เด็กไทยคว้ารางวัลหุ่นยนต์นานาชาติที่เกาหลี

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) นำนักเรียนไทยพร้อมครูที่ปรึกษา และผู้ควบคุมการแข่งขัน เดินทางไป แข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติในรายการ International Grand D Challenge 2019 ณ เมือง Donghae สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ระหว่างวันที่ 27 – 30 กันยายน 2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ส่งทีมหุ่นยนต์ตัวแทนจากงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 68 ปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านการคัดเลือกในการแข่งขันหุ่นยนต์ สพฐ. OBEC Robot Challenge จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ 1.โรงเรียนมัธยมทับทิมสยาม 04 สพม. เขต 33 (จังหวัดสุรินทร์) 2.โรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ สพม.เขต 8 (จังหวัดกาญจนบุรี) 3.โรงเรียนจักรคำคณาทร สพม.เขต 35 (จังหวัดลำปาง) เข้าแข่งขันหุ่นยนต์ในรายการ Mission Challenge รุ่น Challenge 4.โรงเรียนหนองบัว สพม.เขต 42 (จังหวัดนครสวรรค์) เข้าแข่งขันในรายการ Robo Scholar รุ่น Challenge โดยในการแข่งขันครั้งมีผู้เข้าแข่งขัน จำนวน 500 คน จากประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน 5 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โรมาเนีย บังกลาเทศ อุซเบกิสถาน และประเทศไทย

ผลการแข่งขัน ได้รับรางวัล 1 เหรียญทองแดง และ 4 รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (Technical Award) ดังนี้

1. นายธนากร หอมหวล และนายอัษฎาวุธ แสงดี นักเรียน โรงเรียนมัธยมทับทิมสยาม 04 สพม.เขต 33 (จังหวัดสุรินทร์) โดยมีนายมนตรี อกอุ่น เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง (Bronz Medal) และรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (Technical Award)

2. นางสาวลดาวัลย์ บัวเพ็ง และนางสาวชลธิชา สีเงิน นักเรียน โรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ สพม.เขต 8 (จังหวัดกาญจนบุรี) โดยมีนายกิตติศักดิ์ ภุมรินทร์ เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (Technical Award)

3. นายณัฐธัญญนนท์ ทิมภินันท์ นายรามฤทธิ์ สุดใจ และนายกฤติพงศ์ กระแสร์ นักเรียน โรงเรียนจักรคำคณาทร สพม. เขต 35 (จังหวัดลำพูน) โดยมีนางชลภิรัตน์ แก้วมูล เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (Technical Award)

4. นายรณชัย ทิมภินันท์ นักเรียน โรงเรียนหนองบัว สพม.เขต 42 (จังหวัดนครสวรรค์) โดยมี นางไพลิน ส่งวัฒนา เป็นครูปรึกษา ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (Technical Award)

ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กล่าวถึงผลการแข่งขันว่า เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ สพฐ. เปิดโอกาส เปิดเวทีการแข่งขันให้กับเด็กๆ เพราะนอกจากเด็กเหล่านี้จะได้แสดงศักยภาพในระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศแล้ว ยังได้ออกมาสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งเขาจะได้เรียนรู้ว่าเด็กในวัยเดียวกันซึ่งเป็นเด็กต่างชาตินั้น มีความสามารถและมีศักยภาพอย่างไร ซึ่งการแข่งขันหุ่นยนต์ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดย คณะกรรมการหุ่นยนต์โอลิมปิคนานาชาติ (International Robot Olympiad Committee : IROC) ของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในการแข่งขันครั้งนี้ เด็กต้องประกอบ สร้างหุ่นยนต์ เขียนโปรแกรม ตามโจทย์ที่กำหนดขึ้นในวันแข่งขัน ทีมหุ่นยนต์ไทยจึงแก้ไขปัญหาเฉพาะภายใต้เวลาจำกัด แต่เด็กไทยก็สามารถแก้ปัญหา ทำคะแนนได้ จนสามารถคว้ารางวัลเหรีญทองแดง และรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ “สพฐ.ก็มี แผนที่จะพัฒนาต่อยอดศักยภาพของเด็กๆ ที่มีความสามารถในแต่ละด้าน ซึ่งมีหลายเวทีให้เด็กได้แสดงความสามารถทั้งด้านวิชาการ ทักษะทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงด้านวิทยากรใหม่ ๆ ซึ่งการแข่งขันไม่ได้หมายถึงการแพ้ ชนะ หรือต้องมาชนะเพียงอย่างเดียว เมื่อมาถึงเวทีเขาต้องเรียนรู้ในเรื่องของทักษะชีวิต ไม่ว่าผลจะแพ้หรือชนะ ในส่วนนี้ก็จะเป็นทักษะชีวิตที่ดี ที่เขาจะต้องนำไปใช้ในอนาคต

ทั้งนี้ คณะกรรมการหุ่นยนต์โอลิมปิคนานาชาติ (International Robot Olympiad Committee : IROC) กำหนดจัดงานแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ รายการ International Robot Olympaid 2019 : IRO 2019 ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16 -20 ธันวาคม ปีนี้ด้วย ” ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด กล่าว นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน อีก 7 หน่วยงานได้เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ในรายการดังกล่าวและได้รับรางวัล อีก 15 รางวัล คือ 1 เหรียญทอง และ 14 รางวัลยอดเยี่ยม ( ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันหุ่นยนต์รายการ Robo Scholar รุ่น Junior โรงเรียนยโสธรพิทยาคม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยธนบุรี โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ โรงเรียนอนุบาลสายสมร โรงเรียนนานาชาติอุดรธานี สถาบัน Smart Child Robotics นับเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการพัฒนา ศักยภาพเด็กไทยด้านหุ่นยนต์ ในเวทีระดับโลก และขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21 ให้เด็กไทยได้ใช้ทักษะ Coding ผ่านกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์อีกด้วย

Message us