04_Moral

การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงาน ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคุณธรรม(องค์กรคุณธรรม)ต้นแบบ

วันที่ 15 ธันวาคม 2562 ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ชี้แจงที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคุณธรรม(องค์กรคุณธรรม)ต้นแบบ ณ โรงแรม เวสต์เกต เรสซิเดนท์ จ.นนทบุรี เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. เกิดความต่อเนื่อง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีความเข้าใจในการดำเนินงานที่ตรงกัน โดยมีเขตพื้นที่การศึกษาคุณธรรม (องค์กรคุณธรรม)ต้นแบบ เข้าร่วมประชุมฯ จำนวน 25 เขต

พิธีมอบเกียรติบัตรการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้หน่วยงานในระดับกรม

โครงการโรงเรียนสุจริต สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา จัดพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับ สำนัก/กลุ่ม/ศูนย์ ในระดับกรมของสพฐ. ที่ร่วมที่ให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ณ บริเวณพื้นที่ด้านหน้าห้องประชุม สพฐ.1 อาคาร สพฐ.4 ชั้น 2 โดยมีท่านอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เกียรติเป็นประธานมอบเกียรติบัตรในครั้งนี้

เฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานฉลองครบรอบ 20 ปี ยุวทูตความดี

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานงานฉลองครบรอบ  20 ปี ยุวทูตความดี ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ  โดยมี ดร.อำนาจ  วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และคณะ ร่วมรับเสด็จและเฝ้าทูลละอองพระบาทในครั้งนี้

กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ริเริ่ม “โครงการยุวทูตความดี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เมื่อปี 2542 เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระชนมายุ 72 พรรษา โดยคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษา นำร่อง 76 จังหวัด ทั่วประเทศ เข้าร่วมทำโครงการกิจกรรมเสริมสร้างความดีให้กับเยาวชนยุวทูตเพื่อเป็นอนาคตที่เข้มแข็งของสังคมและประเทศชาติ    มุ่งพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรมตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในปี 2558 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาจากสมเด็จ    พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ จึงได้ทำการจดทะเบียนในชื่อใหม่เป็น “มูลนิธิยุวทูตความดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

งานฉลองครบรอบ 20 ปี ยุวทูตความดี ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ยุวทูตความดีและผู้เข้าร่วมงาน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมจัดนิทรรศการจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่

1) โรงเรียนอนุบาลยะลา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1 นำเสนอโครงการรวมใจภักดิ์ รักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นใต้ มโนราแอโรบิก

2) โรงเรียนอนุบาลเชียงของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 นำเสนอโครงการใช้หัวคิด ปลูกจิตอาสา พัฒนาลุ่มน้ำโขง

3) โรงเรียนโคกทุ่งน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2 นำเสนอโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School)

อีกทั้งยังมีนิทรรศการของมูลนิธิยุวทูตความดีฯ และศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมยุโรป กรมอาเซียน กรมองค์การระหว่างประเทศ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และสถาบันการต่างประเทศเทวะวงค์วโรปกร เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับมิติต่างประเทศและความมหัศจรรย์ของภาษาอังกฤษ รวมทั้งสรุปผลโครงการรณรงค์ส่งเสริมต้นกล้าความดี ในกลุ่มเยาวชนยุวทูต ปี 2562 โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ และนักเรียน ตัวแทนยุวทูตความดีจากทั่วประเทศ จำนวน 20 โรงเรียน ที่ได้มีโอกาสไปพัฒนาโลกทัศน์ในต่างประเทศ อาทิ อินเดีย ฟิลิปปินส์ จีน ลาว เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และศรีลังกา รวมทั้งตัวแทนจากผู้สนับสนุน คือ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และสถาบันวิมุตตยาลัย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทใจความตอนหนึ่งว่า “ขอชื่นชมความมุ่งมั่น และความพร้อมใจกันของกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนโรงเรียน ในการสร้างยุวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะความชำนาญในงานต่างๆ มีโลกทัศน์กว้างไกล ก้าวทันโลก พร้อมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรมในตนเอง โดยเริ่มกล่อมเกลาลักษณะนิสัย ความคิด และทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้เป็นไปในทางที่เหมาะสมตั้งแต่ยังเยาว์วัย เพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเจริญเติบโตขึ้นเป็นกำลังของชาติที่แข็งแกร่ง มีสติปัญญา มีจิตสำนึกเรื่องหน้าที่ต่อสังคม ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติเจริญงอกงาม พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

ดังนั้น โครงการยุวทูตความดี จึงถือเป็นการส่งเสริมเยาวชน ให้เป็นต้นกล้าความดี ร่วมพัฒนาวิถีไทยด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการเสริมสร้างเยาวชนให้มีบทบาทสานสัมพันธ์ สร้างมิตรไมตรีกับเยาวชนนานาชาติ และการปลูกฝัง อบรมเยาวชนให้มีจิตสำนึกที่ดีงาม มีจิตอาสาที่มุ่งมั่นสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวมต่อไป

 

 

โรงเรียนวิถีพุทธ

ความเป็นมา รร.วิถีพุทธ
๑ ก่อร่างสร้างนวัตกรรรม
โรงเรียนวิถี พุทธเกิดขึ้นในปลายปี 2545 เป็น 1 ใน 5 ของโครงการโรงเรียนรูปแบบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ (โครงการโรงเรียนรูปแบบใหม่ 5 รูปแบบ ได้แก่ โรงเรียนในกำกับของรัฐ  โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้ และโครงการนำร่องสรรหา พัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านต่างๆ) การศึกษาแนวพุทธอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดมา เมื่อริเริ่มโครงการโรงเรียนวิถีพุทธได้ศึกษาแนวทางของ 3 โรงเรียนที่ได้ใช้แนวพุทธเป็นหลักในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย โรงเรียนทอสี โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนอนุบาลหนูน้อย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสยามสามไตร) และได้เชิญบุคลากรทั้งสามโรงเรียนมาร่วมเป็นคณะทำงาน มีพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เป็นประธาน รวมเรียกชื่อโรงเรียนจัดการศึกษาแนวพุทธว่า “โรงเรียนวิถีพุทธ” นับแต่นั้นมา คณะทำงานนี้มีการประชุมหลายครั้งต่อเนื่อง เพื่อเรียนรู้ร่วมกันและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงาน ต่อมามีการเปิดรับโรงเรียนวิถีพุทธรุ่นแรกของโครงการด้วยการประกาศรับสมัคร และมีโรงเรียนเข้าร่วม จำนวน 89 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนวิถีพุทธก็คือ
 โรงเรียนวิถีพุทธ   หมายถึงโรงเรียนในวิถีแห่งปัญญา ที่พัฒนาอย่างบูรณาการในระบบแห่ง     ไตรสิกขา สู่ความเป็นพุทธ ผู้เข้าถึงธรรม ซึ่งทำให้เป็นอิสระ โดยมีชีวิตที่ดี เจริญงอกงามมีความสุข จริงแท้           และอยู่ร่วมสังคมอย่างสร้างสรรค์เกื้อกูล สามารถนำโลกไปในวิถีที่ถูกต้อง /วิถีแห่งธรรม ( พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป. อ. ปยุตโต))
ที่ปรึกษาโครงการ  โรงเรียนวิถีพุทธทำงานภายใต้คำปรึกษาของพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ  พระพรหมคุณาภรณ์   วัดญาณเวศกวัน  พระพรหมบัณฑิต  อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  พระเทพวิสุทธิกวี   มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย   อีกทั้งมหาเถรสมาคมเคยมีมติ ครั้งที่ ๑๓/๒๕๔๗   มติที่ ๒๐๗ ให้พระสังฆาธิการสนับสนุนการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ
วิวัฒนาการของการศึกษาแนวพุทธ
ในสมัยก่อนการเรียนรู้ของคนไทยอยู่ใกล้ชิดพุทธศาสนาอย่างมาก เพราะอาศัยวัดเป็นสถานที่เรียนมีพระเป็นผู้สอน หรือเรียนรู้ตามสำนักวิชาชีพต่างๆ การเรียนจะเน้นเรียนรู้เพื่อรู้หนังสือ เรียนวิชาชีพ รวมทั้งบวชเรียนเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และพัฒนาตนเองตามหลักพุทธศาสนา และปรากฏชัดในปี พ.ศ.2418 ที่รัชกาลที่ 5 ทรงอาราธนาให้พระสงฆ์สอนหนังสือไทยในพระอารามหลวงทุกอาราม ซึ่งเมื่อแรกตั้งกระทรวงธรรมการในปี พ.ศ.2435 ก็ยังคงมีลักษณะการเรียนเช่นเดียวกับในอดีต
การเปลี่ยนแปลงที่น่าจะมีส่วนสำคัญให้การศึกษาห่างวัดและพระ เมื่อมีการกระจายโรงเรียนไปทั่วราชอาณาจักร และผู้สอนเปลี่ยนเป็น “ครู” ในปี พ.ศ.2454 แล้วสภาพการเรียนรู้ของคนไทยที่ยิ่งห่างไกลพระพุทธศาสนาตลอดมาจนรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริว่าการศึกษาไม่ควรแยกไปจากวัด จึงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการแทน โดยให้มีหน้าที่ดูแลทั้งการจัดการศึกษาและการศาสนา ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนอาจช่วยให้การศึกษาชำเลืองมองพุทธศาสนาอยู่บ้าง แต่สภาพปัญหามาปรากฏชัดในเหตุผลของการเกิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในปี พ.