About OBEC-TIPMSE

ตามที่ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Model) เป็นนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย    ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาโดยต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทย คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งบูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานความหลากหลาย ของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม   โดย BCG model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ๓ มิติไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy (CE) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง ๒ เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) เป็นหลักการที่เกิดขึ้น เมื่อโลกกำลังเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของ ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสภาวะ โลกร้อน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ขยะล้นโลก โดยเฉพาะขยะพลาสติกในท้องทะเล เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข หลักการสำคัญของโมเดลนี้ คือ การทำให้ทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาเป็นทรัพยากรใหม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้น ทั่วโลกจึงมุ่งเป้านำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโยงไปถึงความยั่งยืนของแหล่งวัตถุดิบและความสามารถในการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ การลดค่าขนส่งจากการขนส่งวัตถุดิบมาจากพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล และลดต้นทุนด้านพลังงาน โดยในเรื่องของการจัดการบรรจุภัณฑ์ หากมีการบริหารจัดการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็จะได้ประโยชน์ในหลายๆ ด้านตามมา

ดังนั้น การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในฐานะผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นแกนนำในการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคตจึงมีความสำคัญมาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดและการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยเป็นผู้วางรากฐานทางการศึกษาให้ถูกต้อง และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

ที่มีเป้าหมายในการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ภายหลังการบริโภคอย่างเหมาะสมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) โดยนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ในการขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงวงจรรีไซเคิล ภายใต้แนวคิด “บรรจุภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ” ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างพื้นฐานความรู้การจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วภายหลังการบริโภคอย่างเหมาะสม รวมถึงการเชื่อมโยง เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ บรรจุภัณฑ์ และขยะ ทั้งในแง่วัตถุดิบจนถึงผลกระทบหรือปัญหาที่เกิดขึ้น การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) ในการลดปัญหาขยะ นอกจากนี้ การสร้างวิธีคิดให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตภายใต้ค่านิยมการบริโภคของสังคมในยุคปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม จึงมีความสำคัญต่อการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้ดำเนินการโครงการสร้างจิตสำนึกและความรู้ในการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และโครงการโรงเรียนสีเขียว (โรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) เพื่อพัฒนาบุคลากร ทั้งคุณครูและนักเรียนให้เกิดความตระหนัก มีองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรม ขยะล้นเมือง รวมถึงเกษตรกรที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเติมขีดความสามารถ พัฒนาความรู้ ทักษะให้กับนักเรียนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน โดยนำกระบวนการแข่งขันทางวิชาการมาเป็นกิจกรรมเสริม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพของตนเอง ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการพัฒนาทักษะทางวิชาการในด้านอื่น ๆ ด้วยกิจกรรมโต้สาระวาที เพื่อพัฒนาทักษะการคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนโลก” และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน