Month: พฤษภาคม 2022

ผลการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. – สพฐ. ประจำปี 2565

            สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมสนับสนุนสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์  ส.ส.ท. – สพฐ. ยุวชน ประจำปี 2565 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 28 – 29 พฤษภาคม 2565 ณ MCC Hall ชั้น 4 เดอะมอลล์ บางกะปี ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้มีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมทั้งศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยมีเกมการแข่งขันระดับมัธยมศึกษา 2 รายการ คือเกม การแข่งขันที่ 1 เกมการแข่งขัน Rescue Line และเกมการแข่งขันที่ 2 เกมการแข่งขัน Rescue Maze  โดยมีทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. – สพฐ. ยุวชน ประจำปี 2565 รอบชิงชนะเลิศ ได้แก่ เกม Rescue Line จำนวน 41 ทีม และเกม Rescue Maze จำนวน 40 ทีม รวม 81 ทีม ประกอบด้วย นักเรียน 163 คน ครูที่ปรึกษา 81 คน รวม 244 คน  ผลการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2565 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีดังนี้

การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. – สพฐ. ยุวชน ครั้งที่ 22 เกมการแข่งขัน Rescue Line ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ             โรงเรียนทีโอเอวิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง)

รองชนะเลิศ อันดับ 1    โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี

รองชนะเลิศ อันดับ 2    โรงเรียนสรรพวิทยาคม

รองชนะเลิศ อันดับ 2    โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานี

การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. – สพฐ. ยุวชน ครั้งที่ 22 เกมการแข่งขัน Rescue Maze ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ             โรงเรียนอัสสัมชัญ

รองชนะเลิศ อันดับ 1    โรงเรียนมัธยมทับทิมสยาม 04 ในพระอุปถัมภ์

รองชนะเลิศ อันดับ 2   โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย

รองชนะเลิศ อันดับ 2    โรงเรียนโยธินบูรณะ

 

ในการนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มอบหมายให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดย น.ส.นลินี  จีนกูล ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมในพิธีเปิดและมอบรางวัลในงานแข่งขันดังกล่าว การแข่งขันหุ่นยนต์ในรายการนี้ แสดงให้เห็นว่านักเรียนได้พัฒนาศักยภาพความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ โดยใช้ทักษะการลงมือทำ การแก้ปัญหาให้เกิดการใช้งานได้จริง และทีมที่รับรางวัลจะได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2022 ระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2565 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพต่อไป

 

 

 

 

การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง RCJ Rescue Simulation (Webots-Erebus)

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ https://robocup.thairobot.in.th เชิญชวนให้โรงเรียนที่สนใจและสมัครเข้าร่วมการอบรมและแข่งขันรอบคัดเลือกผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 23 – 25 พฤษภาคม 2565 เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ World RoboCup Junior 2022  คณะกรรมการ ได้คัดเลือกทีมนักเรียนหุ่นยนต์รอบคัดเลือกผ่านระบบออนไลน์เสร็จสิ้นแล้ว มีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์รอบคัดเลือกผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 106 ทีม ประกอบด้วย นักเรียน 212 คน ครูที่ปรึกษา 106 คน รวม 318 คน หลังจากกิจกรรมการอบรมและแข่งขันรอบคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว มีนักเรียนเข้ารอบ จำนวน 10 ทีม ได้แก่

ที่ โรงเรียน ชื่อทีม จังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
1 วัดป่าประดู่ WPRobot ระยอง สพม. ชลบุรี ระยอง
2 สุรวิทยาคาร SWK_ROBOT สุรินทร์ สพม. สุรินทร์
3 จักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน CKK ROBOT ลำพูน สพม. ลำปาง ลำพูน
4 ราชวินิตบางแก้ว SMT04-Robot สมุทรปราการ สพม. สมุทรปราการ
5 ท่ามะกาวิทยาคม TMK Robotics กาญจนบุรี สพม. กาญจนบุรี
6 สตรีสมุทรปราการ SSP ROBOT สมุทรปราการ สพม. สมุทรปราการ
7 เบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี BJ-ROBOT จันทบุรี สพม. จันทบุรี ตราด
8 สตรีวิทยา2 MCT กรุงเทพมหานคร สพม. กรุงเทพมหานคร เขต 2
9 กาญจนานุเคราะห์ KN กาญจนบุรี สพม. กาญจนบุรี
10 นายางกลักพิทยาคม NP ROBOTIC ชัยภูมิ สพม. ชัยภูมิ

 

การประชุมปฏิบัติการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการจัดทำนโยบายการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่

 

กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา นำทีมโดย นางสาวดุจดาว ทิพย์มาตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา ได้ดำเนินการจัดประชุมปฏิบัติการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการจัดทำนโยบายการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ ระว่างวันที่ 24 – 27 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับเกียรติจากท่าน ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ เป็นประธานในการเปิดการประชุมดังกล่าว โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ โดยการสังเคราะห์รายงานการวิจัยข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยจำแนกตามเขตตรวจราชการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้เพื่อให้ได้รูปแบบและแนวทางสำหรับการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย คณะทำงานจากส่วนกลาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะทำงานศึกษานิเทศก์ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และข้าราชการบำนาญผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 29 คน  กิจกรรมการประชุมประกอบด้วย การแบ่งกลุ่มปฏิบัติการสังเคราะห์งานวิจัย โดยแบ่งตามเขตตรวจราชการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 18 เขต การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายระดับเขตตรวจราชการ และระดับสำนังานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การนำเสนอผลการสังเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การบริหาร 2) การจัดการเรียนรู้ /คุณภาพผุ้เรียน 3) การดูแลช่วยเหลือนักเรียน  ซึ่งมุ่งเน้นมอง 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านจุดแข็ง 2) ด้านจุดอ่อน 3) ด้านโอกาส และ4) ด้านอุปสรรค และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายระดับเขตตรวจราชการ ในประเด็นดังนี้ 1) ด้านความปลอดภัย 2) ด้านโอกาสทางการศึกษา 3) ด้านคุณภาพการศึกษา และ4) ด้านประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิจัยทางการศึกษา นำโดย ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมการเรียน ดร.ลาวัณย์ ตรีเนตร อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และดร.สิริมา หมอนไหม อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางการศึกษา ผู้ซึ่งให้คำชี้แนะ แนะนำแนวทางการในการดำเนินงานสังเคราะห์งานวิจัยให้สามารถดำเนินงานได้อย่างบรรลุเป้าหมายวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้

การประชุมปฏิบัติการจัดการความรู้การใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐานในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมโรงเรียนคุณภาพของชุมชนด้วยนวัตกรรม SLC

 

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา (วสศ.) จัดประชุมปฏิบัติการจัดการความรู้การใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐานในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมโรงเรียนคุณภาพของชุมชนด้วยนวัตกรรม SLC (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ ระหว่างวันที่ 18 -20 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง) ให้เกียรติมาเป็นประธานในการเปิดการประชุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย คณะทำงานจากส่วนกลาง สพฐ. และศึกษานิเทศก์ (Area Team) จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 39 เขต ซึ่งกิจกรรมการประชุมประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในโครงการนำเสนอแผนขับเคลื่อนโครงการในปี พ.ศ. 2565 การนำเสนอแนวคิดการจัดทำวิดีทัศน์โครงการ โดย สพป.ลำปาง เขต 1 สพป.ร้อยเอ็ด เขต 1 สพป.สิงห์บุรี และสพป.กระบี่ และการนำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานวิจัยโครงการส่งเสริมโรงเรียนคุณภาพของชุมชนด้วยนวัตกรรม SLC (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ โดย สพป.ร้อยเอ็ด เขต 1 สพม.แพร่ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมยังได้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐานในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมโรงเรียนคุณภาพของชุมชนด้วยนวัตกรรม SLC (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความน่าสนใจและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ SLC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิทยากร โดย รศ.ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา (ข้าราชการบำนาญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และการเติมเต็มข้อมูลความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา โดย อดีตที่ปรึกษา สพฐ. (นางสาววีณา อัครธรรม) ดร.ศักดิ์สิน ช่องดารากุล และนางสาววิไลวรรณ เหมือนชาติ ในวันสุดท้ายของการประชุมปฏิบัติการจัดการความรู้การใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐานในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมโรงเรียนคุณภาพของชุมชนด้วยนวัตกรรม SLC (School as Learning Community) เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า) มาให้แนวคิดเกี่ยวกับการเป็นโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) สู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีวิชาการระดับนานาชาติต่อไป

 

 

 

การประชุมปฏิบัติการกลั่นกรองผลงานการประกวดนวัตกรรมการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาโดยกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร (วนบ.) จัดประชุมปฎิบัติการกลั่นกรองผลงานการประกวดนวัตกรรมการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลกตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมริเวอร์ไรน์ เพลส จังหวัดนนทบุรี นำทีมโดย ดร.ธัญนันท์ เเก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาคัดเลือกผลงานการประกวดนวัตกรรมการศึกษาของครู ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลก และคัดเลือกผลงาน ก่อนทำการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้ารอบต่อไป โดยมีคณะทำงานที่เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ครู นักวิชาการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 35 ท่าน

การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกคุรุชนคนคุณธรรมและนวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี ของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา “โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.” ระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ระหว่างวันที่ 8 – 12 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี

วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาคัดเลือกคุรุชนคนคุณธรรมและนวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี ของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา “โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.” ระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และบรรยายพิเศษให้กับคณะกรรมการฯ เข้าร่วมการประชุม ระหว่างวันที่ 8 – 12 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี

การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง (RCJ Rescue Simulation)

ด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดจัดการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ World RoboCup Junior 2022 ระหว่างวันที่ 2 – 3 มิถุนายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อคัดเลือกทีมตัวแทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ระหว่างวันที่ 11 – 17 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ การลงมือทำและการแก้ปัญหาในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ให้สามารถทำงานหรือใช้ประโยชน์ได้ตรงความต้องการเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสอดรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนในสังกัดที่สนใจทราบและสมัครเข้าร่วมการอบรมและแข่งขันรอบคัดเลือกผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤษภาคม 2565 เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ World RoboCup Junior 2022 รอบชิงชนะเลิศ เพื่อคัดเลือกทีมตัวแทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022  ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ที่ https://robocup.thairobot.in.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565

การประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกข้อเสนอโครงการผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่และการคัดเลือกภาพวาดจินตนาการอนาคต

วันที่ 9- 12 พฤษภาคม 2565  สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มโครงการพิเศษ ได้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกข้อเสนอโครงการผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่และการคัดเลือกภาพวาดจินตนาการอนาคต ระหว่างวันที่ 9- 12 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยการจัดการประชุมในครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ภายใต้หัวข้อ Inventions for Sustainable Development Project  และภาพวาดจินตนาการอนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ Science for Sustainable Development Project ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แจ้งโรงเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมส่งผลงานเข้าร่วมการคัดเลือก/ประกวด/แข่งขัน ตามเงื่อนไขข้อปฏิบัติการส่งผลงาน และระยะเวลาที่กำหนดทางเว็บไซต์ https://inno.obec.go.th/?p=180692

การดำเนินงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมพิจารณาข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ภายใต้หัวข้อ Inventions for Sustainable Development Project จำนวน 153 ข้อเสนอโครงการ ประกอบด้วย 8 ประเภทผลงานได้แก่

  1. เทคโนโลยีที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology)
  2. อาหารและเกษตรกรรม (Food and Agriculture)
  3. ความปลอดภัยและสุขภาพ (Safety and Health)
  4. เทคโนโลยีสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ (Technology for Special Need)
  5. การจัดการกับภัยพิบัติ (Disaster Management)
  6. การศึกษาและนันทนาการ (Education and Recreation)
  7. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Aerospace and Aviation)
  8. ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (Artificial Intelligence and Automation System)

และภาพวาดจินตนาการอนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ Science for Sustainable Development Project จำนวน 253 ผลงาน โดยในปี้นี้ได้เพิ่มเติมประเภทของการวาดภาพในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มเติมจากประเภทการวาดภาพบนกระดาษวาดเขียน (โดยไม่จำกัดเทคนิคการวาด) โดยกิจกรรมนี้ไม่ได้วัดความสามารถในด้านศิลปะเป็นหลัก แต่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้แสดงออกถึงจินตนาการที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อที่กำหนด

ผลงานที่ได้รับการคัดเลือก ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะสนับสนุนงบประมาณให้ทีมนักเรียนเจ้าของผลงานได้พัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบความสนองความต้องการของชุมชนและสังคม และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมีการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ International Exhibition for Young Inventor (IEYI 2022) โดยในปีนี้ สาธารณรัฐจีน (ประเทศไต้หวัน) เป็นเจ้าภาพจัดงานในลักษณะ Virtual World Contest ในเดือนกันยายนนี้

การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำเกณฑ์การประกวดนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนงานอาชีพและผลิตภัณฑ์ โครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (The Young Entrepreneur Project : YEP)

ด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มโครงการพิเศษ ดำเนินการการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำเกณฑ์การประกวดนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนงานอาชีพและผลิตภัณฑ์ โครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคู่มือการตัดสินนวัตกรรม ระดับประเทศ ระหว่างวันที่ ๕ – ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ตามแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ โครงการเสริมสร้างระเบียบวินัย คุณธรรม และจริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ กิจกรรมหลัก ส่งเสริมกิจกรรมนักเรียนเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และลักษณะที่พึงประสงค์ โครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (The Young Entrepreneur Project : YEP)

การประชุมปฏิบัติการพิจารณากรอบเนื้อหาหลักสูตรและสร้างแบบทดสอบการแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 (รอบสอง ระดับประเทศ) ระหว่างวันที่ 4 – 7 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท บางพลัด กรุงเทพฯ

วันที่ 4 พฤษภาคม 2565  สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียน
จัดการประชุมปฏิบัติการ พิจารณากรอบเนื้อหาหลักสูตรและสร้างแบบทดสอบการแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ
ประจำปี พ.ศ. 2565(รอบสอง ระดับประเทศ) ระหว่างวันที่ 4 – 7 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท บางพลัด กรุงเทพฯ