Author: admin

การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง (RCJ Rescue Simulation)

ด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดจัดการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ World RoboCup Junior 2022 ระหว่างวันที่ 2 – 3 มิถุนายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อคัดเลือกทีมตัวแทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ระหว่างวันที่ 11 – 17 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ การลงมือทำและการแก้ปัญหาในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ให้สามารถทำงานหรือใช้ประโยชน์ได้ตรงความต้องการเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสอดรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนในสังกัดที่สนใจทราบและสมัครเข้าร่วมการอบรมและแข่งขันรอบคัดเลือกผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤษภาคม 2565 เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ World RoboCup Junior 2022 รอบชิงชนะเลิศ เพื่อคัดเลือกทีมตัวแทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022  ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ที่ https://robocup.thairobot.in.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565

การประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกข้อเสนอโครงการผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่และการคัดเลือกภาพวาดจินตนาการอนาคต

วันที่ 9- 12 พฤษภาคม 2565  สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มโครงการพิเศษ ได้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกข้อเสนอโครงการผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่และการคัดเลือกภาพวาดจินตนาการอนาคต ระหว่างวันที่ 9- 12 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยการจัดการประชุมในครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ภายใต้หัวข้อ Inventions for Sustainable Development Project  และภาพวาดจินตนาการอนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ Science for Sustainable Development Project ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แจ้งโรงเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมส่งผลงานเข้าร่วมการคัดเลือก/ประกวด/แข่งขัน ตามเงื่อนไขข้อปฏิบัติการส่งผลงาน และระยะเวลาที่กำหนดทางเว็บไซต์ https://inno.obec.go.th/?p=180692

การดำเนินงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมพิจารณาข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ภายใต้หัวข้อ Inventions for Sustainable Development Project จำนวน 153 ข้อเสนอโครงการ ประกอบด้วย 8 ประเภทผลงานได้แก่

  1. เทคโนโลยีที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology)
  2. อาหารและเกษตรกรรม (Food and Agriculture)
  3. ความปลอดภัยและสุขภาพ (Safety and Health)
  4. เทคโนโลยีสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ (Technology for Special Need)
  5. การจัดการกับภัยพิบัติ (Disaster Management)
  6. การศึกษาและนันทนาการ (Education and Recreation)
  7. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Aerospace and Aviation)
  8. ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (Artificial Intelligence and Automation System)

และภาพวาดจินตนาการอนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ Science for Sustainable Development Project จำนวน 253 ผลงาน โดยในปี้นี้ได้เพิ่มเติมประเภทของการวาดภาพในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มเติมจากประเภทการวาดภาพบนกระดาษวาดเขียน (โดยไม่จำกัดเทคนิคการวาด) โดยกิจกรรมนี้ไม่ได้วัดความสามารถในด้านศิลปะเป็นหลัก แต่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้แสดงออกถึงจินตนาการที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อที่กำหนด

ผลงานที่ได้รับการคัดเลือก ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะสนับสนุนงบประมาณให้ทีมนักเรียนเจ้าของผลงานได้พัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบความสนองความต้องการของชุมชนและสังคม และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมีการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ International Exhibition for Young Inventor (IEYI 2022) โดยในปีนี้ สาธารณรัฐจีน (ประเทศไต้หวัน) เป็นเจ้าภาพจัดงานในลักษณะ Virtual World Contest ในเดือนกันยายนนี้

การประชุมปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้นำนักเรียนผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงและการสื่อสารเพื่อการเป็นพลเมืองโลกอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 27 – 29 เมษายน 2565 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท บางพลัด กรุงเทพฯ

