สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา จัดการประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดีรายด้าน กิจกรรมแข่งขันทักษะวิชาการ และการประกวดสถานศึกษาที่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนดีเด่น ในการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 รอบระดับประเทศ ณ ห้องแกรนด์พาร์ค โรงแรมเอวาน่า บางนา กรุงเทพฯ โดยนายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน เป็นประธานในพิธี
กลุ่มกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) มีโรงเรียนจำนวน 192 โรงเรียน 35 ห้องเรียนสาขา โดยมีวัตถุประสงค์ตามตัวชี้วัด 6 ด้าน ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯ ฉบับที่ 5 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐานของการพัฒนาและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ได้พัฒนางานผ่านกระบวนการประกวดแข่งขัน ในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และระดับภูมิภาค จำนวน 4 ภูมิภาค โดยความร่วมมือของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และศูนย์บริหารการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ และระบบปฏิบัติการสนับสนุนการจัดการประกวดแข่งขันจากสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน
[Best_Wordpress_Gallery id=”72″ gal_title=”กพด.65″]
นางสาวอรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่า สพฐ.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานโรงเรียนในโครงการกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จึงมุ่งส่งเสริม สนับสนุนและติดตามการจัดการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ตามวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่
1. ส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยของเด็กและเยาวชนตั้งแต่ในครรภ์มารดา
2. ส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน
3. เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้ทางวิชาการ
4. เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางการอาชีพ
5. ปลูกฝังจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการจัดกิจกรรมการนำเสนอผลงานแนวปฏิบัติที่ดีรายด้าน
การประกวดแข่งขันในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 6 กิจกรรมประกอบด้วย การประกวดแข่งขันกิจกรรมแนวปฏิบัติที่ดีรายด้าน กิจกรรมทักษะวิชาการประเภทโครงงาน กิจกรรมวาดภาพ กิจกรรมการเขียนเรียงความภาษาไทย กิจกรรมการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ และการประกวดสถานศึกษาที่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิติเด็กและเยาวชนดีเด่น (สถานศึกษา)
มีผู้ร่วมการประกวดแข่งขันฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 103 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน และครู ผู้เข้าร่วมการประกวดแข่งขันฯ จำนวน 92 คน และครูที่ปรึกษา จำนวน 86 คน และคณะทำงานจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จำนวน 69 คน รวมทั้งสิ้น 350 คน
ทีมประชาสัมพันธ์เฉพาะกิจ เรื่อง/ภาพ