Author: วพร. สนก.

สนก. ร่วมกับองค์กรเครือข่ายและสถาบันการศึกษาชั้นนำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน นำร่องการใช้นวัตกรรมการวัดระดับผู้เรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสำหรับนักเรียนต่างชาติ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ China University of Petroleum (Beijing) Belt and Road Chinese Center (BRCC) และ Malisha Edu จัดกิจกรรมการสอบ “Entrance Examination Plan for International Students” ณ ห้องประชุมดวงเดือน พิศาลบุตร คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การนำร่องนวัตกรรมการวัดระดับผู้เรียนในครั้งนี้ เป็นการจำลองรูปแบบการสอบระดับนานาชาติที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะนำไปใช้ในการคัดเลือกนักศึกษาต่างชาติเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในอนาคต โดยผลการสอบพบว่าจากนักเรียนที่เข้าสอบ จำนวน 87 คน นักเรียนไทยสามารถผ่านการสอบข้อเขียนในรายวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จำนวน 41 คน

ภายหลังการสอบสัมภาษณ์ โดยอาจารย์จาก China University of Petroleum (Beijing) มีนักเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 5 คน ที่มีผลสอบอยู่ในระดับสูง และได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี 100% (ค่าเรียน ค่าที่พัก ค่าประกันชีวิต) พร้อมเงินสนับสนุน 1,800 หยวนต่อเดือน จาก China University of Petroleum (Beijing) โดยเป็นนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จำนวน 2 คน โรงเรียนทวีธาภิเศก จำนวน 1 คน โรงเรียนศรีบุณยานนท์ จำนวน 1 คน โรงเรียนหอวัง จำนวน 1 คน และเป็นนักเรียนไทยที่เดินทางมาสอบจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 คน นอกจากนี้ยังมีนักเรียนอีก 30 คน ที่ผ่านการสอบข้อเขียน สัมภาษณ์ และมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาประเภทต่าง ๆ ลดหลั่นกันไป พร้อมเอกสารรับรองการเข้าศึกษาต่อ (Pre-Admission ) ณ China University of Petroleum (Beijing) สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทันทีเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

ทั้งนี้ นวัตกรรมการวัดระดับผู้เรียนในรูปแบบดังกล่าว จะเริ่มต้นนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในพี พ.ศ. 2568 เพื่อการคัดเลือกนักเรียนต่างชาติที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศต่อไป โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล จะเร่งรัดการสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมการสอบ อันจะนำไปสู่โอกาสในการรับทุนการศึกษา และการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

สนก. ร่วมหารือกับหน่วยงานการศึกษาประเทศนิวซีแลนด์ (Education New Zealand) เพื่อสร้างนวัตกรรมความร่วมมือทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กไทย

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) นำโดย ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ร่วมประชุมกับ คุณช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand; ENZ) ประจำสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ และคุณปิโยรจน์ งามวิไลกร ผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยลินคอล์น ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและประเทศนิวซีแลนด์ ในปีการศึกษา 2567 ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากการร่วมหารือในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอภาพรวมการจัดการศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์ และนำเสนอกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาและต่อยอดผู้เรียน โดยคุณเสริมชาติ สินธุบดี และ คุณสุพัตรา บุษส่ง ผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ บริษัท เอ็นแซด สตั๊ดดี้ (ประเทศไทย) จำกัด

โดยในการหารือครั้งนี้ มีบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) ประกอบด้วย นางสาวปุณณภา เทพทุมมี นายธัญญภัสร์ จำเริญบุญ นายณัฐศาสตร์ ส่องแสง นางสาวสุภาพร ทองร้อยชั่ง และนายสหรัถ อินทรีย์เขียว เข้าร่วมรับฟังข้อมูล แสดงความคิดเห็น รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับแนวทางการสร้างความร่วมมือทางการศึกษาและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากลต่อไป

สนก. ระดมความคิดเห็นครู และผู้บริหาร เพื่อสรุปผลการวิจัยนวัตกรรมการฝึกทักษะภาษาอังกฤษด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial lntelligence : AI)

