กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) ร่วมกับองค์กรเครือข่าย เดินหน้าพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่อการต่อยอดเยาวชนไทยสู่สากล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ และนักวิชาการศึกษาผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประกอบด้วย นางสาวธัญชนก ชวาลวณิชชัย นายธัญญภัสร์ จำเริญบุญ และนายณัฐศาสตร์ ส่องแสง เข้าร่วมการประชุมเพื่อเปิดตัว

“โครงการประเมินและพัฒนาศักยภาพทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งเป็นโครงการที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยที่นำเสนอบทเรียนและกิจกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นที่เข้าใจง่ายและสนุกสนาน เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกพูดและโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ ในหัวข้อเนื้อหาที่ตรงตามมาตรฐานสากลยุโรป CEFR พร้อมรับคำชี้แนะแบบรายบุคคลจากผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (Edsy AI Speaking Coach) จนมีพัฒนาการที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ และมีผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และผู้บริหารเอ็ดดูเคชั่น อีซี่ (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านการศึกษาภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ของกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ที่มุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับระบบสนับสนุนที่เหมาะสมต่อการขับเคลื่อนองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การต่อยอดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย สถานศึกษาที่มีคุณภาพ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ทีมวิจัยและพัฒนาของในครั้งนี้ นำโดย ดร.ณพล รัชตสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีการศึกษา (AI in Education) จาก Human-Computer Interaction Institute (HCII) ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้พัฒนาเครื่องมือวัดระดับทักษะการพูดภาษาอังกฤษ “EdSpeak” ผ่านการบันทึกเสียงตอบคำถามของนักเรียนเพื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยอ้างอิงงานวิจัยจากสถาบันและองค์กรชั้นนำในระดับโลกที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีการศึกษา ทั้งยังร่วมมือกับทีมนักวิจัยจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ภาษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (LITU) เพื่อปรับโมเดลปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ผลให้เหมาะสมกับลักษณะการสื่อสารของคนไทย ซึ่งในระยะเริ่มต้นโครงการจะมีกลุ่มโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ร่วมเป็นโรงเรียนต้นแบบในการทดลองใช้นวัตกรรม ระหว่างภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ จำนวน 9 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ โรงเรียนวัดอมรินทราราม และโรงเรียนอนุบาลเชียงราย โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา โรงเรียนวัดช้างชนราษฏร์บำรุง และโรงเรียนบ้านหนองม่วง

ทั้งนี้ ภายหลังการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในระยะแรกเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย องค์กรเครือข่ายต่าง ๆ จะร่วมกันการขยายผลการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน และครู ในโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป

Message us