สพฐ. จับมือ ม.มหิดล เสริมศักยภาพโรงเรียนคุณภาพ โครงการนำร่อง OBEC-MUMT


วันที่ 25 ตุลาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการนำร่อง OBEC-MUMT ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะเทคนิคการแพทย์) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.วิจิตร วงค์ล่ำซำ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา ผศ.ดร.สินีวัลยา วิชิต ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา รวมถึงนางอรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และคณะทำงาน อาทิ นางสาวศศิภัสสร ภาศักดี นักวิชาการศึกษา ผู้ประสานงาน สพฐ. ร่วมในพิธี ณ ห้องประชุม สพฐ. 2 อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องและต่อเนื่องจากระดับมัธยมศึกษาสู่ระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมการผลิตนวัตกรสุขภาพสมรรถนะสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในประเทศและเวทีโลก ซึ่งเป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติที่มีเป้าหมายในการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาคนไทยให้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้แผนแม่บทในยุทธศาสตร์ชาติ ปี พ.ศ. 2561-2580

สำหรับโครงการนำร่อง OBEC-MUMT เป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ. และมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะเทคนิคการแพทย์) ซึ่งทาง สพฐ. ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนคุณภาพระดับมัธยมศึกษาของสังกัด สพฐ. จำนวน 77 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง OBEC-MUMT ได้รับการส่งเสริมศักยภาพให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษได้รับโอกาสการพัฒนาและศึกษาในระดับอุดมศึกษาตลอดหลักสูตร และส่งเสริมการศึกษาต่อ โดยเชื่อมโยงการขยายผลในเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้โอกาสนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ศักยภาพสูง ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้สามารถต่อยอดสาขาการเรียนในคณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่ง สพฐ. คาดหวังว่าการลงนามบันทึกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนำร่อง OBEC-MUMT ในครั้งนี้ จะส่งผลให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รับโอกาสในการพัฒนาตามศักยภาพ สามารถต่อยอดสาขาการเรียนในคณะเทคนิคการแพทย์ และส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอย่างสูงสุดต่อไป

ทั้งนี้ ความร่วมมือในการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2570

ขอขอบคุณ ภาพ/ข่าว : สำนักอำนวยการ

Message us