ความเป็นมา

Innovation Creator For Better Education

         สถาบันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้จัดแสดงผลงานของนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์จากนานาประเทศ ในปี 2004 (พ.ศ.2547) ในชื่อ IEYI (International Exhibition for Young Inventors) ซึ่ง Mr.Takao Ogiya ผู้อำนวยการบริหาร JIII ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของ IEYI 3 ประการ ดังนี้  1) ส่งเสริมจิตคิดนวัตกรรม (Innovative Mind) 2) ส่งเสริมมิตรภาพของผู้ที่มาร่วมแสดงสิ่งประดิษฐ์ในงาน 3) ส่งเสริมการคิดถึงโลกใบเดียวที่อยู่ร่วมกัน (Global Once World) การดำเนินงาน IEYI จึงเป็นการจัดงานเพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจในการคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ของเด็กในระดับโรงเรียนด้วยการให้รางวัล และเป็นเวทีการสื่อสารของนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ ในปีต่อ ๆ ไปได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ IEYI 2012 ในปี พ.ศ.2555

กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมเพื่อบ่มเพาะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ และมีนวัตกรรมทางความคิดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ มีเวทีและโอกาส ในการจัดแสดงและนำเสนอผลงานสิ่งประประดิษฐ์ในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ต่อยอดจากโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักประดิษฐ์ของสํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อคัดเลือกผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวที International Exhibition for Young Inventors (IEYI)   ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นประเทศเจ้าภาพ ในปีต่อมา คือ มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ไตหวัน เวียดนาม ไนจีเรีย โดยประเทศไทยไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน IEYI เมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2555 ปี 2556 ประเทศมาเลเซีย ปี 2557 ประเทศอินโดนีเซียปี 2558 สาธารณรัฐไต้หวัน ปี 2559 สาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 2560 ประเทศญี่ปุ่น และในปี 2561 สาธารณรัฐอินเดียเป็นเจ้าภาพจัดงาน ผลการดําเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักประดิษฐ์ สํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา   ได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนไทยเข้าร่วมงาน IEYI 13 ครั้งจํานวน 134 ชิ้นงาน มีนักเรียนเจ้าของผลงาน  เข้าร่วมงาน จํานวน 266 คน ครูที่ปรึกษาจํานวน 134 คน โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนไทยที่เข้าร่วมประกวด ได้รับรางวัลทุกปี นอกจากเวที IEYI แล้วได้จัดหาเวทีให้นักประดิษฐ์เพิ่มอีก 1 เวที คือเวที Asian Young Inventors Exhibition (AYIE) ณ ประเทศมาเลเซีย ในปี 2556 เป็นต้นมา ได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนไทยเข้าร่วมงาน AYIE 4 ครั้งจํานวน 20 ผลงาน มีนักเรียนเจ้าของผลงาน 40 คน ครูที่ปรึกษา 20 คน โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ได้รับรางวัลอย่างน่าชื่นชมทุกปี จากการดําเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักประดิษฐ์และการเข้าร่วมงาน IEYI อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี พบว่า ประเทศต่าง ๆ มีความตื่นตัวในการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ระดับโรงเรียนในมิติของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศและมีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ในระดับโรงเรียนอย่างมีระบบ เพื่อให้เด็กมีนวัตกรรมทางความคิด มีโอกาสสร้างไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์และมีเวทีให้เด็กได้แสดงผลงานต่อสาธารณชนดังเช่น ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเลเซีย นอกจากการนำคณะนักเรียนไปประกวดทั้ง 2 เวทีที่กล่าวมาแล้ว ในปี 2559 ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประกวดเพิ่มอีก 1 เวที สำหรับเด็กและเยาวชนในระดับประถมศึกษา Hong Kong International Innovation Invention Contest 2016 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อเดือนธันวาคม 2559

          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้ตระหนักถึงความสําคัญและการมีบทบาทส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ของเด็กระดับโรงเรียน จึงได้พัฒนาโครงการการพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักประดิษฐ์มาเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุนให้เด็ก ระดับโรงเรียนได้สรางสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมทางความคิดและมีเวทีให้เด็กได้แสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

          การดําเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ดังกล่าว ยังประกอบด้วยการจัดกิจกรรมค่ายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมภาพวาดจินตนาการอนาคตการจัดเวทีแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ในระดับประเทศและการคัดเลือกผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมแสดงในเวทีนานาชาติในงาน IEYI AYIE และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ในเวทีนานาชาติซึ่งจัดขึ้นในประเทศต่าง ๆ