วันที่ 27 เมษายน 2565 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาโดยกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร (วนบ.) จัดประชุมปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้นำนักเรียนผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงและการสื่อสารเพื่อการเป็นพลเมืองโลกอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 27 – 29 เมษายน 2565 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท บางพลัด กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อจัดทำหลักสูตรและคู่มือการใช้หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมกระบวนการคิดขั้นสูงและการสื่อสารเพื่อการเป็นพลเมืองโลกอย่างยั่งยืน ให้ครูสามารถประยุกต์ใช้กิจกรรมไปสู่การจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในชั้นเรียนได้ การประชุมครั้งนี้มีคณะทำงานเข้าร่วมจัดทำหลักสูตร ได้แก่ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และคณะครู จำนวน 30 ท่าน  ทั้งนี้หลักสูตรที่ได้จากการประชุมจะนำไป ขยายผลสู่การอบรมศึกษานิเทศก์แกนนำ และครูแกนนำ ต่อไป

งาน“มหาจุฬา สมัชชาวิถีพุทธ” ครั้งที่ 3

เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 เมษายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เข้าร่วมจัดงาน“มหาจุฬา สมัชชาวิถีพุทธ” ครั้งที่ 3 ซึ่งได้จัดการประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทางพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 5 (5th MCU Contest) และมีพิธีมอบโล่เกียรติคุณสำหรับนักเรียนและโรงเรียนที่ได้รับรางวัลในระดับต่าง ๆ จากทั่วประเทศ กว่า 300 โรงเรียน โดยมีพระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร.อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร ) เป็นประธานในพิธี และได้รับเกียรติจากนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวและเป็นผู้มอบโล่พระราชทาน โล่ประทาน สำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทางพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 5 (5th MCU Contest) พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เข้าร่วมในพิธีและมอบประกาศเกียรติคุณให้กับโรงเรียนที่ชนะการประกวดในระดับต่าง ๆ นอกจากนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร ) กับ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน น้อมนำเอาหลักพุทธรรมเข้าไปบูรณาการกับหลักสูตรการเรียนการสอน และสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามเป้าหมายการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ในส่วนของการกิจกรรมการประกวดในปีนี้ สํานักงานพระสอนศีลธรรม และ สํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ร่วมกันดําเนินการคัดเลือก และประเมินโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ
เพื่อยกย่องประกาศเป็นโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนํารุ่นที่ 12 และโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน รุ่นที่ 4 โดยมีโรงเรียนวิถีพุทธผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนํารุ่นที่ 12 จํานวน 243 โรงเรียน และเป็นโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทานรุ่นที่ 4 จํานวน 43 โรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะสามารถส่งเสริมจริยธรรมคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและผู้บริหารโรงเรียน ภายใต้การบูรณาการหลักธรรมสู่การจัดการเรียนการสอนให้เกิดการพัฒนาเพิ่มขึ้นต่อไปได้ในอนาคต

ประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ”เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง” ปีที่ 16 ระดับประเทศ ประจำปีการศึกษา 2564

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) โดยกลุ่มวิจัยและส่งเสริมคุณธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา(วคส.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ”เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง” ปีที่ 16 ระดับประเทศ ประจำปีการศึกษา 2564 ระหว่างวันที่ 25-29 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมบียอนด์สวีท กรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนผ่านการคัดเลือกจากเขตพื้นที่จำนวน 185 โรงเรียนและมีโรงเรียนเข้าสู่การพิจารณาคัดเลือกในระดับประเทศ จำนวน 78 โรงเรียน จากทั่วประเทศ โดยการคัดเลือกผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) นักเรียนนำเสนอโครงงานคุณธรรมต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ท่าน ทั้งนี้จากการประกวดโครงงานคุณธรรมฯระดับประเทศ ประจำปีการศึกษา 2564 นักเรียนจะได้รับรางวัลซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ รางวัลโครงงานคุณธรรมระดับดีเยี่ยม ,โครงงานคุณธรรมระดับดี และ โครงงานคุณธรรมระดับชมเชย

