Author: admin

ขอเชิญชมนิทรรศการออนไลน์เต็มรูปแบบ EGAT GREEN LEARNING SOCIETY

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอเชิญชมนิทรรศการออนไลน์ EGAT GREEN LEARNING SOCIETY ในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 9 -19 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 – 15.00 น. ผ่านทาง   Facebook Live : ห้องเรียนสีเขียว กฟผ.

การประชุมชี้แจงการใช้คู่มือเกณฑ์การประเมินมาตรฐาน รร.สิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2
จัดทำคู่มือเกณฑ์มาตรฐานและตัวชี้วัดโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้น เพื่อเผยแพรให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 แห่ง

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ
1. ใช้เป็นแนวทางพัฒนาโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. ใช้เป็นหลักเทียบเคียง สำหรับส่งเสริม กำกับติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจากทุกภาคส่วนเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีองค์ประกอบหลัก 5 ด้าน ได้แก่

ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมศึกษา

ด้านหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา

ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน

ด้านการมีส่วนร่วมและการสร้างเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา และ

ด้านผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน

ประกอบด้วย 13 มาตรฐาน และ 31 ตัวชี้วัดโดยมีเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมศึกษาสู่ความยั่งยืน ที่เกิดจากผู้บริหาร ครู นักเรียน บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนัก เห็นคุณค่าในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน เป็นโรงเรียน ชุมชนท้องถิ่น สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการจัดทำคู่มือเล่มนี้ เป็นการทำงานจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหาร ครู และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา นอกจากนี้ เพื่อให้คู่มือเล่มนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง จึงได้นำไปทดลองใช้ในระดับภูมิภาคใน 6 ภูมิภาค จำนวน 2 ครั้งทั้งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกขนาด และนำผลมาวิเคราะห์และปรับปรุงพัฒนาเกณฑ์ฯ ให้เหมาะสมและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคู่มือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโรงเรียน โดยมีเป้าหมายสูงสุดของเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนานักเรียนให้เติบโตขึ้นเป็น “พลเมือง” ที่ใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง” เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ “ยั่งยืน”

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดจัดประชุมชี้แจงการใช้คู่มือเกณฑ์การประเมินมาตรฐานโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ 22-23 และ 24 กันยายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยสามารถติดตามรับชมได้ทาง Facebook กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 

นักเรียนทุนในโครงการเปิดโลกเยาวชนไทยก้าวไกลสู่นานาชาติ (The C21 Scholarship OBEC) ออกเดินทางเพื่อศึกษาต่อเป็นระยะเวลา 2 ปี ด้วยทุนการศึกษา 100% ณ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

วันที่ 18 กันยายน 2564 เวลา 21.10 น. กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นำทีมโดย ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี และ อ.สพลกิตติ์ สังข์ทิพย์ พานักเรียนทุนในโครงการเปิดโลกเยาวชนไทยก้าวไกลสู่นานาชาติ (The C21 Scholarship OBEC) จำนวน 2 คน ได้แก่ นางสาวณิชาภา ก้องวิเศษกุล โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และ นางสาวศฤขณัญญา กันตนฤมิตรกุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ออกเดินทางด้วยสายการบิน Emirates สู่ CATS Academy School เมืองบอสตัน รัฐแมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาต่อเป็นระยะเวลา 2 ปี ด้วยทุนการศึกษา 100% และจะมีนักเรียนในโครงการเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ อีกจำนวน 3 คน ปลายปีนี้

นักเรียนทุนในโครงการเปิดโลกเยาวชนไทยก้าวไกลสู่นานาชาติ เข้าพบและ รับโอวาทจาก เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อัมพร พินะสา ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ และ ประเทศสหรัฐอเมริกา

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564  เวลา 15.00 น. เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อัมพร พินะสา เปิดโอกาสให้นักเรียนทุนในโครงการเปิดโลกเยาวชนไทยก้าวไกลสู่นานาชาติ เข้าพบและรับโอวาท ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ และ ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

โครงการเปิดโลกเยาวชนไทยก้าวไกลสู่นานาชาติ (THE C21 SCHOLARSHIP (OBEC)) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและต่อยอดนักเรียนระดับมัธยมปลายในสังกัด สพฐ. ที่มีความเป็นเลิศในด้านความรู้ ทักษะ และสมรรถนะเฉพาะด้าน ให้ได้รับทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ รวมทั้งนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาใช้ในการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไปโดยมีภาคเอกชน คือ CATS Global School เป็นผู้สนับสนุนทุนการศึกษา

ในการนี้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ได้ดำเนินการเปิดรับสมัคร สอบคัดเลือก และสัมภาษณ์นักเรียนอย่างเข้มข้น จากนักเรียน 196 คน จนได้นักเรียนที่ผ่านการพิจารณารับทุน จำนวน 18 คน โดยนักเรียนทุนรุ่นที่ 1 ที่มีกำหนดการเดินทางไปศึกษาต่อในปี 2564 จำนวน 5 คน ดังนี้