ศ.2501 ที่ระบุว่า รัฐเน้นพุทธิศึกษาถึง 90% แต่ให้ความสำคัญกับจริยศึกษาเพียง 5% ผมคิดว่าอีก 5% ที่หายไปน่าจะเป็นสัดส่วนของหัตถศึกษา ซึ่งสะท้อนว่า การจัดการศึกษาของเราเน้นเนื้อหาวิชาการเพิ่มขึ้นๆ และให้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่างๆ สอดแทรกและบูรณาการอยู่ในการเรียนเนื้อหาวิชาการ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระดับความใส่ใจและการมุ่งเน้นของโรงเรียนเป็นสำคัญ แต่ด้วยสภาพปัญหาและวิกฤตการณ์คุณธรรมของคนในสังคมไทย จึงมีข้อเสนอให้นำหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนามาใช้อย่างจริงจังในโรงเรียน ก่อเกิดเป็นโครงการโรงเรียนวิถีพุทธในปลายปี พ.ศ.2545 และมุ่งมั่นดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
รูปธรรมของโรงเรียนวิถีพุทธ
ในระยะแรกมี KPI ประมาณ 5๔ ตัว ในด้านกายภาพ การเรียนการสอน และพฤติกรรมพื้นฐาน(วิถีชีวิต) ต่อมาปรับเหลือ 29 ตัว นำไปใช้ในการพิจารณาเลือกโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ หรือการประเมินผลการปฏิบัติราชการโดย กพร. หากจะสังเกตทั่วๆไป จะเห็นว่าโรงเรียนจะมีกิจกรรมวันพระ (หรือวันที่โรงเรียนกำหนดขึ้นในแต่ละสัปดาห์) คือ ครูใส่เสื้อขาว มีกิจกรรมสวดมนต์ยาว รับประทานมังสวิรัติ ทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ เป็นการกระทำด้วยความเข้าใจเหตุและผลว่า ทำไปทำไม เพราะเหตุใด ถึงแม้จะถูกมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “พิธีกรรม” แต่ก็ถือว่ามีความจำเป็น และเป็นตัวช่วย สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าใจและบรรลุจุดมุ่งหมายได้ในทันที ซึ่งบรรยากาศ ปัจจัย และเงื่อนไขดังกล่าว จะช่วยหล่อหลอมให้จิตใจสงบ พิจารณาเรื่องราวต่างๆ ด้วยใจอันใคร่ครวญได้ดียิ่งขึ้น เพื่อการเรียนรู้ให้ถึงแก่นแท้ของไตรสิกขา และแฝงด้วยคุณค่าที่ลึกซึ้งอยู่ทุกป
ผลโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ( 2545 – 2556) 
เชิงปริมาณ
พ.ศ. 2546  มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน           89  โรงเรียน
พ.ศ. 2549  มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน       20,475  โรงเรียน
พ.ศ. 2550  มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน       21,764  โรงเรียน
พ.ศ. 2551  มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน       22,190  โรงเรียน
พ.ศ. 2552 มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน          23,337  โรงเรียน
พ.ศ. 2554 มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน        24,212  โรงเรียน
พ.ศ. 2555 มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน        12,159  โรงเรียน
พ.ศ. 2556  มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน      18,555 โรงเรียน ( ข้อมูล ตุลาคม ๒๕๕๖)
พ.ศ. 2557  มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน      19,382  โรงเรียน ( ข้อมูล มิถุนายน ๒๕๕๗ )
พ.ศ. 2558  มีโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน      20,310  โรงเรียน ( ข้อมูล มีนาคม ๒๕๕๘ )
โรงเรียนวิถีพุทธ ๓ ระดับ
ระดับที่ ๑  โรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน รวม 21,574 โรงเรียน         ข้อมูล ณ วันที่ 13/9/2558
ตัวชี้วัด  อัตลักษณ์ ๒๙ ประการ เป็นเครื่องมือในการพัฒนา
ผู้รับผิดชอบ ศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบโรงเรียนวิถีพุทธ
ประจำ สพม. สพป.ทั่วประเทศ
ระดับที่ ๒  โรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ ๖ รุ่น จำนวน รวม ๖๐๐ โรงเรียน
ตัวชี้วัด อัตลักษณ์ ๒๙ ประการ ที่เป็นผล
ผู้รับผิดชอบ พระนิเทศก์วิถีพุทธ คณะกรรมการ คขวท.   และ มจร.
ระดับที่ ๓        โรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน จำนวน รวม 2๗ โรงเรียน
ตัวชี้วัด ตัวบ่งชี้โรงเรียนวิถีพุทธพระราชาน ๕ มาตรฐาน    ๕๔ ตัวบ่งชี้
ผู้รับผิดชอบ มจร.โรงเรียนรุ่งอรุณ สนก.และ พระนิเทศก์วิถีพุทธ