ขอเชิญ ICT Talent ภาครัฐ รุ่นที่ 2 เข้าเลือกโรงเรียนเครือข่ายในการดูแลของท่าน

****ขอเชิญ ICT Talent ภาครัฐ รุ่นที่ 2 เข้าเลือกโรงเรียนเครือข่ายในการดูแลของท่าน****
 
โดยท่านสามารถเข้าตรวจสอบรายชื่อโรงเรียนเครือข่ายที่ท่านสามารถดูแลได้ และรายชื่อผู้ดูแลโรงเรียนเครือข่ายในปัจจุบันตามด้านล่างนี้
<iframe referrerpolicy="no-referrer-when-downgrade" height="900px" width="100%" style="border:none;" src="https://view-awesome-table.com/-Mxqhg79Y4kZXt2WhEe2/view"></iframe>

หากท่านสามารถเลือกโรงเรียนของท่านได้แล้ว ท่านสามารถลงข้อมูลโรงเรียนเครือข่ายของท่านโดยการค้นหารายชื่อท่านได้ที่ด้านล้างนี้ (ไม่ต้องพิมพ์คำนำหน้า)

<iframe referrerpolicy="no-referrer-when-downgrade" height="500px" width="100%" style="border:none;" src="https://view-awesome-table.com/-Mxqh1_1U8o4vtUobeEh/view"></iframe>
ทั้งนี้ขอเรียนเพิ่มเติมว่า โรงเรียนแม่ข่าย คือ โรงเรียนที่มี ICT Talent ประจำอยู่แล้ว หรือเป็นโรงเรียนที่ตัวท่านเองทำงานอยู่ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเป็นเครือข่ายแต่อย่างใด และไม่สามารถเลือกเป็นโรงเรียนเครือข่ายได้
และโรงเรียนเครือข่าย คือโรงเรียนที่ท่านต้องดูแลควบคู่กับโรงเรียนแม่ข่าย (โรงเรียนที่ท่านประจำอยู่) ซึ่งห้ามเลือกซ้ำกับโรงเรียนที่มีสถานะเป็นแม่ข่ายโดยเด็ดขาด โดยขอให้ท่านเลือกโรงเรียนเครือข่าย ท่านละ 1 โรงเรียน และท่านต้องติดต่อประสานไปยังโรงเรียนเครือข่าย เพื่อรับการตอบรับในการเข้าสนับสนุนดูแลโรงเรียนเครือข่าย ในการอำนวยความสะดวกของการทำงานในอนาคต 

ทั้งนี้หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถติดต่อได้ที่ เบอร์โทร 022885893 Line: @683ehwod หรือติดต่อที่แฟนเพจ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้โดยทันที

12 เดือน Webinar เปิดโลกนวัตกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ วิถีอนาคต

 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้กำหนด จัดกิจกรรม 12 เดือน Webinar การเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ วิถีอนาคตสู่ความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ครูได้สร้างแนวคิดปรับเปลี่ยนวิธีการสอน หรือประยุกต์ใช้นวัตกรรมจัดการเรียนการสอน ที่สามารถบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายบูรณาการ และสร้างแนวทางการสนับสนุนโรงเรียน สำหรับการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ตามบริบท เชื่อมต่อความรู้ของครูสู่ชุมชน รายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่นี่

สพฐ. รับมอบหนังสือ ชุด “ชวนน้องรักษ์โลก รักษ์ชีวิต กับความพอเพียง” จาก แบงค์กรุงเทพ และประพันธ์สาส์น แก่โรงเรียน 400 โรงเรียน มูลค่า 8,000,000 บาท

วันที่ 28 มกราคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมกับนายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน และนายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้เข้าร่วมพิธีรับมอบหนังสือ ชุด “ชวนน้องรักษ์โลก รักษ์ชีวิต กับความพอเพียง” จาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด โดยมี นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหารกรรมการกำกับดูแลกิจการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมส่งมอบ เพื่อส่งต่อหนังสือให้แก่ห้องสมุดที่ขาดแคลนหนังสือทั่วประเทศ 400 โรงเรียน มูลค่า 8,000,000 บาท ณ ห้องประชุมบัวหลวง ชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ รวมถึงคณะผู้บริหารโรงเรียน ครู บรรณารักษ์ จากโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมพิธี จำนวน 20 โรงเรียน และ ผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม ZOOM 380 โรงเรียน โดยพร้อมเพรียงกัน