1. นางสาวปวริศา สายหยุด โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) กรุงเทพมหานคร เดินทางไปศึกษา ณ CATS Canterbury, UK
2. นางสาวปฐมา บุญสิน โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เดินทางไปศึกษา ณ CATS Canterbury, UK
3. นายภูมิพัฒน์ นวลน้อย โรงเรียนนวมินทราชูทิศ กรุงเทพมหานคร เดินทางไปศึกษา ณ Cambridge School Of Visual & Performing Arts, UK
4. นางสาวณิชาภา ก้องวิเศษกุล โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เดินทางไปศึกษา ณ CATS Boston, USA
5. นางสาวศฤขณัญญา กันตนฤมิตรกุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร เดินทางไปศึกษา ณ CATS Boston, USA

โดยภายหลังที่ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แสดงความยินดีและให้โอวาทแก่นักเรียนและคณะเดินทางเป็นที่เรียบร้อย โครงการเปิดโลกเยาวชนไทยก้าวไกลสู่นานาชาติ (THE C21 SCHOLARSHIP (OBEC)) ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัท At Gense ซึ่งเป็นบริษัท Medical Solution นำรถตรวจนิรภัยมาอำนวยความสะดวกในการตรวจโควิดฟรีให้แก่นักเรียนและคณะเดินทางรวมถึงบุคลากรของ สพฐ. จำนวนกว่า 20 คนอีกด้วย

ผลการตัดสินการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ระดับประเทศ

12 สัปดาห์ พัฒนานวัตกรรม Active Learning

สพฐ. เดินหน้ากิจกรรม 12 สัปดาห์ “ AL วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ ” เรียนรู้วิถีใหม่ เต็มใจพัฒนา อาสาเปลี่ยนแปลง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดกิจกรรม “12 สัปดาห์ พัฒนานวัตกรรม Active Learning “ AL วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ ” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานวิถีใหม่ วิถีคุณภาพ ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม มุ่งเน้นพัฒนาและส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีสมรรถนะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์พร้อมทั้งสามารถเลือกพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพและความสนใจ เกิดการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด อยู่ร่วมอย่างปลอดภัยและมีความสุข ขับเคลื่อนโดยใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ Active Learning ที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทพื้นที่เป็นฐาน รวมถึงการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายและผู้เกี่ยวข้อง สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ได้ดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาบนฐานนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองเป้าหมายตามบริบท “AL วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ”
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า “วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม มุ่งเน้นพัฒนาและส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยการส่งเสริมให้โรงเรียนสามารถพัฒนาและใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ Active Learning เป็นฐานในการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการและบริบทพื้นที่ โดยกำหนดการดำเนินกิจกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนในลักษณะ “12 สัปดาห์ พัฒนานวัตกรรม Active Learning” มีเป้าหมายในการส่งเสริมและร่วมพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 349 โรงเรียน นอกจากนั้นยังเป็นการพลิกโฉม (Transform) โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและจัดการเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ ตามความต้องการและเหมาะสมกับบริบท โดยจัดกิจกรรมพัฒนาการจัดการเรียนรู้ Active Learning ในรูปแบบออนไลน์ ร่วมพัฒนาระหว่าง สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน และผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ โดยในวันเปิดตัวโครงการ มีสวนสนุกแห่งการเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้ 5 ห้องด้วยกัน ประกอบด้วย ห้องที่หนึ่ง “ครูขอบอก” ห้องที่สอง “Tips Tricks Tools ห้องที่ 3 “ปั้นครูเป็น Youtuber” ห้องที่สี่ “Fab Lab นวัตกรน้อย” และห้องที่ห้า “ห้องเรียนเชิงบวก” รวมถึงต่อเนื่องแบบเข้มข้นกับกิจกรรมต่างๆอีก 12 สัปดาห์ ในการสร้างชุมชนนักปฏิบัติ Active Learning รูปแบบพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโอกาสต่อไป”

การประชุมสร้างความเข้าใจในการประเมินโรงเรียนภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project)

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ดำเนินการจัดประชุมออนไลน์สร้างความเข้าใจในการประเมินโรงเรียนภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Google Meet) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคณะทำงานและผู้สนับสนุนโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) จำนวนรวม 65 คน การประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานการประชุมดังกล่าว

ประกาศรายชื่อผู้ส่งรายงานนวัตกรรมเข้าประกวดนวัตกรรมการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

     ขณะนี้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้ทำการตรวจเช็คเอกสารรายงานการประกวดนวัตกรรมการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยท่านสามารถตรวจรายชื่อของท่านและเอกสารที่ท่านส่งตามกลุ่มด้านล่างนี้
     