โรงเรียนสุจริต

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา “ป้องกันการทุจริต” (โครงการโรงเรียนสุจริต) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริต มีกลไกป้องกันการทุจริตและระบบการบริหาร การจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 – 2564) ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero tolerance & Clean Thailand)” มีพันธกิจในการสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ทุกภาคส่วนแบบบูรณาการและปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ ให้มีมาตรฐานสากล โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา ในการพัฒนาผู้บริหาร ครูและนักเรียน ให้เกิดคุณลักษณะ 5 ประการของโรงเรียนสุจริต ได้แก่ ทักษะกระบวนการคิด มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง และจิตสาธารณะ โดยดำเนินการตามแนวทางของปฏิญญาโรงเรียนสุจริตทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน ด้านการปลูกฝัง และด้านการสร้างเครือข่าย

โรงเรียนคุณธรรม

กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เยาวชนไทย โดย สพฐ. ในฐานะองค์กรหลักเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้เยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้จัดทำโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน และตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10

ขอแสดงความยินดีกับยุวทูตความดีที่ได้รับคัดเลือกไปพัฒนาโลกทัศน์ ณ รัฐคูเวต ระหว่างวันที่ 7 – 14 มกราคม 2562

ผู้แทนนักเรียนในโครงการยุวทูตความดีฯ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 6 คน ผู้ซึ่งมีความตื่นรู้ ปฏิบัติหน้าที่อย่างชาญฉลาดได้รับคัดเลือกเป็น “ผู้แทนเยาวชนไทยไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเรียนในรัฐคูเวต ระหว่างวันที่ 7 – 14 มกราคม 2562” คือ เด็กหญิงโซเฟีย บือชา เด็กชายฟารฮานคาน โมอัมเม็ดซาริน จากโรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก สพป.นราธิวาส เขต 2 เด็กหญิงอลิน อากาฌา อามิน โรงเรียนอนุบาลยะลา สพป.ยะลา เขต 1 เด็กชายวรัชญ์ วัฒนานิกร โรงเรียนอนุบาลปัตตานี สพป.ปัตตานี เขต 1 เด็กชายพีระภัทร  รามจันทร์ โรงเรียนบ้านควนประ สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2 และเด็กชายวรโชติ ทวีกิจเจริญชัย โรงเรียนธัญญสิทธิศิลป์ สพป.ปทุมธานี เขต 2 เดินทางพร้อมด้วยผู้แทนครูในโครงการฯ จำนวน 1 คน คือ นางสาวฐานิยา งามศิริ ครูโรงเรียน วัดดอนทอง สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 1 กิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโลกทัศน์และต่อยอดองค์ความรู้ของยุวทูตความดีให้กว้างไกล รอบรู้ รอบด้าน รวมถึงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทย และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง การเสริมสร้างประสบการณ์ครั้งนี้มูลนิธิยุวทูตความดี กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ รัฐคูเวต ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการพัฒนา โลกทัศน์ของยุวทูตความดีตลอดการเดินทาง

การประชุมทางไกลโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. VIDEO CONFERENCE

แจ้งโรงเรียนในสังกัดทุกโรงเรียนร่วมประชุมทางไกลโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.

(Video Conference) ในวันที่ 20 มิถุนายน 2561 เวลา 09.00 – 13.00 น.

ผ่าน 3 ช่องทาง

1. www.obectv.tv

2. www.youtube.com/obectvonline

3. www.facebook.com/obectvonline