนหนังสือทั่วประเทศ 400 โรงเรียน มูลค่า 8,000,000 บาท ณ ห้องประชุมบัวหลวง ชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ รวมถึงคณะผู้บริหารโรงเรียน ครู บรรณารักษ์ จากโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมพิธี จำนวน 20 โรงเรียน และ ผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม ZOOM 380 โรงเรียน โดยพร้อมเพรียงกัน

สืบเนื่องจากการสำรวจโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบว่า มีหนังสือประจำห้องสมุดในจำนวนที่น้อยมาก ไม่เพียงพอกับเด็ก ๆ ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ได้เข้าถึงหนังสือที่มีประโยชน์ สร้างเสริมคุณค่าการอ่าน เพิ่มพูนความรู้ และเปิดประสบการณ์ ให้แก่เด็กและเยาวชน แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด สานต่อกิจกรรมเป็นปีที่ 13 ด้วยหัวข้อ “ชวนน้องรักษ์โลก รักษ์ชีวิต กับความพอเพียง” โดยใช้หนังสือเสริมประสบการณ์ชีวิต ผนวกกับจัดการแสดงละครเวทีเรื่อง “รักเรา…รักษ์โลก” จากน้อง ๆ หนู ๆ โรงเรียนอนุบาลแสง เพื่อกระตุ้นการรับรู้และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความรู้ในการใส่ใจดูแลตัวเองท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขณะเดียวกันยังเสริมสร้างทักษะการอ่าน และการพูด ด้วยการมอบหนังสือที่มีคุณภาพทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งปีนี้ได้คัดสรรหนังสือหลากหลายชุดด้วยกัน

เริ่มจาก หนังสือชุดที่ 1 “Cool Days Series” ซึ่งเป็นหนังสือเด็กและเยาวชน ที่บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดทำขึ้น โดยเนื้อเรื่องนำมาจากงานเขียนของ การ์เม โดลซ์ และวาดภาพประกอบโดย เอสเตอร์ เมนเดซ ซึ่ง “Cool Days Series” ประกอบด้วยหนังสือสี่สีจำนวน 5 เล่ม ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ รอบตัว และเห็นถึงการรักษ์โลกอย่างถูกวิธี ที่ทุกคนสามารถทำได้ รวมทั้งความประทับใจในตัวของพ่อ-แม่ ผู้เป็นต้นแบบของเด็ก ๆ ด้วย

หนังสือชุดที่ 2 “เรียนรู้ความพอเพียง” ประกอบด้วยการ์ตูนภาพสี่สีสวยงาม จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ แก๊งป่วนชวนเรียนรู้ สวนจิตรลดา เล่ม 1-2, แก๊งป่วนอยู่อย่างพอเพียง, แก๊งป่วนเรียนรู้เรื่องน้ำ, แก๊งป่วนเรียนรู้เรื่องดิน, แก๊งป่วนเรียนรู้เรื่องขยะ ซึ่งหนังสือการ์ตูนชุดนี้ล้วนเป็นสื่อการสอนสำหรับเด็ก ให้เรียนรู้ถึงแนวทางพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ซึ่งหนังสือการ์ตูนชุด “เรียนรู้ความพอเพียง” ทั้ง 6 เล่ม ไม่เพียงแต่มีสาระประโยชน์เท่านั้น หากยังเต็มไปด้วยเรื่องราวชวนอ่านให้เพลิดเพลิน พร้อมทั้งตัวการ์ตูนหลากหลาย สีสันสวยงาม เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน เพื่อการเรียนรู้ถึงแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

หนังสือชุดที่ 3 “เสริมประสบการณ์ชีวิต” จำนวน 25 รายการ ประกอบด้วยหนังสือที่มีเนื้อหาที่มีความคิดริเริ่มที่ดี ที่ผู้เขียนสอดแทรกไว้ในหนังสือ มีความคิด มุ่งให้ความรู้ เห็นคุณค่าของคุณธรรมความดีงาม ความถูกต้อง และอื่นๆ ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เกิดประโยชน์ และความสุข ได้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ หนังสือที่ผ่านการคัดสรรประมาณ 80,000 เล่ม จากบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ตามโครงการที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริจาคหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียนที่ขาดแคลนหนังสือ ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 400 โรงเรียน

การประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนดำเนินงาน Webinar การเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ วิถีอนาคต

การประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนดำเนินงาน Webinar การเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ วิถีอนาคต ผ่านระบบออนไลน์

 

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา และ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนดำเนินงาน Webinar การเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ วิถีอนาคต ในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 8.30 น. ผ่านระบบออนไลน์ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายนั้น ทั้งนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้ให้ข้อคิดและเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ โดยการนำสื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ผ่านการอบรมเป็นเวลา 12 เดือนด้วย Webinar การเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ วิถีอนาคต พร้อมทั้งได้ขอบคุณคณะทำงานและผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้

ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้รายงานถึงจุดประสงค์ในการประชุมวันนี้ว่า เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน Webinar การเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 186 คน ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ และครู ที่มีความเกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์

 

 

นอกจากนั้น ได้มีหน่วยงานเครือข่ายภายนอก เป็นวิทยากรให้ความรู้ในการดำเนินงานกิจกรรมข้างต้นด้วยกัน 5 หน่วยงาน ได้แก่ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้มิวเซียมสยาม โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียน ในด้านการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ ด้านนวัตกรรมการเรียนการสอน ด้านวิทยากรที่มีความสามารถ จึงนับได้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นและพลังในการก้าวต่อไปของวิทยากรแกนนำอบรม 12 เดือน Webinar การเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ วิถีอนาคต