หากท่านใดยังไม่ได้อัพโหลดเอกสารไฟล์นามสกุล .Word ,.PDF หรือ มีความต้องการแก้ไขเอกสารรายงานของตนเองเพิ่มเติม ท่านสามารถคลิกที่ “อัพโหลดเอกสารเพิ่มเติม” ได้โดยทันที โดยสามารถเพิ่มเติมเอกสารได้จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้หากท่านมีข้อสงสัยเพิ่มเติมท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-288-5893 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กลุ่มวิจัยและพัฒนาการบริหาร

การอบรมออนไลน์ “ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภาครัฐ” (OBEC ICT Talent) รุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2564

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมกับ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED จัดการอบรมออนไลน์ “ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภาครัฐ” (OBEC ICT Talent) รุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ผ่านโปรแกรม VRoom โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมศักยภาพผู้นำไอซีที เตรียมความพร้อมการนำองค์ความรู้ไปผลักดันให้ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและนักเรียนในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี สามารถใช้สื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการเรียนการสอน โดยการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี เป็นประธานในการเปิดพิธีการเปิดพิธี และท่าน ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการศึกษา เป็นประธานในการปิดพิธีการอบรม

เปิดรับสมัครนักเรียนที่มีทักษะทางภาษาจีนและกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.6 (ใช้ผลการเรียน ม.5 ยื่นสมัคร) ให้มีโอกาสเรียนต่อ ป.ตรี สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน – อาเซียน

เปิดรับสมัครนักเรียนที่มีทักษะทางภาษาจีนและกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.6 (ใช้ผลการเรียน ม.5 ยื่นสมัคร) ให้มีโอกาสเรียนต่อ ป.ตรี สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน – อาเซียน

– เรียนต่อ ป.ตรี ได้ 2 ปริญญา (ม.สวนดุสิต และ ม.กวางสี)
– เรียนน้อยลง 1 ปี (เรียนปี 1 ออนไลน์ ควบคู่เรียน ม.6)
– เดินทางไปเรียนปี 2-3 ที่จีน (นักเรียนผลการเรียนดีมีทุนจากจีนให้)

รับสมัคร 1-31 กรกฎาคม 2564 เท่านั้น

เลื่อนการประกาศรายชื่อผู้ส่งรายงานนวัตกรรมเข้าประกวดนวัตกรรมการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

     ตามที่สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้จัดการประกวดนวัตกรรมการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีกำหนดการให้ส่งแบบรายงานเพื่อเข้าประกวดผ่านทาง 2 ช่องทางได้แก่ ทางไปรษณีย์และช่องทางเว็บไซต์ http://gg.gg/tb1ce โดยได้สิ้นสุดระยะเวลาการส่งแบบรายงานเข้าร่วมประกวดไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยขั้นต่อไปเป็นการประกาศรายชื่อผู้ส่งรายงานนวัตกรรมเข้าประกวดให้แก่ผู้เข้าร่วมประกวดทราบภายในวันที่ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นั้น
     ในการนี้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ขอแจ้งผู้เข้าร่วมประกวดทุกท่านว่าขณะนี้ยังมีรายงานนวัตกรรมส่วนที่ส่งมาทางไปรษณีย์บางส่วนยังมาไม่ถึงสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ทำให้ไม่สามารถสรุปยอดผู้ส่งเอกสารเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ จึงขอเลื่อนการประการรายชื่อผู้ส่งรายงานนวัตกรรมเข้าประกวด จากเดิมวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เป็นวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้หากท่านมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-288-5893 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
     จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขออภัยมา ณ โอกาสนี้

การประชุมเตรียมความพร้อมการลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔

ด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประชุมเตรียมความพร้อมการลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิชา ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ในวันอังคารที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องประชุม สพฐ.๒ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือทางการศึกษา ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน

การประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เป็นประธานในการประชุม และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและกองประชาสัมพันธ์และประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน คณาจารย์และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้การลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน มีเป้าหมายให้นักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน จำนวน ๓ รุ่น รุ่นละ ๑๐๐ คน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ คน โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษา รุ่นละ ๔ ปี แบ่งเป็นการเรียนการสอน โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประเทศไทย จำนวน ๒ ปี (ในปีที่ ๑ และปีที่ ๔) และจัดการเรียนการสอน โดยมหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน ๒ ปี (ในปีที่ ๒ และปีที่ ๓) ซึ่งในแต่ละรุ่น นักเรียนอย่างน้อย ๓ คน จะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวน หรือบางส่วนจากมหาวิทยาลัยและจากรัฐบาลขณะที่ศึกษา ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตร ๔ ปี นักเรียนทุกคนจะได้รับวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่ง

โครงการความร่วมมือทางการศึกษา  “๑+๒+๑” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชา ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังนับเป็นนวัตกรรมการสร้างเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่จะช่วยเชื่อมโยงระบบการศึกษาของประเทศไทยให้ผสานเข้ากับระบบการศึกษาในระดับนานาชาติอย่างมีคุณภาพต่อไป