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2567 ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวัตกรรมการจัดการศึกษา มอบหมายให้ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้แทนเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นครูและผู้บริหารเพื่อการวิจัยนวัตกรรมการฝึกทักษะภาษาอังกฤษด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial lntelligence : AI) ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล โดยมีผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็น ประกอบด้วย ทีมพัฒนานวัตกรรมจากบริษัท Edsy ผู้ริเริ่มการพัฒนาและการนำเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ AI English Speaking Coach มาทดลองใช้ในการยกระดับทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนในสังกัดต่าง ๆ ครู และผู้บริหารจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 15 โรงเรียน ที่นำร่องการทดลองใช้นวัตกรรมการฝึกทักษะภาษาอังกฤษด้วยปัญญาประดิษฐ์ในภาคเรียนที่ผ่านมา และ บุคลากรทางการศึกษา กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) ได้แก่ นางสาวปุณณภา เทพทุมมี นายธัญญภัสร์ จำเริญบุญ นายณัฐศาสตร์ ส่องแสง นางสาวสุภาพร ทองร้อยชั่ง และนายสหรัถ อินทรีย์เขียว ที่ร่วมจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ Zoom Meeting) ณ ห้องประชุม DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

ภายหลังการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ทีมพัฒนานวัตกรรมจะนำผลสรุปและข้อเสนอแนะที่ได้รับ ไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของนวัตกรรม รวมถึงวางแผนการขยายผลการใช้นวัตกรรมในวงกว้าง ให้นักเรียน ครู และโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ได้เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาภาษาอังกฤษโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นการลดภาระการสอนของครู และส่งเสริมการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

สนก. ร่วมมือองค์กรแห่งการเรียนรู้เครือข่ายจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ประจำปี 2567 ทั้ง 4 ภูมิภาค

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ดำเนินงานโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล (LORD OBEC) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ ที่มุ่งเน้น

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ซึ่งช่วยให้เกิดการต่อยอดด้านการศึกษา และการสร้างเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม สำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ และมีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของสังคมโลก

ในการนี้ กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ได้จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระดับภูมิภาค ภายใต้แผนงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระหว่างวันที่ 17 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 กำหนดการ ดังนี้

​จุดที่ 1 ภาคกลาง ในวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมเอวาน่า แกรนด์คอนเวนชันกรุงเทพมหานคร

​จุดที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมสยามแกรนด์ จังหวัดอุดรธานี

​จุดที่ 3 ภาคใต้ ในวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมบีพีแกรนด์ทาวเวอร์อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

​จุดที่ 4 ภาคเหนือ ในวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

ผู้เข้ารับการอบรมฯ ได้แก่ นักเรียนที่มีความสนใจภาษาจีน ภูมิภาคละ 100 คน และภาษาอังกฤษ ภูมิภาคละ 100 คน จำนวน 4 ภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 800 คน โดยกิจกรรม ภายในงานประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับ ความสำคัญของการพัฒนาทักษะภาษาจีน การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เทคนิคการสอบ HSK เทคนิคการสอบ IELTS เทคนิคการเขียนเรียงความเพื่อขอรับทุนการศึกษา เป็นต้น

โดยผลการตอบรับจากนักเรียนทั้ง 4 ภูมิภาคเป็นไปอย่างดียิ่ง และมีความต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนเช่นนี้อีกในอนาคต

 

สพฐ. เดินหน้าจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ประจำปี 2567 จุดที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน มอบหมายให้ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดพิธีการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมสยามแกรนด์ จังหวัดอุดรธานี การอบรมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาภาษาจีนและภาษาอังกฤษให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสำหรับใช้ในการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานานาชาติและนำเสนอทุนการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานานาชาติ จำนวนภูมิภาคละ 200 คน

โดยบรรยากาศการอบรมฯ นักเรียนในจุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีนักเรียนสมัครเข้าร่วมการอบรมฯ อย่างคับคั่ง โดยนักเรียนทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนรู้เทคนิคการสอบ IELTS และ HSK และร่วมกิจกรรมทีทีมวิทยากรจัดให้อย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งได้รับการแนะนำทุนการศึกษาต่อต่างประเทศจากองค์กรแห่งการเรียนรู้เครือข่ายที่เข้าร่วมจัดนิทรรศการในการอบรมฯ ครั้งนี้

สพฐ. เดินหน้าจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ประจำปี 2567 จุดที่ 1 ภาคกลาง