 

การสอบคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564

การสอบคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564 : 18th International Mathematics and Science Olympiad (IMSO) for Primary School Students (Virtual Edition) Indonesia

เมื่อวันเสาร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.30 – 11.30 น. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564 : 18th International Mathematics and Science Olympiad (IMSO) for Primary School Students (Virtual Edition) Indonesia ณ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง โดย ดร.ภูธร  จันทะหงษ์  ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และ ดร.จักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564 : 18th International Mathematics and Science Olympiad (IMSO) for Primary School Students (Virtual Edition) Indonesia เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูอาจารย์  และนักเรียนที่เข้าสอบในครั้งนี้

  

การประชุมเตรียมความพร้อมผู้รับผิดชอบและชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 09.30 น.   ดร. อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นประธานในพิธีเปิด การประชุมเตรียมความพร้อมผู้รับผิดชอบและชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านโปรแกรม Zoom โดยมอบนโยบายในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ให้แก่ ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษาผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 คน   นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้รับฟังบรรยายพิเศษจาก ดร.ภูธร  จันทะหงษ์  ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ในหัวข้อ ความเป็นมาและหลักการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. รวมถึงรับฟังการบรรยาย แนวทางการขับเคลื่อนโครงการและรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมจากวิทยากรอีก 2 ท่าน คือ ดร.จักรพงษ์  วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และ ดร.ฐาปณัฐ  อุดมศรี  รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้  ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ 2565 นับเป็นจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการพัฒนานักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาในปีนี้อีกด้วย

การประชุมสร้างความเข้าใจในการประเมินโรงเรียนภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project)

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ดำเนินการจัดประชุมออนไลน์สร้างความเข้าใจในการประเมินโรงเรียนภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Google Meet) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคณะทำงานและผู้สนับสนุนโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) จำนวนรวม 65 คน การประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานการประชุมดังกล่าว

การประชุมเตรียมความพร้อมการลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔

ด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประชุมเตรียมความพร้อมการลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิชา ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ในวันอังคารที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องประชุม สพฐ.๒ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือทางการศึกษา ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน

การประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานในการประชุม และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและกองประชาสัมพันธ์และประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน คณาจารย์และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้การลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน มีเป้าหมายให้นักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน จำนวน ๓ รุ่น รุ่นละ ๑๐๐ คน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ คน โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษา รุ่นละ ๔ ปี แบ่งเป็นการเรียนการสอน โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประเทศไทย จำนวน ๒ ปี (ในปีที่ ๑ และปีที่ ๔) และจัดการเรียนการสอน โดยมหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน ๒ ปี (ในปีที่ ๒ และปีที่ ๓) ซึ่งในแต่ละรุ่น นักเรียนอย่างน้อย ๓ คน จะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวน หรือบางส่วนจากมหาวิทยาลัยและจากรัฐบาลขณะที่ศึกษา ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตร ๔ ปี นักเรียนทุกคนจะได้รับวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่ง

โครงการความร่วมมือทางการศึกษา  “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชา ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังนับเป็นนวัตกรรมการสร้างเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่จะช่วยเชื่อมโยงระบบการศึกษาของประเทศไทยให้ผสานเข้ากับระบบการศึกษาในระดับนานาชาติอย่างมีคุณภาพต่อไป

การบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ (ภาคเหนือ)

ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ จำนวน ๕ ภูมิภาค ระหว่างวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นที่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ นิติกร ผู้รับผิดชอบโครงการฯ คณะทำงานจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง บุคลากรจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ระดับภาคและระดับจังหวัด และโรงเรียนที่ดำเนินกิจกรรมบริษัทสร้างการดี เป็นต้น

วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ และบรรยายพิเศษ เรื่อง ปัญหาการทุจริตในวงการศึกษาไทย เช่น ปัญหาการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาการทุจริตอาหารกลางวัน นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ความมั่งคงด้านอาหาร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาจากมลพิษทางอากาศภาวะฝุ่น PM ๒.๕ ปัญหาการแพร่ระบาดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา – ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) ที่มีผลต่อการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันและปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในด้านต่างๆ การป้องกัน ป้องปราม และปราบปราม ส่วนใหญ่เป็นหลักการป้องปราม มากกว่าปราบปราม เป็นต้น

ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้แนวคิดและแนวทางการดำเนินงานกิจกรรมตามโครงการแก่ผู้รับผิดชอบ สร้างความเข้าใจให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔

ดร. จักรพงษ์ วงค์อ้าย ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารทั่วไป สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสุจริต ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสุจริต ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ และความสอดคล้องของกิจกรรมโครงการที่รับผิดชอบ

การประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรที่มาถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ การดำเนินกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนสุจริต จากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษานิเทศก์ วิทยากรจากส่วนกลาง (สพฐ.) และ วิทยากรจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการบริษัทสร้างการดี จากโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ใส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต ๑ นำเสนอนิทรรศการและออกบูธผลิตภัณฑ์

การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 รุ่นที่ 2 ภาคใต้

วันที่ 23 มีนาคม 2564 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการการศึกษา โดยกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 4 รุ่น โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นจุดภาคใต้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 25 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานการจัดการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ (คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา) ประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีแนวทางเดียวกันซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 30 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 6 เขต โดยได้รับเกียรติจาก ดร. อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และนางจิณณาภักดิ์ มักคุ้น รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 2 เป็นเกียรติร่วมพิธีเปิดการประชุมดังกล่าวฯ