เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมสยามแกรนด์ อุดรธานี สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา “จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนำร่องนวัตกรรมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการต่อยอดทางการศึกษาจากประเทศไทยสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน (OBEC One Belt One Road)” โดยภายหลังพิธี คุณสวี่ หลัน (Ms. Xu Lan) อุปทูตที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เกียรติบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “แนวโน้มการศึกษาจีนสู่การศึกษาโลก” ต่อจากนั้น Dr. Mollah Maruf ผู้บริหาร BRCC และ MalishaEdu Guangzhou ขึ้นบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ความร่วมมือทางการศึกษา OBEC One Belt One Road”
“การอบรมเชิงปฏิบัติการนำร่องนวัตกรรมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการต่อยอดทางการศึกษาจากประเทศไทยสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน (OBEC One Belt One Road)” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดเยาวชนไทยในระดับสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บริษัท MalishaEdu Thailand และสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ของประเทศไทย และสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการจัดกิจกรรมการพัฒนาและเตรียมความพร้อมนักเรียนไทยเพื่อการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย และการขอทุนการศึกษา โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศไทย และประเทศลาว ที่มีความสนใจจะไปศึกษาต่อ
ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนักเรียนสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น กว่า 300 คน
กิจกรรมสำคัญภายในงานประกอบด้วย การเรียนรู้และฝึกปฏิบัติเขียน Study Plan เพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัย และขอทุนการศึกษาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน กิจกรรมแนะแนวการศึกษา ให้คำชี้แนะ และทดลองการสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย โดยผู้แทนมหาวิทยาลัยชั้นนำ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวนมากกว่า 20 แห่ง และกิจกรรมการให้คำปรึกษา และการเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย MalishaEdu Thailand
นอกจากนี้ กิจกรรมที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งภายในงาน ได้แก่ การเปิดตัวนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของนักเรียน และสร้างโอกาสในการต่อยอดสู่ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับสากล ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันคิดค้น และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี ดร.ฐาปณัฐ อุดมศรี รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ขึ้นบรรยายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมต่าง ๆ ดังนี้
1) TSEC : Thai Students Selection Exam for China University (นวัตกรรมด้านการวัดและประเมินผล) โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะดำเนินการยกสนามสอบคัดเลือกนักเรียน
มาจัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนไทยในการเข้าถึงการสอบ และทุนการศึกษาอย่างทั่วถึง
2) Pathway Camp (นวัตกรรมด้านหลักสูตรการเรียนรู้) เป็นการเปลี่ยนโฉมหลักสูตรการเรียนระยะสั้นในต่างประเทศของนักเรียน ที่เคยจัดโดยมหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนต่าง ๆ ให้กลายเป็นการเรียนระยะสั้นที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียน ด้วยการร่วมเรียนบางรายวิชาในชั้นเรียนจริง ของคณะ หรือสาขาที่นักเรียนสนใจ พร้อมโอกาสสำคัญในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงท้ายของการอบรมตามหลักสูตรโดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบ และพิจารณาเอกสาร Pre-Admission ให้กับนักเรียนที่ผ่านการสอบทันที
3) Preparation Program for Students and Teacher (นวัตกรรมด้านหลักสูตรการอบรม)
3.1) Integrated Training Program for Students นวัตกรรมหลักสูตรการอบรม
ที่บูรณาการกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม ได้แก่ (1) กิจกรรมการพัฒนานักเรียน (Preparation Program) ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมนักเรียน ตัวอย่างเช่น ความรู้และทักษะทางภาษา การเขียนเอกสารประกอบการขอทุน เป็นต้น โดยบูรณาการเข้ากับ (2) กิจกรรมแนะแนวการศึกษาต่อ (Education Fair) ที่จะช่วยให้นักเรียนมีข้อมูลเกี่ยวกับบริบทของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง หลักสูตร การเรียนการสอน รวมถึงสภาพแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่นักเรียนและผู้ปกครองจะนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการตั้งเป้าหมายการเรียนต่อไป
3.2) Teacher Training : Educational Pathways in China (นวัตกรรมด้านหลักสูตรการอบรม) ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้มีหน้าที่หลักในการแนะแนวนักเรียน หรือมีความประสงค์เป็นผู้ให้คำปรึกษานักเรียนที่สนใจที่จะไปศึกษาต่อในประเทศต่าง ๆ โดยหลักสูตรนี้จะมีเนื้อหาครอบคลุมในทุกมิติ ยกตัวอย่างเช่น บริบทการศึกษาของแต่ละประเทศ สถาบันการศึกษาและสาขา
ที่น่าสนใจ สภาพแวดล้อม การตั้งเป้าหมายในการเรียน การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ภายหลังการอบรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ผู้แทนบริษัท MalishaEdu Thailand และ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำจากสาธารณรัฐประชาชนจีนบางส่วน มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสรุปงาน และเตรียมความพร้อมในการนำนวัตกรรม TSEC Pathway Camp และ Preparation Program for Students and Teacher ไปเสนอแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งหารือแนวทางการร่วมขับเคลื่อน และขยายผลการใช้นวัตกรรมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในระยะต่อไป