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
ได้เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางภาษา และเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อการต่อยอดด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพในระดับสากล ระดับภูมิภาค ณ โรงแรมเอวาน่า แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร การอบรมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นใน 4 ภูมิภาคโดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาภาษาจีนและภาษาอังกฤษให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสำหรับใช้ในการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานานาชาติและนำเสนอทุนการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษานานาชาติ จำนวนภูมิภาคละ 200 คน

โดย ท่านผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ให้เกียรติบรรยายพิเศษเกี่ยวกับนโยบายของ สพฐ. ในด้านการจัดการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้คนมีความรู้ อ่านออก เขียนได้ เพียงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาประเทศอย่างครอบคลุมในทุกมิติอีกด้วย

นอกจากนี้ คุณนันทมาศ ฉัตราภรณ์ ท่านผู้จัดการด้านการค้า ด้านการศึกษาและสุขภาพ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “ความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย”
คุณช่อทิพย์ ประมวลผล ท่านผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “ความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และประเทศไทย และ Dr.Maruf Mollah Director of the Belt & Road Chinese Center (BRCC) ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “ความร่วมมือทางการศึกษาระหว่าง สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย” โดยมีองค์กรแห่งการเรียนรู้เครือข่ายต่าง ๆ  เข้าร่วมจัดงานและรับฟังการบรรยายพิเศษในครั้งนี้อย่างคับคั่ง

  

กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้รับเชิญเข้าร่วมงานมหกรรม China Fair 2024

เมื่อวันที่ 3 – 4 ก.พ. 67 สมาคมนักเรียนไทย-จีน จัดงานมหกรรม China Fair 2024 by TCSA : Study – Work -Travel ณ ลาน Fashion Hall ชั้น 1  ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยพิธีเปิดเริ่มขึ้นในเวลา 10.30 น. ของวันที่ 3 ก.พ. 67

ในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นางเฝิง จวิ้นอิง ท่านอัครราชทูตที่ศึกษา สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์  ดร.ลักษมณ สมานสินธุ์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเข้าร่วมในพิธีเปิดงานในครั้งนี้

ภายในงาน ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) ได้นำทีมนักวิชาการศึกษา ได้แก่ นางสาวปุณณภา เทพทุมมี นายธัญญภัสร์ จำเริญบุญ และนายฐนปวรรธน์ แตงอ่อน ที่ปรึกษาโครงการ LORD OBEC ภาคเอกชน ร่วมหารือกับนางเฝิง จวิ้นอิง อัคราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัคราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย ในประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยท่านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุนการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ ของสาธารณประชาชนจีน พร้อมทั้งยืนยันที่จะให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ของ สพฐ. เป็นอย่างดีอีกด้วย

“วพร. สนก. จับมือหน่วยการศึกษา สถานทูตนิวซีแลนด์ ยกระดับการขับเคลื่อนโครงการพัฒนานวัตกรรมการ ยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประจำปี พ.ศ. 2567 (Lord Obec)”

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) นำโดย ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) นางสาวปุณณภา เทพทุมมี นักวิชาการศึกษา นายฐนปวรรธน์ แตงอ่อน ที่ปรึกษาโครงการภาคเอกชน นส.ธัญชนก ชวาลวณิชชัย และนางสาวธัญญภัสร์ จำเริญบุญ เจ้าหน้าที่โครงการ ได้รับเชิญจากหน่วยงานการศึกษา สถานเอกอัคราชทูตนิวซีแลนด์ ให้เข้าร่วมการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการต่อยอดนักเรียนไทยที่มีศักยภาพสูงสู่การศึกษาต่อ ณ ประเทศนิวซีแลนด์ ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล (LORD OBEC)

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนโครงการฯ ระหว่างหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงการวางแผนงานในการเตรียมความพร้อมนักเรียนให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568 ต่อไป

กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ประชุมขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่อการ ต่อยอดเยาวชนไทยสู่สากล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567 ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ และนักวิชาการศึกษาผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทย ในระดับสากล ประกอบด้วย นางสาวปุณณภา เทพทุมมี นางสาวธัญชนก ชวาลวณิชชัยนางสาวสุภาพร  ทองร้อยชั่ง นายธัญญภัสร์ จำเริญบุญ และนายณัฐศาสตร์ ส่องแสงเข้าร่วมการประชุมขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาศักยภาพทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ซึ่งเป็นโครงการที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยที่นำเสนอบทเรียนและกิจกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นที่เข้าใจง่ายและสนุกสนาน เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกพูดและโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ ในหัวข้อเนื้อหาที่ตรงตามมาตรฐานสากลยุโรป CEFR พร้อมรับคำชี้แนะแบบรายบุคคลจากผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (Edsy AI Speaking Coach) จนมีพัฒนาการที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ นำทีมโดย ดร.ณพล รัชตสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีการศึกษา (AI in Education) จาก Human-Computer Interaction Institute (HCII) ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ประเทศสหรัฐอเมริกาและทีมวิจัยพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่น โดยหารือวางแผนแนวทางนำร่องเริ่มใช้ แอพพลิเคชั่นที่พัฒนากับนักเรียนในสังกัด สพฐ. โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย สิทธิการใช้งานและระยะเวลาการใช้งานในโครงการกี่ปี เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานและพัฒนาการของนักเรียนหลังจากใช้งานแอพพลิเคชั่น แล้วนำผลวิจัยและข้อเสนอแนะที่ได้มาพัฒนาระบบต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในระยะแรกเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย องค์กรเครือข่ายต่าง ๆ จะร่วมกันการขยายผลการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน และครู ในโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป

“สนก. ส่งนักเรียนไทยเข้าร่วมโปรแกรมฝึกอบรม Chinese Language and Chinese Film and Television Culture ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน”

กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนทั้ง 2 คน ได้แก่
1. นางสาวอพัชชา นามคำ โรงเรียนเลิงนกทา สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร
2. นางสาวปรีชญาณ์ สงค์ประเสริฐ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ สพม.นครศรีธรรมราช

ผู้ได้รับทุนการศึกษา ค่าเล่าเรียน ค่าที่พักตลอดหลักสูตร และค่าประกันภัย เพื่อเดินทางเข้าร่วมโปรแกรมฝึกอบรม Chinese Language and Chinese Film and Television Culture ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 15 มกราคม 2567 ณ Huazhong University of Science and Technology (HUST) สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทุนการศึกษาดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) และ MalishaEdu Thailand ในการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมนำร่อง “OBEC One Belt One Road” ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล (LORD OBEC) ประจำปี พ.ศ. 2567
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหานักเรียนที่มีทักษะภาษาจีนเบื้องต้น มีทัศนคติที่ดี และมีความพร้อมในการเข้าร่วมโปรแกรมระยะสั้น ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาทักษะทางภาษา รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายเกี่ยวกับงานด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็น Soft Power สำคัญที่กำลังได้รับความนิยมและมีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงของโลกในอนาคต โดยนักเรียนทั้งสองคนออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 เวลา 07.05 น. โดยมี ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการเดินทาง

สนก.ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันและการพิจารณากรอบหลักสูตรการแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ ประจำปี 2567 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 22 – 24 ธันวาคม พ.ศ. 2566  สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
ภายใต้กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ได้ดำเนินจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทาง
การคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันและการพิจารณากรอบหลักสูตรการแข่งขันทางวิชาการ
ระดับนานาชาติ ประจำปี 2567 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพมหานคร

การประชุมครั้งนี้ ดร.จักรพงษ์ วงศ์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
ได้มอบหมายให้ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้
เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน
และการพิจารณากรอบหลักสูตรการแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ ประจำปี 2567

โดยผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ ได้ร่วมกันจัดทำแผนดำเนินงาน
และแนวทางการคัดเลือกผู้แทนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
จากนั้นมีการประชุมผ่านระบบออนไลน์โดยผู้รับผิดชอบโครงการระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อชี้แจง แนะนำ
และขอความคิดเห็น ในการพัฒนาแนวทางและกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจ
และขับเคลื่อนโครงการแข่งขันทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567
อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อไป

 

สนก.เดินหน้าโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ดร.ศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา มอบหมายให้ ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 7 – 8 ธันวาคม พ.ศ 2566 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และคณะทำงานส่วนกลาง โดยผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ในการดำเนินงานโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้เกิดสิทธิผลสูงสุดในการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อการยกระดับศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยสู่การประกอบอาชีพและการศึกษาต่อในระดับสากลต่อไป