สิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกมีสาเหตุใหญ่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  สภาวะโลกร้อน (Global Warming) และ ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งจะส่งผลกระทบ
อย่างมาก ต่อทุกประเทศในโลก ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้ประสบกับภัยพิบัติ ด้านภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ คลื่นความร้อน และไฟป่าเพิ่มขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้โดยมาก เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลก ขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาความแออัดของประชากรต่อหน่วยพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การขาดแคลนพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมถอย จากการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายสมดุลธรรมชาติอันเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจน และยังเป็นตัวช่วยในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนของประชากรโลก ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการใช้พลังงานในทุกด้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนมากยิ่งขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ และโอกาสที่ภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นในมุมต่างๆ ของโลก ซึ่งปัญหาการปล่อยก๊าซต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการปรากฏการณ์เรือนกระจก
ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนสภาวะภูมิอากาศ ทั่วโลกจึงมีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) "เพื่อให้ บรรลุถึงการรักษาระดับ
ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่ อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงของมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศ การรักษาระดับดังกล่าว ต้องดำเนินการในระยะเวลาเพียงพอที่จะให้ระบบนิเวศปรับตัว โดยไม่คุกคามต่อการผลิตอาหารของ มนุษย์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและ"การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นวาระหลักของการพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อสหประชาชาติได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการพัฒนาของโลกระหว่างปี 2016 - 2030 และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ลงนามร่วมกับภาคีสมาชิก ในการรับรองฉันทามติเป้าหมายการพัฒนาและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติถูกผูกโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 65 ที่กำหนดให้ยุทธศาสตร์ต้องมีการบรรจุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีการเชื่อมโยงทั้ง 30 เป้าประสงค์กับยุทธศาสตร์ชาติ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ถึง 8 ยุทธศาสตร์ โดยจะสอดคล้องมาก ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ว่าด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดของการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนจึงเป็นหลักแนวคิดที่สำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด ลดปริมาณของเสีย ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและไม่สร้างมลพิษที่จะกลายมาเป็นต้นทุนการผลิตในระยะต่อไปและเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว โดยมีเงื่อนไข คือ กระบวนการผลิตและการบริโภคที่มีประสิทธิภาพ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เน้น 2 ประการ ดังนี้

การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable consumption and production) เป็นการผลิต และการบริโภคที่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่สร้างข้อจำกัดต่อกิจกรรมการผลิตและการบริโภคในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคอย่างเหมาะสม การขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ขีดจำกัด
ของทุนทางธรรมชาติที่จะต้องมีการสงวนรักษาไว้ใช้ ประโยชน์สำหรับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นอนาคต

การบริโภคที่ยั่งยืน จึงประกอบด้วย รูปแบบการใช้พลังงาน/แร่ธาตุ/การใช้ยานพาหนะ ที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพและประหยัด มีการเลือกใช้สินค้าและบริการโดยกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม วัตถุดิบหรือองค์ประกอบของสินค้าและบริการไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการลดของเสียหรือกากจากการบริโภค

การผลิตที่ยั่งยืน เป็นการเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่เป็นกากของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลืองจากการพัฒนาเทคโนโลยีและ ทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และการเลือกใช้เทคโนโลยีที่สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต

ในสภาพปัจจุบัน ปัญหาการรับรู้ในด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็น ในเรื่องการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนในภาคประชาชนยังประสบปัญหาความเข้าใจที่ถูกต้องและยังขยาย
องค์ความรู้ที่ชัดเจนในวงที่จำกัด จึงทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งในการขับเคลื่อนเป็นไปได้ช้าและ มีอุปสรรคปัญหา ดังนั้น การให้การศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความตระหนักต่อการดำเนินกิจกรรมด้านการผลิตและบริโภคเป็นมิตร
กับสิ่งแวดล้อมจะเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อสาธารณชนทั่วไป และเปิดกว้าง การรับรู้ในการพัฒนาสู่การเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและนำไปใช้ประโยชน์ และลดผลกระทบ
ต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีพันธกิจหลักในการสร้างประชากรหรือคนที่มีคุณภาพจากการศึกษาให้กับสังคมจากรุ่นสู่รุ่น กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 5 การเติบโตคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 เพื่อเน้นและให้ความสำคัญในการให้ความรู้ที่ถูกต้อง สร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องและส่งเสริม สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการผลิตและบริโภคให้คำนึงถึงทรัพยากรเพื่อคนรุ่นต่อไป เป็นต้นแบบที่มีคุณภาพและมีจิตสาธารณะ สู่ที่บ้านและชุมชนจึงมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการขับเคลื่อนแผน นโยบายและยุทธศาสตร์ และเป็นแนวทางให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ และไปสู่สังคมและเมือง ที่ยั่งยืนต่อไป

Message us