Year: 2019

การประชุมหารือความร่วมมือในการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2563

การประชุมหารือกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์ และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้ประชุมหารือร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์ และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับการดำเนินโครงการ/กิจกรรมในปี 2563 จะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน ในลักษณะของการประกวดนวัตกรรม และการให้ความรู้กับโรงเรียนที่ส่งผลงานเข้ามา  ตั้งโจทย์ปัญหาให้ แล้วคิดค้นนวัตกรรมมาแก้ปัญหา และต่อยอด และนำเสนอแนวคิดในการนำสื่อ เช่น Board Game มาให้ครูนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยในปีนี้ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) ได้นำเสนอนวัตกรรมการจัดการขยะ เช่น นวัตกรรมการจัดการขยะในครัวเรือน และนำเสนอการจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล ณ ศูนย์การเรียนรู้ จังหวัดขอนแก่น

ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีผู้แทนจากบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด มานำเสนอโครงการนำร่อง ในการสร้างองค์ความรู้ และนำกล่อง UHT ไปรีไซเคิล ร่วมกับทางบริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE)เพื่อนำมาใช้ประโยชน์  โดยอัตราการรีไซเคิลของกล่อง UHT ยังคงมีน้อย มีปริมาณการผลิต 100,000 ตันต่อปี แต่การนำกลับมารีไซเคิลได้น้อยกว่า 10%  ที่ผ่านมาทางบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้ร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียน 1,608 โรงเรียน ทั้งนี้การทำกิจกรรมกับโรงเรียน ต้องดำเนินการให้ตอบโจทย์ความต้องการของโรงเรียน โดยไม่เป็นภาระครู และดึงครูออกจากห้องเรียน สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้จาก เว็บไซต์ http://eesdobec.com


			

การประชุมชี้แจงเกณฑ์การประกวดแข่งขันกิจกรรมทักษะภาษาไทย กิจกรรมแนวปฏิบัติที่ดีรายด้าน และกิจกรรมทักษะวิชาการ ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา

การประชุมชี้แจงเกณฑ์การประกวดแข่งขันกิจกรรมทักษะภาษาไทย กิจกรรมแนวปฏิบัติที่ดีรายด้าน และกิจกรรมทักษะวิชาการ ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา

สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. จัดการประชุมชี้แจงเกณฑ์การประกวดแข่งขันกิจกรรมทักษะภาษาไทย กิจกรรมแนวปฏิบัติที่ดีรายด้าน และกิจกรรมทักษะวิชาการ ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2562 ระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมริเวอร์ไรน์ เพลส จังหวัดนนทบุรี โดยได้รับเกียรติจากท่านอโณทัย ไทยวรรณศรี เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก นางสาวไพรวัลย์ พิทักษ์สาลี นายชวลิต โพธิ์นคร และนางสาวสิริมา หมอนไหม อดีตผู้เชี่ยวชาญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมชี้แจงเกณฑ์การประกวดแข่งขันกิจกรรมแนวปฏิบัติทีดีรายด้าน และ ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ชี้แจงเกณฑ์การประกวดแข่งขันกิจกรรมทักษะวิชาการ เพื่อให้ศึกษานิเทศก์และผู้รับผิดชอบโครงการ ได้ดำเนินการจัดการแข่งขันในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับภูมิภาคต่อไป

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์

ด้วย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ “Young AI Robotics” รุ่น 2 โดยเป็นการอบรมความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ให้แก่ครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 10 โรงเรียน มีเป้าหมายให้ครูผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียน และนักเรียนสามารถพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้โรงเรียนในสังกัดที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด สมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยกรอกข้อมูลการสมัครเข้ารับการอบรมผ่านทางเว็บไซต์ bit.ly/BU_airobotics2  ภายในวันที่ 10 มกราคม 2563 รายละเอียดดังสิ่งที่ส่งมาด้วย

ขยายเวลารับสมัคร ข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ แนวคิดใหม่

ความหมายของผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่

 

หมายถึง  ผลงานที่เกิดจากจินตนาการที่สร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยแนวคิดใหม่
ที่ผู้ประดิษฐ์คิดเองตามบริบทและช่วงวัย โดยมีการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ประเภทของสิ่งประดิษฐ์

        1. เทคโนโลยีที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology)

        2. อาหารและเกษตรกรรม (Food and Agriculture)

        3. ความปลอดภัยและสุขภาพ (Safety and Health)

        4. เทคโนโลยีสําหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ   (Technology for Special Need)

        5. การจัดการกับภัยพิบัติ (Disaster Management)

        6. การศึกษาและนันทนาการ (Education and Recreation)

        7. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Aerospace and Aviation)

        8. ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (Artificial Intelligence and Automatic System)

 

นิยามของแต่ละประเภท

       ข้อ 1  สิ่งประดิษฐ์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน ลดปัญหามลภาวะ ส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

        ข้อ 2  สิ่งประดิษฐ์ที่ยกระดับคุณภาพการทํางานด้านการเกษตร อาหารและโภชนาการ

        ข้อ 3  สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ทางด้านความปลอดภัย และสุขภาพ (เช่น อุปกรณ์, ระบบ)

        ข้อ 4  สิ่งประดิษฐ์ที่อํานวยความสะดวกให้กับผู้มีความต้องการพิเศษ เช่น ผู้บกพร่องทางร่างกาย  ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์

        ข้อ 5  สิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ในการตรวจจับป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเพื่อช่วยในการจัดการหลังการเกิดภัยพิบัติ

        ข้อ 6  สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ประโยชน์ในชั้นเรียน หรือเพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ เพื่อจุดมุ่งหมายในการนันทนาการ (เช่น กีฬา, ท่องเที่ยว, บันเทิง และอื่นๆ)

        ข้อ 7   สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ประโยชน์ในด้านการบิน และอำนวยความสะดวกภายในอากาศยาน

       ข้อ 8   สิ่งประดิษฐ์ที่มีแนวคิดในรูปที่เน้นเหตุผลเป็นหลักมีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดและเป็นผู้ช่วยในด้านต่างๆ เช่น ระบบนำทางรถยนต์ไร้คนขับ ช่วยผู้อัจฉริยะในสมาร์ทโฟน หรืออาจจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานได้เหมือนคน

 

ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด

นักเรียนสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อายุระหว่าง 6 – 19 ปี โดยสมัครเป็นทีมเดี่ยว 1  คน หรือ ทีม 2 คน  และครูที่ปรึกษา 1 คน/ทีม

 

เงื่อนไขการส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์

  • ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งเข้าประกวดต้องอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งใน 8 ประเภทที่ระบุข้างต้น (ผลงานที่ไม่สอดคล้องกับประเภทที่ระบุจะไม่ได้รับการพิจารณา)

  • ผลงานสิ่งประดิษฐ์ส่งตามขนาดจริง เมื่อบรรจุลงหีบห่อแล้วต้องมีขนาดไม่เกิน 1 x 0.5 x 0.5 เมตรและน้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม (หากส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์เป็นหุ่นจําลองย่อส่วน ต้องสาธิตแสดงให้เห็นการทํางานได้)

  • ให้ลงทะเบียนส่งเอกสารผลงานผ่านระบบออนไลน์ตามรูปแบบเอกสารที่กำหนดไว้ ที่เว็บไซต์  และนำเอกสารมาในวันประกวดผลงานจำนวน 3 เล่ม

  • การจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ต้องมีโปสเตอร์ประกอบ 1 แผ่น (ขนาด โปสเตอร์ 90 x 120 เซนติเมตร)

  •  โรงเรียนสามารถส่งชิ้นงานได้ประเภทละ 1 ชิ้นงาน (ดังนั้นหนึ่งโรงเรียนสามารถส่งได้ไม่เกิน 8 ผลงาน)

คลิกเพื่อส่งโครงการ

ประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการพิจารณาคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ

ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการพิจารณาคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติในการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร

เข้าร่วมอบรมการนำข้อมูลเข้าระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะที่ 2

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กยผ.) จัดการอบรมการนำข้อมูลเข้าระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะที่ ๒ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น.ณ ห้องประชุม ๔๐๑ ชั้น ๔ อาคาร สผ.

โดยมีนางวันทนี เพ็ชรอำไพ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์มาตรการ เป็นประธานเปิดการอบรม ต่อจากนั้นเป็นการอบรมการใช้งานระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะที่ ๒ โดย นายสุพจน์ ชณุทโชติอณันต์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นางสาวจารุณี จารุรัตนวารี และ นายอรรถเศรษ์ฐ จริยธรรมานุกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการจัดอบรมครั้งนี้เพื่อปรับปรุงการจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการนำเข้าข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูล ให้สามารถนำไปใช้งานตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ สพฐ. ได้ส่งผู้แทนจากสำนักพัฒนาพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเข้าร่วมการอบรมด้วย

เยี่ยมชม และพบปะผู้บริหาร ฝ่ายบริหารวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ดร.ธัญนันท์  แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ และคณะ เข้าพบผู้บริหาร ฝ่ายบริหารวิชาการ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง  School of International & Interdisciplinary Engineering Program – Robotics Laboratory ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาโครงการและกิจกรรมด้านการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ต่อยอดให้คุณครูและผู้เรียน สามารถเข้าถึงโอกาสในการระดับการศึกษาต่อ และด้านอาชีพต่อไป

การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและแนวทางดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ระดับเขตตรวจราชการ

ศุนย์ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและแนวทางดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ระดับเขตตรวจราชการ ระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2562 ณ โรแรมริเวอร์ไรน์ จังหวัดนนทบุรี โดยได้รับเกียรติจากท่านอัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก ดร.พิธาน พื้นทอง อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดทำแผนและแนวทางในการทำงานแก่ประธานเขตตรวจราชการเพื่อนำไปใช้ในปีงบประมาณ 2563 ต่อไป

การประชุมหารือการเผยแพร่บทความวิจัยทางการศึกษาของครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สพฐ. ในรูปแบบ e-journal

ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมหารือการเผยแพร่บทความวิจัยทางการศึกษาของครูและบุคลากร  ทางการศึกษา สังกัด สพฐ.ในรูปแบบ e-journal วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุม สพฐ.2 อาคาร สพฐ.5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ โดยกลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษาสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้เชิญผู้แทนจากสำนักต่างๆในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าประชุมเพื่อร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงประเด็นการเผยแพร่บทความวิจัยทางการศึกษาของครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สพฐ.ในรูปแบบ e-journal เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเป็นกรอบแนวทางในการวางแผนการดำเนินต่อไป