ความคิดสร้างสรรค์

Innovation Creator For Better Education

           ความคิดสร้างสรรค์ มีความสำคัญต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืน นักการศึกษาหลายท่าน ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ กล่าวโดยสรุปได้ว่า คนทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ในระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน และวิธีการในการจัดประสบการณ์ ความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระดับสูงสุดเสมอไป ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ตามสถานการณ์ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะได้จัดประสบการณ์ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้นักเรียนในสังกัดได้มีแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีการติดตามประเมินผล และกำหนดบทบาทให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ ให้กับนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สำหรับแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ เกิดจากการศึกษาสภาพความต้องการ เป้าหมายและนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมและผลงานสิ่งประดิษฐ์ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแนวคิดสำคัญ 3 แนวคิดได้แก่ นักเรียนในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพ (Student as practitioner/inventor) การใช้โอกาสในการพัฒนางาน และการบริหารจัดการโดยใช้ทีมงานมืออาชีพ

นักเรียนในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพ (Student as practitioner/inventor) โดยเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์ ของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนจะต้องลงมือปฏิบัติในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพโดยส่งเสริมบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของนักเรียนในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพ ผ่านกระบวนการประกวดแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งการถอดบทเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มีชุมชนการเรียนรู้ของนักปฏิบัติมืออาชีพ การพัฒนานักเรียนในฐานะผู้ปฏิบัติมืออาชีพนี้ ทำให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์อย่างแท้จริง

“พลังความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก หากถูกเก็บไว้ ไม่มีโอกาสปล่อยออกมา ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจะไม่ได้รับการพัฒนา” จึงเป็นบทบาท และหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องที่ให้โอกาสเด็กได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยไม่สกัดกั้นจินตนาการของเด็ก สร้างโอกาสในการฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์อย่างสนุกสนาน และต่อเนื่อง ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน ในครอบครัว และในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็กในการพัฒนาทักษะในการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

การใช้โอกาสในการพัฒนางาน ประกอบกับปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนา ปัจจัยภายนอกที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสร้างจินตนาการ มีเวทีประกวดผลงานให้แก่นักเรียนในระดับจังหวัด, เขตพื้นที่, ระดับชาติ และเวทีนานาชาติ โดยองค์กร Japan Institute of Invention and Innovation (JIII) เป็นหน่วยงานแรกที่ได้ริเริ่มจัดงานแสดงและประกวดจากการศึกษาดูงานส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในเด็กและเยาวชนในประเทศญี่ปุ่น พบว่า การส่งเสริมให้นักเรียนในโรงเรียนสร้างสิ่งประดิษฐ์ ควรเน้นที่ “ความคิดใหม่”(new idea) เน้นการพัฒนาให้นักเรียนฝึกวิธีคิดใหม่ ๆ และนำความคิดใหม่ที่เกิดขึ้น มาสร้างและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นโอกาสที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมศักยภาพให้กับนักเรียนในประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพที่ทัดเทียมกับเด็กนานาชาติ สร้างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 จากความเชื่อที่ว่า “เด็กไทยสามารถพัฒนาศักยภาพได้ทัดเทียมนานาชาติ หากได้รับการพัฒนาที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน” สถาบันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้จัดแสดงผลงานของนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์จากนานาประเทศ ในปี 2004 (พ.ศ.2547) ในชื่อ IEYI (International Exhibition for Young Inventors) ซึ่งMr.Takao Ogiya ผู้อำนวยการบริหาร JIII ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของ IEYI 3 ประการ ดังนี้  1) ส่งเสริมจิตคิดนวัตกรรม (Innovative Mind) 2) ส่งเสริมมิตรภาพของผู้ที่มาร่วมแสดงสิ่งประดิษฐ์ในงาน 3) ส่งเสริมการคิดถึงโลกใบเดียวที่อยู่ร่วมกัน (Global Once World) การดำเนินงาน IEYI จึงเป็นการจัดงานเพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจในการคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ของเด็กในระดับโรงเรียนด้วยการให้รางวัล และเป็นเวทีการสื่อสารของนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ ในปีต่อ ๆ ไปได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ IEYI 2012 ในปี พ.ศ.2555

นอกจากเวทีเสนอผลงาน IEYI แล้ว ยังมีเวทีระดับนานาชาติอีกหนึ่งเวทีที่สร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้ร่วมแสดงผลงานในระดับอาเซียน คือ เวที AYIE (Asian Young Inventors Exhibition) ซึ่งเป็นเวทีหนึ่งในงาน ITEX (International Invention, Innovation & Technology Exhibition) เป็นเวทีนานาชาติสำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักประดิษฐ์นานาชาติ นำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา และเวที AYIE เป็นเวทีจัดแสดงและประกวดผลงานสำหรับนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ของเอเชีย ในงานดังกล่าวจะมีนักธุรกิจภาคเอกชนเข้ามาชื่นชม และมาทาบทามติดต่อเพื่อขอซื้อสิ่งประดิษฐ์ไปใช้ในสถาบันการศึกษาบ้าง เพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดทำจำหน่ายบ้าง จึงเป็นโอกาสของเยาวชนไทยได้ร่วมนำเสนอผลงานในเวทีนี้อย่างต่อเนื่อง ผลงานสิ่งประดิษฐ์จะไม่เกิดสัมฤทธิ์ผลได้เลย หากเยาวชนไม่เป็นนักคิดสร้างสรรค์ ผลงานที่เกิดเป็นรูปธรรมได้จะต้องมีผู้ผลักดัน รวมทั้งมีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ผนวกกับผู้เชื่อมโยงสานต่อผลงานความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างโอกาสให้เด็กและ  เยาวชนไทยได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

การบริหารจัดการโดยการสร้างทีมพัฒนานักเรียนอย่างมืออาชีพ จากเครือข่ายที่มีศักยภาพสูงและให้ความร่วมมือในการพัฒนาทักษะของนักเรียน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษา เครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนานักเรียน สู่กระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สู่ความเป็นนักประดิษฐ์

เป้าหมายหลักคือการวางรากฐานการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ให้กับนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้เกิดทักษะการคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป