การพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์

Innovation Creator For Better Education

ในการดำเนินงานได้พัฒนาทีมงานผู้ดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ครู และนักเรียน จนเกิดผลงานที่ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง มีพัฒนาการของผลงานสิ่งประดิษฐ์และมีการถอดบทเรียนจากผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่เวทีนานาชาติ และมีรูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ของนักเรียน ซึ่งจะได้นำเสนอรูปแบบดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการนำรูปแบบไปใช้ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ต่อไป

 

 

รูปแบบการบริหารจัดการการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ของนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ของนักเรียน ตามนโยบายหลักของรัฐบาล ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเจตจำนงในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน เพื่อสร้างนักคิด นักประดิษฐ์ ให้มีทักษะที่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพมนศตวรรษที่ 21 จึงได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบดังกล่าว

แนวคิดในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ เกิดจากการศึกษาสภาพความต้องการ ตามเป้าหมายและนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมและผลงานสิ่งประดิษฐ์  ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 รูปแบบนี้ตั้งอยู่บนฐานแนวคิดสำคัญ  3 แนวคิดได้แก่ นักเรียนในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพ (Student as practitioner/inventor) การใช้โอกาสในการพัฒนางาน และการบริหารจัดการโดยใช้ทีมงานมืออาชีพ

นักเรียนในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพ (Student as practitioner/inventor) เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ของนักเรียนระดับการศึกษา            ขั้นพื้นฐาน นักเรียนจะต้องลงมือปฏิบัติในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพ โดยส่งเสริมบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของนักเรียนในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพ ผ่านกระบวนการประกวดแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งการถอดบทเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มีชุมชนการเรียนรู้ของนักปฏิบัติมืออาชีพ การพัฒนานักเรียนในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพนี้ ทำให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์อย่างแท้จริง

“พลังความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก หากถูกเก็บไว้ ไม่มีโอกาสปล่อยออกมา ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจะไม่ได้รับการพัฒนา” ดังนั้น จึงเป็นบทบาทและหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องให้โอกาสเด็กได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยไม่สกัดกั้นจินตนาการของเด็ก สร้างโอกาสในการฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์อย่างสนุกสนาน และต่อเนื่อง ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน ในครอบครัว และในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็กในการพัฒนาทักษะในการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การสร้างประสบการณ์เพื่อการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ของนักเรียนให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยการวางแผนเตรียมการด้านต่างๆ ให้มีความพร้อมเอื้อต่อการดำเนินงาน ได้แก่ ความรู้ บุคลากร งบประมาณ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการเตรียมการขยายผล เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบแวดล้อมที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ของนักเรียน

การใช้โอกาสในการพัฒนางาน ประกอบกับปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนา ปัจจัยภายนอกที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสร้างจินตนาการ มีเวทีประกวดผลงานให้แก่นักเรียนในระดับจังหวัด, เขตพื้นที่, ระดับชาติ และเวทีนานาชาติ โดยองค์กร Japan Institute of Invention and Innovation (JIII) เป็นหน่วยงานแรกที่ได้ริเริ่มจัดงานแสดงนิทรรศการและการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ โดยสถาบันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้จัดแสดงผลงานของนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์จากนานาประเทศ ในปี 2004 (พ.ศ.2547) ในชื่อ IEYI (International Exhibition for Young Inventors)จากการศึกษาดูงานส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในเด็กและเยาวชนในประเทศญี่ปุ่น พบว่า การส่งเสริมให้นักเรียนในโรงเรียนสร้างสิ่งประดิษฐ์ ควรเน้นที่ “ความคิดใหม่”(new idea) เน้นการพัฒนาให้นักเรียนฝึกวิธีคิดใหม่ๆ และนำความคิดใหม่ที่เกิดขึ้น มาสร้างและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นโอกาสที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมศักยภาพให้กับนักเรียนในประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพที่ทัดเทียมกับเด็กนานาชาติ สร้างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 จากความเชื่อที่ว่า “เด็กไทยสามารถพัฒนาศักยภาพได้ทัดเทียมนานาชาติ หากได้รับการพัฒนาที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน” ซึ่งMr.Takao Ogiya ผู้อำนวยการบริหาร JIII ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของ IEYI 3 ประการ ดังนี้

1) ส่งเสริมจิตคิดนวัตกรรม (Innovative Mind)

2) ส่งเสริมมิตรภาพของผู้ที่มาร่วมแสดงสิ่งประดิษฐ์ในงาน

3) ส่งเสริมการคิดถึงโลกใบเดียวที่อยู่ร่วมกัน (Global Once World)