สืบเนื่องจากการสำรวจโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบว่า มีหนังสือประจำห้องสมุดในจำนวนที่น้อยมาก ไม่เพียงพอกับเด็ก ๆ ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ได้เข้าถึงหนังสือที่มีประโยชน์ สร้างเสริมคุณค่าการอ่าน เพิ่มพูนความรู้ และเปิดประสบการณ์ ให้แก่เด็กและเยาวชน แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด สานต่อกิจกรรมเป็นปีที่ 13 ด้วยหัวข้อ “ชวนน้องรักษ์โลก รักษ์ชีวิต กับความพอเพียง” โดยใช้หนังสือเสริมประสบการณ์ชีวิต ผนวกกับจัดการแสดงละครเวทีเรื่อง “รักเรา…รักษ์โลก” จากน้อง ๆ หนู ๆ โรงเรียนอนุบาลแสง เพื่อกระตุ้นการรับรู้และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความรู้ในการใส่ใจดูแลตัวเองท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขณะเดียวกันยังเสริมสร้างทักษะการอ่าน และการพูด ด้วยการมอบหนังสือที่มีคุณภาพทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งปีนี้ได้คัดสรรหนังสือหลากหลายชุดด้วยกัน

เริ่มจาก หนังสือชุดที่ 1 “Cool Days Series” ซึ่งเป็นหนังสือเด็กและเยาวชน ที่บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดทำขึ้น โดยเนื้อเรื่องนำมาจากงานเขียนของ การ์เม โดลซ์ และวาดภาพประกอบโดย เอสเตอร์ เมนเดซ ซึ่ง “Cool Days Series” ประกอบด้วยหนังสือสี่สีจำนวน 5 เล่ม ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ รอบตัว และเห็นถึงการรักษ์โลกอย่างถูกวิธี ที่ทุกคนสามารถทำได้ รวมทั้งความประทับใจในตัวของพ่อ-แม่ ผู้เป็นต้นแบบของเด็ก ๆ ด้วย

หนังสือชุดที่ 2 “เรียนรู้ความพอเพียง” ประกอบด้วยการ์ตูนภาพสี่สีสวยงาม จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ แก๊งป่วนชวนเรียนรู้ สวนจิตรลดา เล่ม 1-2, แก๊งป่วนอยู่อย่างพอเพียง, แก๊งป่วนเรียนรู้เรื่องน้ำ, แก๊งป่วนเรียนรู้เรื่องดิน, แก๊งป่วนเรียนรู้เรื่องขยะ ซึ่งหนังสือการ์ตูนชุดนี้ล้วนเป็นสื่อการสอนสำหรับเด็ก ให้เรียนรู้ถึงแนวทางพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ซึ่งหนังสือการ์ตูนชุด “เรียนรู้ความพอเพียง” ทั้ง 6 เล่ม ไม่เพียงแต่มีสาระประโยชน์เท่านั้น หากยังเต็มไปด้วยเรื่องราวชวนอ่านให้เพลิดเพลิน พร้อมทั้งตัวการ์ตูนหลากหลาย สีสันสวยงาม เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน เพื่อการเรียนรู้ถึงแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

หนังสือชุดที่ 3 “เสริมประสบการณ์ชีวิต” จำนวน 25 รายการ ประกอบด้วยหนังสือที่มีเนื้อหาที่มีความคิดริเริ่มที่ดี ที่ผู้เขียนสอดแทรกไว้ในหนังสือ มีความคิด มุ่งให้ความรู้ เห็นคุณค่าของคุณธรรมความดีงาม ความถูกต้อง และอื่นๆ ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เกิดประโยชน์ และความสุข ได้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ หนังสือที่ผ่านการคัดสรรประมาณ 80,000 เล่ม จากบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ตามโครงการที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริจาคหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียนที่ขาดแคลนหนังสือ ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 400 โรงเรียน

ขอเชิญชวนสมัครรับทุนการศึกษาโครงการ “เด็กดีของสังคม” ประจำปี 2565

ขอเชิญชวนสมัครรับทุนการศึกษาโครงการ “เด็กดีของสังคม” ประจำปี 2565
🔰จำนวน 200 ทุน ทุนละ 5,000 บาท
📍เปิดรับสมัคร ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 31 มกราคม 2565

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

สพฐ. ประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมวิชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ประจำปี 2564

วันที่ 23 ธันวาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมวิชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2564 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมเกียรติ ชอบผล ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ระดับ 10 สำนักงานโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี บรรยายพิเศษเรื่อง “การจัดการศึกษาตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัดนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงผู้รับผิดชอบโรงเรียนในโครงกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมคุ้มภูคำ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานโรงเรียนในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ จึงมุ่งส่งเสริม สนับสนุน และติดตามการจัดการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ตามวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่ 1) ส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยของเด็กและเยาวชนตั้งแต่ในครรภ์มารดา 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน 3) เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้ทางวิชาการ 4) เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางการอาชีพ 5) ปลูกฝังจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 6) เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สพฐ. โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนทุรกันดาร (กพด.) จำนวน 190 โรงเรียน ทั่วประเทศ เป็นกลุ่มโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ตามตัวชี้วัด 6 ด้าน ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารดามพระราชดำริฯ ฉบับที่ 5 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และเพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปตามแผนปฏิบัติราชการของ สพฐ. และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มโรงเรียน อีกทั้งเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษา และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้เกี่ยวข้อง จึงได้จัดกิจกรรม ดังนี้

  1. การประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 190 คน และผู้รับผิดชอบโครงการจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 47 เขต รวมทั้งสิ้น 237 คน
  2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2564
  3. การจัดนิทรรศการของโรงเรียนที่ชนะเลิศแนวปฏิบัติที่ดีรายด้านของ สพฐ. ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2564 โดยโรงเรียนบ้านเขาส่องกล้อง สังกัดสำนักงานเขดพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก
  4. การเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัดนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำหรับผู้บริหารและผู้ได้รับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 40คน และผู้เข้าร่วมรับเสด็จ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระบบ Zoom Meeting โดยรวมแล้วมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ และร่วมกิจกรรม จำนวนทั้งสิ้น 370 คน

“ทั้งนี้ ในการประชุมและจัดกิจกรรมครั้งนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรผู้ทรงความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับโรงเรียนในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ มาให้ความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนในโครงการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัดนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ของ สพฐ. ซึ่งคาดว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนจะได้รับความรู้จากวิทยากรและประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ของตนเองต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

https://www.obec.go.th/archives/544133

https://www.facebook.com/obec.pr/posts/1514880155549128

วารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Basic Education Research Journal)

วารสารการวิจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Basic Education Research Journal) มีนโยบายในการเป็นสื่อกลาง และเผยแพร่บทความวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการนำองค์ความรู้ที่ผ่านกระบวนการวิจัยไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ชุมชน สังคม มีขอบเขตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม และเผยแพร่บทความวิจัยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานภายนอก และเพื่อเป็นสื่อกลางในการนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้จากบทความวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

 

ดาวน์โหลด คู่มือการจัดตั้งงบประมาณปี 2566 งบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง กลุ่มพัฒนาโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ

ดาวน์โหลด คู่มือการจัดตั้งงบประมาณปี 2566

ดาวน์โหลด งบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง กลุ่มพัฒนาโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ

ลิงก์สำรอง คลิก