การดำเนินงาน IEYI จึงเป็นการจัดงานเพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจในการคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ของเด็กในระดับโรงเรียนด้วยการให้รางวัล และเป็นเวทีการสื่อสารของนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ ในปีต่อ ๆ ไปต่อจากนั้นประเทศต่าง ๆ ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ IEYI 2012 ในปี พ.ศ.2555

นอกจากเวที IEYI แล้ว ยังมีเวทีระดับนานาชาติอีกหนึ่งเวทีที่สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยได้ร่วมแสดงผลงานในระดับอาเซียน คือ เวที AYIE (Asian Young Inventors Exhibition) ซึ่งเป็นเวทีหนึ่งในงาน ITEX (International Invention, Innovation & Technology Exhibition) เป็นเวทีนานาชาติสำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักประดิษฐ์นานาชาติ นำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา และเวที AYIE เป็นเวทีจัดแสดงและประกวดผลงานสำหรับนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ของเอเชีย ในงานดังกล่าวจะมีนักธุรกิจภาคเอกชนเข้ามาชื่นชม และมาทาบทามติดต่อเพื่อขอซื้อสิ่งประดิษฐ์ไปใช้ในสถาบันการศึกษาบ้าง เพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดทำจำหน่ายบ้าง จึงเป็นโอกาสของเยาวชนไทยได้ร่วมนำเสนอผลงานในเวทีนี้อย่างต่อเนื่อง ผลงานสิ่งประดิษฐ์จะไม่เกิดสัมฤทธิ์ผลได้เลย หากเยาวชนไม่เป็นนักคิดสร้างสรรค์ ผลงานที่เกิดเป็นรูปธรรมได้จะต้องมีผู้ผลักดัน รวมทั้งมีองค์กรเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ผนวกกับผู้เชื่อมโยงสานต่อผลงานความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

จากแนวคิดสำคัญดังกล่าว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชน ได้ค้นพบศักยภาพในตนเอง ได้นำเสนอผลงานในเวทีระดับนานาชาติ แต่โอกาสนี้จะไม่เกิดขึ้นได้ หากขาดการส่งเสริมสนับสนุน จากเครือข่ายความร่วมมือ และรูปแบบการบริหารจัดการ ให้เกิดการสร้างทีมพัฒนานักเรียนอย่างมืออาชีพ

การบริหารจัดการโดยการสร้างทีมพัฒนานักเรียนอย่างมืออาชีพ จากเครือข่ายที่มีศักยภาพสูงและให้ความร่วมมือในการพัฒนาทักษะของนักเรียน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษา เครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนานักเรียน สู่กระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ ก็คือการวางรากฐานการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ให้กับนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้เกิดทักษะความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาตนเองสู่การประดิษฐ์ผลงานที่เป็นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาและพัฒนา ผลงานปรากฏฉายชัดทั้งในเวทีระดับชาติและเวทีนานาชาติ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน ถือเป็นการสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในวันนี้ให้ก้าวไปต่อสร้างพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศชาติในอนาคตต่อไป

การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ของนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  คณะทำงานได้ศึกษา ทฤษฎี แนวคิด และหลักการ ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการบริหารจัดการ ได้แก่ แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับรูปแบบ เช่น ความหมาย องค์ประกอบ ลักษณะของรูปแบบที่ดี การพัฒนารูปแบบ แนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการ เช่น วงจรการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) ทฤษฎีระบบ (System Theory) นอกจากนี้ยังได้ศึกษาทฤษฎี แนวคิด และหลักการ ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ โดยพิจารณาความหมาย ความสำคัญ วิธีการและกระบวนการในการสนับสนุน ส่งเสริม วิธีการวัดและประเมินคุณภาพและวิธีการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ จากการศึกษาพบว่ามีหลากหลาย และมีความแตกต่าง ทั้งรูปแบบและวิธีการ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ได้ เช่น การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน การจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานเป็นหลัก การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบทีมแข่งขัน การประเมินและถอดประสบการณ์ ผู้วิจัยยังได้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ศึกษา มาสังเคราะห์ คัดสรร และบูรณาการวิธีการ และกระบวนการ ผนวกเข้ากับการทำงาน ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพ ความคิด และทักษะอันนำไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ของเด็กและเยาวชน จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ของนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางรากฐานการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้รับการปลูกฝัง สร้างองค์ความรู้ และสามารถ พัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนของประเทศไทย ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นพลังของแผ่นดิน เป็นกำลังหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติต่อไป